คอลัมนิสต์

ระดมทีมนักศึกษาจับจ้องส่องจริยธรรม “สื่อ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้รับสื่อส่วนใหญ่คุ้นชินกับการนำเสนอข่าวในรูปแบบนี้มายาวนาน จนไม่สังเกตว่ามีรายละเอียดส่วนใดที่ “ละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"

     ช่วงนี้สังคมไทยเรียกร้องให้มี “การปฏิรูปสื่อ” หลายด้าน โดยเฉพาะการควบคุมไม่ให้สำนักข่าวใหญ่ละเมิดมาตรฐานจริยธรรมสื่อสารมวลชน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับคนทั่วไปที่กำลังนิยมเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่าน “สื่อสังคมออนไลน์”

     ล่าสุดคณะอนุกรรมการฝ่ายส่งเสริมจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดทำ "โครงการอบรมแนวทางจับจ้องส่องจริยธรรมสื่อ" โดยใช้วิธีการติดตาม ตรวจสอบการทำงานหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับพิมพ์ และฉบับออนไลน์ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหนังสือพิมพ์

     วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 มีการจัดเวทีแสดงผลงานของโครงการ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาร่วมกับคณาจารย์สถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีการเรียนการสอนทางด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน มาช่วยกันออกแบบโครงการ เพื่อสอดส่องจับจ้องการทำงานของหนังสือพิมพ์อย่างเป็นระบบ เป็นเสมือนกระจกสะท้อนการทำงานให้แก่สื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ ในแง่การปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมหรือจรรยาบรรณ ที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้กำหนดไว้ในธรรมนูญและข้อบังคับ

     เช่น การนำเสนอข่าวโดยไม่แต่งเติมเนื้อหาสาระจนคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง, การนำเสนอข่าวโดยปราศจากอคติ, การไม่นำเสนอข่าวในทำนองชวนเชื่อหรือเร้าอารมณ์ให้คนสนใจในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรืองมงาย, การนำเสนอข่าวโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, การไม่นำเสนอภาพข่าวที่อุจาด ลามกอนาจาร หรือน่าหวาดเสียว, การหลีกเลี่ยงคำไม่สุภาพและประทุษวาจา และการแสดงให้เห็นชัดว่าส่วนใดคือพื้นที่โฆษณา ฯลฯ

     โดยมีนิสิตนักศึกษา คณาจารย์ จากสถาบันการศึกษา 3 ทีมเข้าร่วมได้แก่ ทีมที่ 1 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ตรวจสอบสื่อประเภทหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง) ทีมที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตรวจสอบจริยธรรมสื่อประเภทออนไลน์) ทีมที่ 3 มหาวิทยาลัยรังสิต (ตรวจสอบสื่อประเภทหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น)

     โดยผลการจับจ้องส่องจริยธรรมสื่อ “หนังสือพิมพ์ฉบับพิมพ์” ทีมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตรวจสอบหนังสือพิมพ์รายวัน 9 ฉบับ ได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ คมชัดลึก กรุงเทพธุรกิจ โพสต์ทูเดย์ ผู้จัดการรายวัน โลกวันนี้ ไทยโพสต์ และสยามรัฐ ในระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่ 1-31 มีนาคม 2560 โดยใช้ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2559 เป็นกรอบในการดำเนินการตรวจสอบ

     ผลการตรวจสอบหนังสือพิมพ์ทั้ง 9 ฉบับ พบว่า มีข่าวหน้าหนึ่งจำนวนทั้งสิ้น 1,426 ข่าว เป็นข่าวที่มีความเสี่ยงละเมิดจริยธรรมทั้งสิ้น 91 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 6.31 ส่วนภาพข่าวหน้าหนึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 586 ภาพ เป็นภาพข่าวที่มีความเสี่ยงว่าจะละเมิดจริยธรรมทั้งสิ้น 42 ภาพ คิดเป็นร้อยละ 7.17 สำหรับประกาศหรือโฆษณาจำนวนทั้งสิ้น 3,028 ชิ้น พบความเสี่ยงละเมิดจริยธรรมทั้งสิ้น 45 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 1.49

     ส่วนผลการจับจ้องส่องจริยธรรมสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของทีมมหาวิทยาลัยรังสิตนั้น ตรวจสอบจำนวน 6 ฉบับที่เป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้แก่ ไทยนิวส์เชียงใหม่ เชียงใหม่นิวส์ โคราชคนอีสาน เสียงใต้รายวัน ภาคใต้โฟกัส และตรังไทม์ ทั้งนี้ การวิเคราะห์ตรวจสอบหนังสือพิมพ์ของแต่ละฉบับ ยึดถือข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เป็นหลักในการตรวจสอบ โดยทีมงานจะบันทึกและรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบหนังสือพิมพ์เป็นสองส่วน

     คือการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ที่ผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และหลักการปฏิบัติของหนังสือพิมพ์ในลักษณะที่ดี จากนั้นก็จะบันทึกข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบลงตารางที่แจกแจงหมวดหมู่สำหรับการตรวจสอบ โดยจะไม่ระบุชื่อหัวของหนังสือพิมพ์ แต่จะใช้ชื่อแทนหนังสือพิมพ์แต่ละหัว นอกจากการบันทึกข้อมูลที่ตรวจสอบลงในตารางแล้ว ทีมได้ทำเอกสารหมวดอ้างอิง โดยมีเนื้อหาสาระที่เป็นลักษณะการทำผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ของแต่ละข่าว พร้อมรูปภาพประกอบในแต่ละหมวดหมู่ เพื่อให้ผู้ศึกษา เห็นลักษณะการทำผิดจริยธรรมของแต่ละหนังสือพิมพ์ ในแต่ละหมวดอย่างชัดเจน

     ส่วนทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ “Top-down” คือ การสอดส่องจริยธรรมการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2559 ภายในเดือนมีนาคม 2560 และลักษณะ “Bottom-up” คือ การนำข่าวที่ถูกคัดเลือกว่าผิดจริยธรรมข้างต้น มาตรวจสอบกระแสของสื่อสังคมออนไลน์ผ่านเครื่องมือ “Zocial Eye” เพื่อศึกษาบรรทัดฐานทางทัศนคติของผู้คนในสังคมออนไลน์ที่มีต่อข่าวดังกล่าว

ระดมทีมนักศึกษาจับจ้องส่องจริยธรรม “สื่อ”

​    ผลปรากฏว่าการตรวจสอบสำนักข่าวบนช่องทางออนไลน์ 9 แห่งซึ่งเป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้แก่ ผู้จัดการออนไลน์ เดลินิวส์ โพสต์ทูเดย์ ไทยรัฐ กรุงเทพธุรกิจ ไทยโพสต์ สยามรัฐ คมชัดลึก และโลกวันนี้ ตั้งแต่วันที่1-31 มีนาคม 2560 โดยเลือกเฉพาะข่าวที่อยู่ในหมวด “ข่าวเด่น” บนหน้าแรกของแต่ละเว็บไซต์ และสุ่มเก็บข้อมูล 2 ครั้งต่อสัปดาห์ คือวันจันทร์และวันศุกร์ ในช่วงเวลา 22.00-24.00 น. พบข่าวที่เข้าข่ายผิดจริยธรรมจำนวน 149 ข่าว จากตัวอย่างทั้งหมด 1,494 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 9.97

     โดยประเด็นทำผิดที่พบ คือ การนำเสนอข่าวโดยอคติ 25 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 16.78 รองลงมาคือโฆษณาแฝง 20 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 13.42, ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 16 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 10.74, อุจาดหวาดเสียว 13 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8.72, งมงาย 12 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8.05, ใช้ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง 10 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 6.71, ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง 6 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 4.01 และลามกอนาจาร 2 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 1.34

     ที่สำคัญคือมีการสำรวจข่าวที่เข้าข่ายการทำผิดจริยธรรมในประเด็นอื่นๆ เช่น พิมพ์ตกหล่นจนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด, แหล่งที่มาของข่าวไม่น่าเชื่อถือ, ใช้คำกำกวมหรือตัวย่อจนอาจเกิดความเข้าใจผิด เป็นต้น โดยพบ 45 ข่าว จากจำนวนทั้งหมด 149 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 30.20

     สำหรับผลสำรวจทัศนคติของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ พบความเคลื่อนไหวจำนวน 1,122,521 ข้อความ มีข้อความที่ผู้รับสื่อ “ให้ความรู้สึกเป็นกลาง” (Neutral) ต่อการนำเสนอข่าวของสื่อออนไลน์สำนักต่างๆ มากที่สุด มีจำนวน 911,165 ข้อความ คิดเป็นร้อยละ 81.17 รองลงมาคือ “ให้ความรู้สึกเป็นลบ” (Negative) จำนวน 159,295 ข้อความ คิดเป็นร้อยละ 14.19 และ “ให้ความรู้สึกในแง่บวก” (Positive) จำนวน 52,061 ข้อความ คิดเป็นร้อยละ 4.64

     ที่น่าสนใจคือ ทีมจุฬาฯ ได้คัดเลือกข่าวที่เข้าข่ายผิดจริยธรรมมาประเด็นละ 1 ข่าว โดยสุ่มเลือกจากสำนักข่าวที่ผิดจริยธรรมในประเด็นนั้นๆ มากที่สุด ทำให้พบการแสดงความคิดเห็นของผู้รับสื่อส่วนใหญ่มักเป็นการพูดถึงเรื่องราวในข่าว หรือมีอารมณ์ร่วมไปกับข่าวนั้นๆ มากกว่าจะวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนโดยตรง

     มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า อาจเป็นเพราะ “ผู้รับสื่อส่วนใหญ่” คุ้นชินกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในรูปแบบนี้มาเป็นเวลายาวนาน จนไม่สังเกตว่ามีรายละเอียดส่วนใดที่ “ละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” นอกจากนี้ ข่าวงมงายและอุจาดหวาดเสียวสามารถสร้างยอดปฏิสัมพันธ์ (Engagement) จากผู้อ่านได้สูงกว่าประเด็นอื่นๆ มีการแสดงอารมณ์คล้อยตามเสียดสีสะใจหรือด่าทอไปตามเนื้อข่าวที่สำนักข่าวนำเสนอ

     เนื่องจาก “ผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้ดู” ส่วนใหญ่อาจไม่ทราบถึงมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพหนังสือพิมพ์มีอะไรบ้าง จึงกลายเป็นข้อแนะนำสำคัญให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเร่งดำเนินการเชิงรุก ในการสร้างความตระหนักรู้เท่าทันสื่อให้แก่สังคมไทย โดยเฉพาะต้อง ขอให้คนไทย ไม่กดถูกใจ (Like) หรือส่งต่อ (Share) ข่าวที่ผิดจริยธรรม

     เพื่อช่วยกันหยุดยั้งไม่ให้ “ข่าวผิดจริยธรรม” กลายเป็นเรื่องธรรมดาในสายตาคนไทย

ทีมข่าวรายงานพิเศษ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ