คอลัมนิสต์

โร้ดแม็พทำ กม.ลูก ความน่าจะเป็นที่สอดคล้อง“เลื่อนเลือกตั้ง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อกฎหมายลูกที่ควรจะผ่านฉลุย ดูเหมือนว่าจะมีปัญหา เราจึงมาไล่เรียงว่าขั้นตอนต่างๆในการผ่านกฎหมายเป็นอย่างไร และเข้าเค้าทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปหรือไม่

       ตามโร้ดแม็พประเทศไทย ที่กำหนดโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อประเด็นการ “เลือกตั้ง” เพื่อนำประเทศไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 

       บันไดที่มุ่งสู่การนับระยะเวลาตามโร้ดแม็พ ที่เป็นทางการ คือ ไทม์ไลน์จัดทำ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) โดย “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)” ที่รัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ ในมาตรา 267

 

       สรุปง่ายๆ คือ ตั้งแต่ 6 เม.ย.2560 ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ กรธ. มีเวลาทำ ร่าง พ.ร.ป. จำนวน 10 ฉบับ ภายใน 240 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 1 ธ.ค. 2560 แต่เงื่อนไขจัดการเลือกตั้งถูกบังคับไว้อีกนัยยสำคัญ คือ จะจัดเลือกตั้งได้ก็ต่อเมื่อ “ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส., ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว., ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง” มีผลบังคับใช้แล้ว

   โร้ดแม็พทำ กม.ลูก ความน่าจะเป็นที่สอดคล้อง“เลื่อนเลือกตั้ง"

       โดยขณะนี้ กระบวนการพิจารณาของ ร่าง พ.ร.ป. ที่เป็นส่วนชี้ปฏิทินเลือกตั้งนั้น คิกออฟแล้ว 2ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ สนช. เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. และ วันที่ 15 มิ.ย. ตามลำดับ

 

       ขั้นตอนจากนี้ คือ ฟังความเห็นขององค์กรที่รับผิดชอบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และองค์กรที่ต้องนำกฎหมายไปปฏิบัติ ภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารจาก “สนช.”

 

       โดยมีความเป็นไปอย่างแน่นอน สำหรับ ร่าง พ.ร.ป.กกต. ที่ต้องตั้ง “กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย คือ สนช., กรธ. และ กกต." เพราะ “กกต. ได้จับข้อบกพร่องได้ และเสนอเป็นความเห็นแย้ง 6 ประเด็น เกี่ยวพันธ์กับการปฏิบัติงาน การจัดการเลือกตั้งภายใต้กลไกของกฎหมาย ที่ขัดกับบทบัญญัติหลักในรัฐธรรมนูญ รวมถึงประเด็นของวาระดำรงตำแหน่ง กกต.ชุดปัจจุบัน ที่ถูกรีเซ็ททั้งหมด ซึ่งข้อบกพร่อง คือ ยัดหลักนิติธรรม เป็นการจำกัดสิทธิ และเขียนกฎหมายที่ไม่มีความเสมอภาค

 

       ขณะที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง นั้นยังมีความไม่แน่นอน เพราะ กกต. ฐานะองค์กรอิสระที่รับไปพิจารณาแทนพรรคการเมือง ระบุว่า “ไม่มีปัญหา”

 

       แต่ขณะนี้มีความเห็นจาก “นักการเมือง” ท้วงติงบทบัญญัติเกี่ยวกับการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อเฟ้นหาตัวแทนระดับเขตเลือกตั้งเพื่อให้พรรค ส่งลงรับเลือกตั้ง หรือ ไพรมารี่โหวต ว่า ส่อขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยได้ยื่นผ่าน “กรธ” โดยจากนี้ กรธ. จะศึกษาประเด็นก่อนสรุปว่าจะ ทำความเห็นแย้งเสนอ “สนช.” หรือไม่

 

       ดังนั้นเมื่อกระบวนการ กมธ.ร่วมฯ เกิดขึ้นแล้ว กมธ.ร่วมฯ ทั้ง 11 คน ที่มาจาก ตัวแทน สนช. 5 คน, กรธ. 5 คนและประธานองค์กรอิสระ 1 คน ต้องนำประเด็นโต้แย้งพิจารณา ภายใน 15 วัน จากนั้นให้ทำรายงานเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสนช. อีกครั้ง เพื่อให้ลงมติ

 

       ซึ่งประเด็นนี้ “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่1” ชี้แจงความเป็นไปได้ว่าจะมี 2 ทางเท่านั้น คือ 1.กมธ.ร่วมฯ เห็นด้วยกับความเห็นแย้งขององค์กรอิสระ และแก้ไขบทบัญญัติตามที่ได้ปรึกษาหารือ หรือ 2. กมธ.ร่วมฯ ไม่เห็นด้วย และยืนยันให้ใช้ร่าง พ.ร.ป.ที่ สนช. ลงมติในวาระสาม

 

       “แต่ไม่ว่า กมธ.ร่วมจะเห็นทางใด ต้องนำเสนอต่อที่ประชุม สนช. เพื่อลงมติ โดยการลงมติก็จะมี 2 ทาง คือ ทางที่เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วยกับรายงานของกมธ. ร่วมฯ หากเห็นด้วยกับรายงาน ซึ่งอาจจะแก้ไขหรือไม่แก้ไขก็ได้ เกณฑ์ของเสียงคือ ข้างมากปกติ แต่หากสนช. ลงมติไม่เห็นด้วยกับรายงานของกมธ.ร่วม ต้องใช้เกณฑ์เสียงข้างมากเกิน 2 ใน 3 ของ จำนวนสนช. ที่มีอยู่ หรือ 167 คน” สุรชัย อธิบาย

 

       หากผลของลงมติไม่เห็นด้วย จะทำให้ “ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนั้น” ตกไป และเข้าสู่กระบวนการแรกเริ่ม คือ “กรธ.” ต้องจัดทำร่าง พ.ร.ป.ฉบับที่ตีตกใหม่ ในชั้นต้น “มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.” อธิบายความว่า จะนำความเห็นที่เป็นปมตีตกนั้น ไปแก้ไขเนื้อหา และนำเสนอสู่ สนช. ตามกระบวนการ ทั้งนี้หากระยะเวลาจัดทำ ยังอยู่ในกรอบ 240 วัน หรือไม่เกินวันที่ 1 ธ.ค. ต้องยึดตามกรอบเวลา แต่หาก “ร่าง พ.ร.ป.ฉบับใด” ที่ตีตก หลังจากที่พ้นระยะ 240 วันแล้ว จะไม่นำกรอบเวลามาใช้บังคับ

 

       แต่หากผลการลงมติของ สนช. ออกมาเป็นอีกแบบ คือ เห็นด้วยกับการพิจารณาของกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ขั้นตอนคือ ประธานสนช. นำส่งให้ “นายกฯ” เพื่อเข้าสู่กระบวนการนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่จะมีเวลา “พักรอ” ร่างพ.ร.ป. 5 วันเพื่อให้ ฝ่ายที่มีหน้าที่ คือ “ส.ส. ส.ว. ในที่นี้ คือ สนช.” เข้าชื่อเสนอกัน และ นายกฯ ทำความเห็นว่ามีข้อความใดที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

       ชั้นนี้ หากมีการเสนอความเห็น จะเข้าสู่กระบวนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา ทำให้ กระบวนการทูลเกล้าฯ ต้องระงับไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยเงื่อนไขหากร่าง พ.ร.ป. นั้นมีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น ข้อความที่เป็นสาระสำคัญ!! จะทำให้ร่างกฎหมายนั้นตกไปทั้งฉบับ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อความที่แย้งกับรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญ ให้ตกไปเฉพาะข้อความ แต่ร่างกฎหมายยังสามารถดำเนินการตามขั้นตอน คือ นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

 

       อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจ อยู่ที่ระยะเวลาการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อีก 2 ฉบับที่เหลือ คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่ “กรธ.” นัดจัดทำและเสนอให้ “สนช.” พิจารณาภายหลังจากที่ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เข้าสู่กระบวนการทูลเกล้าฯ ที่สมบูรณ์

 

       หากคำนวณเวลากันคร่าวๆ ตามขั้นตอนข้างต้น ความเป็นไปได้ จะตกอยู่ประมาณ เดือนส.ค และ “สนช.” จะมีเวลาพิจารณา ฉบับละ 2 เดือน แต่หากมีสิ่งที่เป็นอุบัติเหตุ เช่น หลังจากที่ พ.ร.ป.กกต. และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ถูก “ประชาชน-ผู้มีส่วนได้เสีย” ยื่นความต่อศาลรัฐธรรมนูญหลังกฎหมายมีผลใช้บังคับ อาจทำให้ขั้นตอนทำร่าง พ.ร.ป.ที่เป็นจุดชี้วันเลือกตั้ง อีก 2 ฉบับมีเหตุให้ต้องชะลอเพื่อรอทำเนื้อหาไม่ให้ขัดกัน หรือเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ ร่าง พ.ร.ป. ถูกตีตก โดยสนช. จะหมายความว่า เวลาทำ ร่าง พ.ร.ป. อาจต้องใช้เวลาที่มากกว่า 240 วัน และระยะจัดการเลือกตั้งตามโร้ดแม็พก็อาจบวกเพิ่มตามเงื่อนไข

 

       ทั้งนี้มีข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบสำหรับการพิจารณาร่างกฎหมายปกติ ที่ออกโดย “ฝ่ายนิติบัญญัติ” แม้การพิจารณาจะไม่กำหนดเงื่อนไขทางเวลาไว้ตายตัว แต่เมื่อ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” พิจารณาเสร็จวาระสามแล้ว กระบวนการต้อง ส่งให้ “นายกฯ” ดำเนินกระบวนการทูลเกล้าฯ แต่ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องพักรอไว้ 5 วันเพื่อให้ “ส.ส., ส.ว., นายกฯ” เสนอความเห็นต่อประเด็นความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือกระบวนการตรากฎหมายไม่ถูกต้อง และเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่อธิบายไปแล้วขั้นต้น

 

       ดังนั้นจะเรียกได้ว่า กระบวนการตรา พระราชบัญญัติ นั้นก็มีหลักการที่กำหนดไว้เฉกเช่นเดียวกับทำ “ร่าง พ.ร.ป.” แต่บางฉบับอาจสำคัญน้อยกว่า เพราะไม่ใช่กฎหมายที่ใช้ชี้ชะตาวันเลือกตั้ง เพื่อนำประเทศเข้าสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย.

--------

ขนิษฐา เทพจร

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ