คอลัมนิสต์

รายงาน.... 7 วิธีจับผิด “จดหมายระเบิด” ทำเหยื่อหลงกล !

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อกลุ่มก่อการร้ายพยายามคิดค้น “เทคโนโลยีการวางระเบิด” จนพบว่าวิธีที่ได้ผลที่สุดคือการกลับไปใช้ "จดหมาย" ใครจะคิดว่าวิธีการสื่อสารแบบเดิม ๆจะเป็นอันตรายสุด ๆ

 

     กลุ่มก่อการร้ายพยายามคิดค้น “เทคโนโลยีการวางระเบิด” ให้จู่โจมได้ตรงกับเป้าหมายมากที่สุด ที่ผ่านมาการใช้วิธีวางระเบิด ระเบิดฆ่าตัวตาย คาร์บอมบ์ ฯลฯ สามารถเห็นผลได้ในระดับหนึ่ง แต่เป็นการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ หรือทำลายสถานที่สาธารณะเพื่อให้เกิดวิกฤติ สะเทือนขวัญ เกิดความวุ่นวาย แต่ยังไม่บรรลุสิ่งสำคัญที่สุดคือทำลาย “บุคคลเป้าหมาย”

      เนื่องจากการชี้เป้าไปยังบุคคลเป้าหมายนั้น ทำได้ยาก ยิ่งเป็นคนดัง คนสำคัญหรือผู้มีชื่อเสียง จะมีทีมบอดี้การ์ดปกป้องคุ้มครองยิ่งกว่าไข่ในหิน แต่ในที่สุด ผู้ก่อการร้ายก็พบวิธีแนบเนียน และได้ผลตรงเป้าหมาย โดยกลับไปใช้ “จดหมาย” วิธีการสื่อสารแบบเดิมๆ แต่แฝงอันตรายยิ่งนัก

     เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 สื่อมวลชนในประเทศกรีซรายงานข่าวเหตุการณ์วางระเบิดด้วยจดหมายในกรุงเอเธนส์ ทำให้นายลูคัส ปาปาเดมอส อดีตนายกรัฐมตรีและประธานธนาคารกลางกรีซ ได้รับบาดเจ็บสาหัสบริเวณท้องและขาจนต้องส่งเข้าผ่าตัดฉุกเฉินในโรงพยาบาล

รายงาน.... 7 วิธีจับผิด “จดหมายระเบิด” ทำเหยื่อหลงกล !

     การใช้ “จดหมายระเบิด” (letter bomb) ของผู้ร้ายรายนี้ ผ่านการวางแผนอย่างดี และเป็นระเบิดที่มีอานุภาพในระดับหนึ่ง เพราะตำรวจออกมายอมรับว่า โชคดีที่นายลูคัสเปิดจดหมายขณะนั่งอยู่ในรถเบนซ์กันกระสุน ทำให้มีผู้บาดเจ็บแค่ตัวเขากับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตัว 2 คน มิเช่นนั้นความแรงของระเบิดอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับสถานที่และผู้คนรอบข้างมากกว่านี้

     วิเคราะห์กันว่า “จดหมายระเบิด” อาจกลับมาได้รับความนิยมในหมู่ผู้ร้าย เพราะเมื่อ 2 เดือนก่อน สำนักงานไอเอ็มเอฟ หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กรุงปารีส ฝรั่งเศสได้รับจดหมายระเบิดเช่นกัน ในรายงานข่าวไม่ได้ระบุว่า หน้าซองจดหมายระบุผู้รับเป็นใคร รู้แต่ว่าผู้โชคร้ายในวันนั้นคือเจ้าหน้าที่รายหนึ่ง ผู้เป็นคนเปิดซอง แรงระเบิดทำให้ได้รับบาดเจ็บที่มือและศีรษะ ช่วงเวลานั้นมีการสั่งอพยพเจ้าหน้าที่ทั้งหมดทันที เพราะเดือนมีนาคมก่อนหน้าระเบิดที่สำนักงานไอเอ็มเอฟไม่กี่วัน มีพัสดุระเบิดส่งไปที่กระทรวงการคลังของเยอรมนี เพียง แต่ไม่ระเบิดเพราะเจ้าหน้าที่เกิดความสงสัย ไม่รีบร้อนแกะกล่องพัสดุ แต่เลือกที่จะแจ้งให้ตำรวจมาจัดการแทน และพอเปิดออกมาก็พบเป็นวัตถุระเบิดแรงดันต่ำอยู่ด้านใน

รายงาน.... 7 วิธีจับผิด “จดหมายระเบิด” ทำเหยื่อหลงกล !

     ผู้เชี่ยวชาญด้านกู้ระเบิดของไทยจาก “หน่วยเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด” หรือ “อีโอดี” อธิบายให้ฟังในอีกมุมหนึ่งว่า การใช้จดหมายหรือพัสดุระเบิดนั้น เรียกรวมกันว่า “ไปรษณีย์ระเบิด” ที่ผ่านมาส่วนใหญ่นิยมส่งให้แบบไม่หวังผลหรือไม่ได้เล็งเป้าหมายโดยตรง แต่เป็นทำลายโดยทั่วไป เพื่อการข่มขู่หรือตักเตือนมากกว่า เพราะมีโอกาสน้อยมากที่จะทำลายบุคคลที่เป็นเป้าหมายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

    เนื่องจากจดหมายระเบิดนั้นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างในการจุดชนวน โดยเฉพาะการรู้ลึกถึงอุปนิสัยของผู้เปิดซองจดหมายหรือเปิดกล่องพัสดุด้วย

     “เพราะการจุดชนวนระเบิดทำได้หลายอย่าง อยู่ที่เป้าหมายว่าชอบฉีกซองด้านข้าง ด้านบนหรือบางคนชอบใช้กรรไกรตัด ถ้าผู้ร้ายไม่รู้จริงก็เดาใจไม่ถูก จดหมายพวกนี้เลยไม่ได้หวังผลทำลายเป้าหมาย 100 เปอร์เซ็นต์ ขอแค่ให้มีการระเบิดขึ้นมาก็พอ ส่วนมากจดหมายจะถูกตรวจพบ หรือมีคนสงสัยง่ายกว่าพัสดุ ถ้าคนที่จับจดหมายหรือซองสีน้ำตาลขึ้นมา รู้สึกทันทีเลยว่าน้ำหนักแปลกๆ แต่ถ้าเป็นพัสดุไม่ค่อยมีคนสังเกตมากนัก”

     พร้อมอธิบายส่วนประกอบของระเบิดเบื้องต้นว่า มีแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ ตัวจุดระเบิดหรือเชื้อปะทุ ดินระเบิด วงจรควบคุมอื่นๆ เมื่อซองจดหมายหรือกล่องวัสดุมีส่วนประกอบวงจรระเบิดอยู่ด้านใน หากผู้รับสังเกตเพียงเล็กน้อยก็จะรับรู้ได้ว่าไม่ใช่จดหมายหรือกล่องไปรษณีย์ปกติทั่วไป

     ผู้เชี่ยวชาญข้างต้น สรุป 7 วิธีสังเกตจดหมายระเบิดที่ทำให้เหยื่อหลงกลรีบเปิดทันที ดังนี้ 1. ผู้ร้ายมักติดสแตมป์ต่างประเทศ เพราะไม่ค่อยมีคนสงสัยว่าทำไมกล่องใหญ่หรือซองหนากว่าปกติ ถ้าเป็นสแตมป์ไทยก็ติดเกินอัตราที่กำหนดไว้ เนื่องจากกลัวว่าส่งไม่ถึงมือผู้รับ 2. ใช้กระดาษพิมพ์ชื่อที่อยู่แทนการเขียนด้วยลายมือจริงเพื่อปกปิดลายมือ หรือถ้าใช้มือเขียนก็ไม่ค่อยเป็นระเบียบเรียบร้อย ระบุชื่อ ยศ ตำแหน่ง ไม่ถูกต้องตามจริง

รายงาน.... 7 วิธีจับผิด “จดหมายระเบิด” ทำเหยื่อหลงกล !

     3. ซองจดหมายหรือกล่องพัสดุด้านนอกห่อหุ้มด้วยกระดาษแข็งหนา 4.มีน้ำหนักมากกว่าปกติ หรือน้ำหนักถ่ายเทไปด้านใดด้านหนึ่ง ไม่สมดุล เพราะวงจรระเบิดและตัวแบตเตอรี่ด้านใน ห่อพัสดุบางครั้งมีลักษณะโป่งบวมพอง 5.ตัวซองจดหมายมีลักษณะแข็งพับงอไม่ได้ และห่อแน่นหนาผิดปกติ เช่น มีเทปกาวพันหลายรอบ 6.มีรอยคราบน้ำมันหรือคราบสกปรก เนื่องจากระหว่างการติดตั้งวงจรระเบิดหรือใส่เชื้อปะทุเข้าไปทำให้เปื้อนกระดาษห่อด้านนอกได้ง่าย

     และข้อสุดท้าย 7.ไม่มีการเขียนชื่อ ที่อยู่ ของ “ผู้ส่ง” ที่แท้จริง เป็นเพียงชื่อ ที่อยู่ปลอม บางครั้งมีการทำเครื่องหมายหรือข้อความพิเศษต่างๆ เช่น ห้ามเปิดก่อนถึงมือผู้รับ จดหมายลับเฉพาะ ฯลฯ

     ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นกล่าวเตือนทิ้งท้ายว่า ปัจจุบัน วัตถุระเบิดและวงจรระเบิดมีการดัดแปลงทำให้เล็กและมีประสิทธิมากขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้รับจดหมายหรือพัสดุต้องหัดสังเกตและระวังตัวเอง ไม่รีบร้อนเปิดจดหมายก่อนดูให้แน่ชัดว่าส่งมาจากใคร โดยเฉพาะการตรวจสอบตามคำแนะนำทั้ง 7 ข้อเบื้องต้น

     ทั้งนี้ ผู้บริหาร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด(ปณท.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับการส่งจดหมายหรือพัสดุระเบิดผ่านทางไปรษณีย์ว่า สำนักงานไปรษณีย์มีมาตรการดูแลความปลอดภัยเบื้องต้นแล้ว เช่น การบันทึกข้อมูล “ผู้ส่ง” ด้วยการสแกนบัตรประชาชนมาเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อสามารถสืบหาผู้ส่งหรือเจ้าของได้ภายหลัง รวมถึงการใช้เครื่องสแกนวัตถุระเบิด เพื่อตรวจสอบกล่องพัสดุอีกขั้นตอนหนึ่ง รวมถึงการสุ่มตรวจโดยเจ้าหน้าที่ ระยะนี้มีการกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนสังเกตผู้นำส่งพัสดุหรือจดหมายที่มีท่าทีพิรุธ พร้อมตรวจสอบพัสดุต้องสงสัยให้ละเอียดเพิ่มขึ้น

                                                                                                                            ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ