คอลัมนิสต์

  ภาคเกษตรได้อะไรจากอีอีซี ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  ภาคเกษตรได้อะไรจากอีอีซี

                     ภาคเกษตรได้อะไรจากอีอีซี  ?

                 พลันที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเปรี้ยงกลางที่ประชุมระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ว่า การทำระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต แต่ควรวางแผนอื่นควบคู่ไปด้วย อย่ามองแต่ด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว โดยเฉพาะภาคการเกษตรจะต้องเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่คนในพื้นที่ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย พร้อมให้มีการกำหนดกรอบนโยบายให้คณะกรรมการ ซึ่งเป็นตัวแทนของทุกกระทรวงจัดทำแผนการพัฒนาด้านเกษตรกรรม และเกษตรกรในพื้นที่อีอีซีควบคู่กันไป โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ปรับการทำเกษตรในพื้นที่อีอีซีให้เป็นพื้นที่นำร่องนำไปสู่การปรับพื้นที่อื่นๆ ให้มีความเหมาะสมต่อไป  

   ภาคเกษตรได้อะไรจากอีอีซี  ?

                 "เรื่องนี้เป็นโครงการนำร่องในภาคตะวันออกที่ต้องให้เกิดขึ้นก่อน เพราะมีความพร้อมหลายประการ มีศักยภาพในการพัฒนาได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้ภาคอื่นๆ ที่จะยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจให้ดีขึ้น จึงขอให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ปรับการทำเกษตรในพื้นที่อีอีซี จึงอยากให้ 2 กระทรวงไปจัดทำแผนและเสนอมาให้ผม” นายกรัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุมวันนั้น

             ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว โดยมีการดำเนินการใน 3 ด้านหลักประกอบด้วย การพัฒนาบุคลากร การจัดการเชิงพื้นที่ และการพัฒนาตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเกษตรใน 3 จังหวัดที่อยู่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วย จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จะต้องเร่งเตรียมความพร้อมทั้ง  3 ด้านเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ภายใต้โครงการอีอีซีในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

   ภาคเกษตรได้อะไรจากอีอีซี  ?

                ชาตรี บุนนาค ผู้อำนวยการสำนักและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 6 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) เผยต่อ “คม ชัด ลึก” ถึงการขับเคลื่อนภาคเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกว่าขณะนี้ในพื้นที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ไม่ว่าการจัดโซนนิ่งพืช เกษตรแปลงใหญ่ การพัฒนาบุคลากรทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่และเกษตรกรเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตลอดจนการพัฒนาตัวสินค้าและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจและตรงความต้องการของตลาดอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันการโครงการอีอีซีก็จะสร้างผลดีให้แก่ภาคเกษตรในพื้นที่ทั้งในเรื่องการตลาดและด้านโลจิสติกส์ ระบบการขนส่งที่สะดวกและรวดเร็วจะช่วยกระจายสินค้าและนำพาผู้คน นักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้นก็จะเป็นผลดีในแง่การตลาด 

                 “ถ้ามองภาพรวมโครงการอีอีซี  จะเป็นผลดีต่อภาคเกษตรในพื้นที่อย่างแน่นอน เพราะมีระบบโลจิสติกส์ที่ช่วยกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ทั้งภาคพื้นดินและอากาศยาน มีผู้คนมาท่องเที่ยวมากขึ้นแล้วในโครงการอีอีซีก็ยังมีอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปด้วย แต่สิ่งที่กังวลก็คือ ในเรื่องของมลภาวะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่เป็นผลพวงมาจากภาคอุตสาหกรรม เพราะมันจะเป็นผลกระทบในระยะยาว”

   ภาคเกษตรได้อะไรจากอีอีซี  ?

              ส่วนผลกระทบในเชิงพื้นที่การเกษตรจากการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมนั้น ชาตรีระบุว่า ไม่น่าจะมีผลมากนัก เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ภาคเกษตรนับวันก็มีแต่จะลดลงเรื่อยๆ  ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานและคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยหันมาสนใจภาคเกษตร ขณะเดียวกันสำนักและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง ยังมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดใน 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซีเร่งดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจเร่งด่วนใน 3 ด้านได้แก่ 1.ด้านบุคลากร โดยมีการพัฒนาบุคลากรทั้งตัวเจ้าหน้าที่และเกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์และสมาร์ทออฟฟิศเซอร์เพื่อให้สอดรับกับนโยบายเกษตร 4.0 ของกระทรวงเกษตรฯ 2.ด้านพื้นที่ มีการจัดนำโซนนิ่งพืชอย่างชัดเจน การจัดทำเกษตรแปลงใหญ่ และ 3.ด้านการพัฒนาตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยมุ่งเน้นไปที่สินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพเพื่อรองรับเทรนด์ของโลก

              “3 เรื่องที่เรามุ่งเน้นในวันนี้ก็คือเรื่องคน ทั้งตัวเจ้าหน้าที่และเกษตรกร ต้องพัฒนาทั้งองค์ความรู้และความก้าวทันเทคโนโลยี เรื่องพื้นที่คือต้องปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ มีการจัดโซนนิ่งพืชอย่างชัดเจน ถ้าไม่เหมาะก็ให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนหรือถ้าเกษตรกรยืนยันต้องการปลูกชนิดเดิมเราก็ให้มาดูเรื่องดินปรับคุณภาพดินให้เหมาะกับพืชชนิดนั้นๆ  และสุดท้ายเรื่องตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์จะทำอย่างไรที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่อีอีซีจะมีการขับเคลื่อนเข้มข้นมากกว่าเป็นพิเศษ” ผอ.สำนักและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง กล่าวย้ำ

              แม้ว่าหน่วยงานภาคการเกษตรในพื้นที่จะมีการเตรียมพร้อมรับมือและได้เริ่มดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรับรู้ความเคลื่อนไหวของโครงการมากนัก ทั้งยังไม่ทราบชะตากรรมถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต หากอุตสาหกรรมไฮเทคขนาดใหญ่เข้ามาลงเต็มพื้นที่ในโครงการ 

             วิชา  โกมลกิจเกษตร อดีตนายกสมาคมไม้ดอกไม้ประดับภาคตะวันออกและเกษตรกร เจ้าของสวนวิชาพันธุ์ไม้ ริมถนนสายชลบุรี-แกลง บริเวณหลัก กม.55 ต.หนองใหญ่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ยอมรับว่าถึงวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่รับทราบข้อมูลของโครงการมากนัก เนื่องจากยังไม่มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือหน่วยงานใดมาชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ เพียงแต่ได้รับทราบข้อมูลจากข่าวสารเท่านั้นว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่จะเอาอุตสาหกรรมไฮเทคมาลงในพื้นที่ 3 จังหวัด ฉะเชิงทรา ชลบุรีและระยอง แต่ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ถึงตอนนี้ยังไม่มี ทั้งที่คนในพื้นที่น่าจะรับทราบได้แล้ว โดยเฉพาะคนในภาคเกษตรเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือได้ทัน

               “ถามว่าเห็นด้วยมั้ยกับโครงการอีอีซี เอาโรงงานอุตสาหกรรมาลงเต็มพื้นที่ บอกเลยว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง บ้านเราประเทศเกษตรกรรมแล้วไปเอาอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวกับเกษตรมาลง ผมว่าเดี๋ยวมันจะพังกันทั้งประเทศ เราเคยย้อนไปดูอดีตบ้างมั้ยตอนนั้นรัฐบาลอยากจะเป็นเสือตัวที่ 4 ที่ 5 กันสุดท้ายก็ล้มไม่เป็นท่า ดีที่มีภาคเกษตรช่วยพยุงไว้ มีแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในหลวงรัชกาลที่ 9 ช่วยไว้ ประเทศถึงรอดมาได้ถึงทุกวันนี้”

               เจ้าของสวนวิชาพันธุ์ไม้ยอมรับว่า การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชาติ สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนคนในชาติ แต่ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเร่งเติบโตแต่ต้องแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบร้อน ต้องเติบโตไปพร้อมๆ กับการพร้อมของคนในชาติ

               “มันมีประโยชน์อะไรกับคนภาคเกษตร เรามีโรงงานอุตสาหกรรมสุดยอดไฮเทคเต็มพื้นที่ แต่สินค้าเกษตรของเรายังส่งออกเป็นวัตถุดิบเหมือนเดิม ราคายังตกต่ำเหมือนเดิม ประท้วงเรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหากันเหมือนเดิม แต่เห็นด้วยอย่างยิ่งถ้ารัฐบาลดึงโรงงานสุดยอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องภาคการเกษตรจากทั่วโลกมาลงทุนที่นี่ ให้ชาวโลกมองว่าประเทศไทยคือที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นสุดยอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรและเป็นฐานการผลิตให้แก่ประเทศในภูมิภาคด้วย” วิชาให้มุมมอง 

              สอดคล้องกับมุมมอง วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ “อาจารย์ยักษ์” ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาลว่าเป็นการละเลงงบประมาณนับหมื่นนับแสนล้านโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ใช่เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เน้นความพอเพียงและต้องเน้นการพัฒนาที่บนพื้นฐานของภาคการเกษตรเป็นตัวตั้ง โดยเฉพาะการพัฒนาคน ตัวเกษตรกรให้มีความพร้อม รู้เท่าทันเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะเดียวกันการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจจะต้องเน้นการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมมากกว่าการขยายการเติบโตของเศรษฐกจิแบบก้าวประโดด

                 “คุณเอางบประมาณเป็นหมื่นเป็นแสนล้านมาละเลงเล่นแล้วมาอ้างว่าเพื่อการพัฒนาประเทศ เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจชาติ นี่เป็นตัวการก่อปัญหาการสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงของคนในสังคม ระวังมันจะเกิดสงครามกลางเมืองหากคิดแค่เอาเงินเป็นตัวตั้ง ไม่มองถึงตัวคน   หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คุณสมคิด(จาตุศรีพิทักษ์) คุณมุ่งแต่ตัวเลข รายได้ที่เป็นเม็ดเงินอย่างเดียว ไม่ได้มองถึงศักยภาพของคน ความพร้อมของคน  ไปโรดโชว์ต่างประเทศดึงนักลงทุนเข้ามาบ่อยมาก คุยโม้โอ้อวดว่ามีนักลงทุน บริษัทยักษ์ใหญ่ตัดสินใจมาลงทุนเท่านั้นเท่านี้ แต่เคยนำทีมลงไปถามคนในพื้นที่บ้างไหมว่าเขาคิดอย่างไรกับโครงการนี้” อาจารย์วิวัฒน์ให้มุมมองทิ้งท้าย 

               ไม่ใช่แค่ภาคเกษตรกรเท่านั้นที่อาจรับไม่ทันกับนโยบายก้าวกระโดดด้านเศรษฐกิจภายใต้อีอีซี แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็อาจมีปัญหาด้วยเช่นกัน เนื่องจากการวางแผนในเชิงพื้นที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ดังที่ “โสภณ พรโชคชัย” ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ออกมาท้วงติงผ่านเฟซบุ๊ก ดร.โสภณ พรโชคชัย ก่อนหน้านี้ว่า

              ถ้าจะทำโครงการอีอีซีให้ประสบความสำเร็จจะต้องจำกัดเขตการพัฒนาบริเวณที่วางแผนไว้ ไม่ใช่ดำเนินการไปทุกที่ในเป้าหมายการวางผังหรือโซนนิ่งต้องชัดเจนและรัฐบาลควรเวนคืนที่ดินขนาดใหญ่เพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายแทนที่จะให้เอกชนไปดำเนินการจัดหาเอง ที่สำคัญการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่ง ทำให้มีความจำเป็นต้องย้ายชุมชนออกไปสู่รอบนอกด้วย ซึ่งปกติชาวบ้านก็ไม่ประสงค์จะอยู่ใกล้นิคมอุตฯแห่งนี้อยู่แล้ว เมื่อ 35 ปีก่อนภาคตะวันออก “โชติช่วงชัชวาล” ได้ก็เพราะท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรม แต่เราจะพัฒนาให้เหนือกว่านี้ได้หรือไม่ก็ต้องอาศัยแผนการที่เป็นจริง ไม่ใช่เพียงการ “โฆษณาชวนเชื่อ” 

               “หากคิดจะไปลงทุนทำอสังหาริมทรัพย์รองรับคนมาทำงานในภูมิภาคนี้ คงต้องรอก่อน รอให้อุตสาหกรรมต่างๆ มาจริงก่อน อย่าแห่ตามๆ กันไปเก็งกำไร สร้างหรือซื้อรอเพราะอาจทำให้มีอุปทานส่วนเกิน รอให้มีอุตสาหกรรมหนัก เบา ภาคบริการเข้ามาจริง มีคนทำงานแน่นอน จึงค่อยทำก็ยังไม่สายเกินไป” ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลอสังหาฯ กล่าวเตือน

                ขณะเดียวกันในงานสัมมนา “โอกาสใหม่ของการพัฒนาที่อยู่อาศัย...ภายใต้การขับเคลื่อน EEC” จัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา อนวัช สุวรรณเดช ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองรวม กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้แจงข้อมูลพื้นที่รวม 3 จังหวัดในอีอีซี ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ว่า ทั้งหมดมีประมาณ 1.3 หมื่นตารางกิโลเมตร หรือ 8 ล้านไร่ เมื่อพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดินปี 2556 พบว่าจ.ฉะเชิงเทรา มีพื้นที่เกษตร 69% พื้นที่ป่าไม้ 16% พื้นที่ชุมชน 6% และอุตสาหกรรม 1% ขณะที่ จ.ชลบุรี มีพื้นที่เกษตร 62% ป่าไม้ 11% พื้นที่ชุมชน 15% อุตสาหกรรม 4% ส่วน จ.ระยอง มีพื้นที่เกษตร 72% ป่าไม้ 8% พื้นที่ชุมชน 8% อุตสาหกรรม 3%

               ทว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1 เท่า หรือ 102% จากพื้นที่เดิม โดยพื้นที่ชุมชนเพิ่ม 31% ส่วนพื้นที่เกษตรกรรม และป่าไม้มีสัดส่วนที่ลดลง 8% และ 11% แต่เมื่อมองเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินจะพบว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร มีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งหมายความว่าเป็นพื้นที่แตะต้องไม่ได้ เท่ากับเหลือพื้นที่พัฒนาอยู่ 7 ล้านไร่ ซึ่งส่วนที่เป็นเมืองและชุมชนไปแล้วประมาณ 8 แสนไร่ พื้นที่อุตสาหกรรมประมาณ 2 แสนไร่ รวมเป็นอีก 1 ล้านไร่ ที่ได้พัฒนาไปแล้ว

                “เห็นได้ชัดว่าส่วนที่จะโตในอนาคตหรือพื้นที่เมืองที่จะเกิดขึ้นต้องปรากฏในพื้นที่เกษตรกรรมแน่นอน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาร่วมกัน ไม่ว่าเชิงผังเมืองหรือการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ว่าเราจะยอมให้มีการลดพื้นที่เกษตรกรรมลงไปบ้างไหม เพื่อจะรองรับในเรื่องของการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคตหรือกิจกรรมที่จะเข้ามา” 

                นี่เป็นส่วนหนึ่งเสียงสะท้องจากคนภาคเกษตรที่สอดคล้องกับมุมมองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะให้ความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างเดียว หรือเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อจะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตรที่ยั่งยืนต่อไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ