คอลัมนิสต์

เปิด  4 มาตรา พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ เลื่อนบังคับใช้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่ประชุม คสช. เห็นชอบ ออก ม.44 ชะลอการบังคับใช้ 4 มาตรา พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าวฯ ออกไป 180วัน มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2561

            กรณีที่จะมีการใช้อำนาจตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. สั่งให้ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้  4 มาตราของ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ออกไปก่อน เป็นเวลา 180 วัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2561 ทั้ง  4 มาตราดังกล่าว  มีเนื้อหา ดังนี้

            มาตรา 101 วรรคหนึ่ง คนต่างด้าวซึ่งมิใช่ผู้เสียหายจากการกระทําความผิดฐานค้ามนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

            (ทั้งนี้ มาตรา 8  วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามคนต่างด้าวทํางานที่กําหนดไว้ในประกาศของ รมว.แรงงาน ซึ่งประกาศกําหนดให้งานใด เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทําในท้องที่ใด เมื่อใด โดยห้ามเด็ดขาดหรือห้ามโดยมีเงื่อนไข หรือทํางานโดยไม่มีใบอนุญาตทํางาน)

            วรรคสอง ในกรณีที่คนต่างด้าวซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง ยินยอมเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรภายในเวลาที่พนักงานสอบสวนกําหนดแต่ต้องไม่ช้ากว่าสามสิบวัน พนักงานสอบสวน จะเปรียบเทียบปรับก็ได้ และเมื่อได้ดําเนินการให้คนต่างด้าวนั้นเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกัน 

           มาตรา 102 ผู้ใดรับคนต่างด้าวเข้าทํางานโดยฝ่าฝืนมาตรา 9 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน

            (ทั้งนี้ มาตรา 9 ห้ามผู้ใดรับคนต่างด้าวทํางานที่กําหนดห้ามไว้ในประกาศของ รมว.แรงงาน หรือรับคนต่างด้าวทํางานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทํางาน)

            มาตรา 119    คนต่างด้าวผู้ใดทํางานโดยไม่ได้มีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนทราบตามมาตรา  59 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

            (ทั้งนี้มาตรา  59  วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า งานใดที่มิได้ห้ามไว้ในประกาศของ รมว.แรงงาน คนต่างด้าวจะทําได้ต้องได้รับอนุญาตให้ทํางานจากนายทะเบียน เว้นแต่คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เพื่อทํางานอันจําเป็นและเร่งด่วนตามที่อธิบดีประกาศกําหนดซึ่งมีระยะเวลาทํางานให้เสร็จสิ้นภายในสิบห้าวัน แต่คนต่างด้าวจะทํางานนั้นได้เมื่อได้มีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนทราบ)

           มาตรา 122 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 72 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400,000 บาทถึง 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน

           (ทั้งนี้มาตรา 72 บัญญัติว่า ห้ามผู้ใดรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทํางานกับตนเข้าทํางาน )

             อ่าน เปิดเนื้อหา 'พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่'

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ