คอลัมนิสต์

‘ไพรมารี่โหวต’ ปฏิวัติ ‘นายทุน’ พรรคการเมือง?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ไพรมารีโหวต" รูปแบบที่ถูกบรรจุเพิ่มเติมในร่างกฎหมายพรรคการเมือง กำลังเป็นที่ถกเถียง ดูเหมือนจะถูกโต้แย้งไม่เฉพาะจากพรรคการเมืองเท่านั้น หากแต่ภาคส่วนอื่นด้วย

        หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ไฟเขียวเห็นชอบร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ตามที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณา หลายฝ่ายต่างพุ่งเป้าไปที่ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ล่าสุดของประเทศไทย ‘ไพรมารี่โหวต’ ว่าจะสามารถแก้ปัญหาการเลือกตั้ง เลือกคนดีเข้าสภาได้จริงหรือไม่??

 

        ‘ไพรมารีโหวต’ ตามเจตนารมณ์กมธ.สนช. หวังขจัดนายทุนครอบงำพรรค ส่งเสริมให้พรรคเข้มแข็ง เป็นประชาธิปไตย ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของพรรค คัดสรรผู้สมัครทั้งส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ โดยอ้างว่าพรรคต้องถูกปฏิรูป ถ้าไม่เช่นนั้นการปฏิวัติจะเสียของ!!

        ถามว่าระบบ ‘ไพรมารี่โหวต’ คืออะไร?

 

        ‘ไพรมารี่โหวต’ คือ การเลือกตั้งขั้นต้นที่สมาชิกพรรคทุกคนมีสิทธิลงคะแนนเสียง เพื่อเลือกคนที่เสนอตัวเป็นผู้สมัคร หรือแคนดิเดตของพรรค เพื่อเป็นตัวแทนในการลงเลือกตั้ง

 

        ‘ไพรมารี่โหวต’ ที่ประเทศไทยจะนำมาใช้ เป็นการ คืนอำนาจขั้นพื้นฐานให้ประชาชนในพื้นที่ ในการเลือกผู้สมัคร ส.ส.ให้พรรค เพื่อลดอำนาจพรรคการเมือง ลดอำนาจหัวหน้าพรรค และนายทุนพรรค เพื่อให้ฐานเสียงของพรรค ได้มีส่วนร่วมทางการเมือง ชอบคนไหนเลือกคนนั้น ใครได้คะแนนมากสุดก็เอามาลงสมัครอย่างเป็นทางการ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 35 มาตรา 47 มาตรา 48 มาตรา 49/1 และมาตรา 49/2 ว่าด้วยการตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรค

 

        รูปแบบ ส.ส.แบบแบ่งเขต กำหนดให้การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด ให้พรรคส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจากผู้ซึ่งได้รับเลือกจากสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

 

        รูปแบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กำหนดให้พรรคจัดทำบัญชีรายชื่อ เพื่อส่งให้สาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด โดยให้คำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างระหว่างชายและหญิงด้วย

 

        อย่างไรก็ตามความเห็นยังแตกเป็น 2 ฝ่าย คือ เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ กมธ.สนช. กกต. หรือนักวิชาการ ต่างให้เหตุผลหลักของการใช้ระบบนี้ เพื่อทำลายระบบการตัดสินใจโดยนายทุนพรรค หรือการชี้นิ้วสั่งโดยเจ้าของพรรค เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกตัวผู้สมัคร ส.ส. สะท้อนถึงประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

        มือเกลากฎหมายอย่าง “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง สนช. ยืนยันว่า ไพรมารี่โหวต ตรงกับแนวคิดนักการเมืองที่เรียกร้องอยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย เพราะการเลือกผู้สมัครส.ส.ในพื้นที่ คือการเลือกตั้งที่สร้างประชาธิปไตย

 

        “ผมขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่เป็นสถาบันการเมืองทางประชาธิปไตยอย่ารังเกียจกับความลำบากเพียงเล็กน้อย และหันกลับมาร่วมใจสร้างประชาธิปไตยให้ประเทศชาติ โดยไม่รังเกียจการใช้ระบบไพรมารี่โหวตเพื่อหาตัวแทนของพรรคในการส่งสมัครรับเลือกตั้ง หากยังคัดค้านและท้วงติงก็แสดงว่าไม่มีความพร้อม และหากไม่พร้อมก็ไม่ควรเลือกตั้ง”

 

        ส่วนนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ “อัษฎางค์ ปาณิกบุตร” เห็นด้วยหากจะใช้ระบบไพรมารี่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน เพราะระบบดังกล่าวมีรายละเอียดมาก และเป็นระบบที่สังคมการเมืองของประเทศนั้นๆ ต้องอยู่ในระดับที่ดี มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้สังคมไทย จะยังไม่มีสังคมการเมืองที่เอื้อต่อการใช้ระบบไพรมารี่ แต่ก็เห็นว่า ไม่เป็นปัญหา

 

        “ระบบไพรมารี่ เป็นเรื่องภายในของพรรคการเมือง เป็นการให้สมาชิกพรรคเลือกตัวแทนของพรรค ดังนั้นหากประชาชนต้องการที่จะมีส่วนร่วม จะต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพื่อสร้างจิตสำนึกทางการเมือง แต่ประเทศไทยมีปัญหาตรงที่ ระบบการศึกษาไม่เอื้อให้มีการสร้างจิตสำนึกทางการเมือง”

 

        ส่วนกกต.สมชัย ศรีสุทธิยากร เห็นว่า กฎหมายพรรคการเมืองมีเจตนารมณ์ ต้องการให้พรรคเข้มแข็ง มีรากฐานจากประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากกฎหมายที่ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง จึงพิจารณาได้ว่า ไม่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ส่วนข้อขัดข้อง ถือเป็นปัญหาอุปสรรค เป็นความยากลำบากทั้งต่อพรรคการเมืองที่ต้องดำเนินการ และต่อ กกต.ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ เป็นงานที่มากขึ้นแน่นอน ซึ่งหากหวังผลในการปฏิรูปการเมืองจริง ถึงเหนื่อยก็ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นชุดนี้ หรือชุดหน้าที่จะมาใหม่ก็ตาม

 

        ด้านอีกฟากเสียงฝ่ายคัดค้านมองว่า ระบบ ‘ไพรมารี่โหวต’ ทำลายระบบพรรคการเมือง มีปัญหาสำหรับพรรคเล็ก ทำให้ระบบสืบทอดทายาททางการเมืองกลับมา ทำให้มีการล็อบบี้ หรือซื้อเสียง ส่งผลให้ผูกขาดการเป็นผู้สมัครง่ายขึ้น และอาจสร้างความแตกแยกให้พรรค!!

 

         “มีชัย ฤชุพันธ์ุ” ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นแย้งว่า ไพรมารี่โหวตจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะเวลากำหนดวันเลือกตั้งแล้วจะกำหนดวันรับสมัครภายใน 7 - 10 วัน แต่ตามร่างกฎหมายฉบับใหม่กำหนดไว้ว่า พรรคการเมืองจะสมัคร ส.ส. ได้ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองทำไพรมารี่โหวต ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาพอสมควร จึงทำให้มีปัญหาว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไร และพรรคการเมืองจะสมัครรับเลือกตั้งทันหรือไม่

 

        “เวลานี้มีคนพยายามอธิบายว่าให้พรรคการเมืองทำไพรมารี่โหวตล่วงหน้าไปก่อนก็ได้ แต่ขอถามว่าถ้าทำแบบนั้นจะเอาเขตเลือกตั้งอะไรมากำหนด เพราะเขตเลือกตั้งจะประกาศช่วงใกล้เลือกตั้ง แบบนี้สมาชิกพรรคการเมืองพร้อมจะไปลงคะแนนหรือไม่ นอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบความโปร่งใสของการทำไพรมารี่โหวตอีก ประเด็นพวกนี้ต้องคุยกันให้ชัด เราไม่ได้ขัดข้อง ถ้าเป็นเรื่องจำเป็นเราจะได้เข้าไปช่วยแก้ไข”

 

        ด้านพรรคประชาธิปัตย์ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค มองว่า ระบบไพรมารี่โหวตถือเป็นเจตนาดี แต่การใช้กลไกเบื้องต้นดังกล่าว มีความไม่แน่นอน ทั้งต่อการเลือกตั้งทั่วไปหรือการเลือกตั้งซ่อม การมีเวลาค่อนค่อนข้างสั้น ความพร้อมในการจัดการลงคะแนนเสียงมีข้อจำกัดมาก ระบบการลงคะแนนเบื้องต้นมาจากการเมืองในสหรัฐอเมริกา กระบวนการเลือกตั้งใช้เวลายาวนานเป็นปี บทบัญญัติในกฎหมายใหม่จึงต้องคำนึงถึงโครงสร้างของการปกครองไทยด้วย เพื่อคัดเลือกผู้สมัครให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงควรมีความยืดหยุ่นเพียงพอ ที่จะให้คณะกรรมการบริหารพรรค กลั่นกรองและใช้ดุลพินิจได้อย่างเหมาะสม

 

        “พรรคประชาธิปัตย์มีประวัติยาวนาน ฐานสมาชิกค่อนข้างกว้าง คงมีความพร้อมมากกว่าพรรคการเมืองอื่น แต่พรรคการเมืองใหม่ ที่จะจัดตั้งขึ้นจะต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคอย่างรุนแรงกว่ามากนัก หากกฎหมายที่ร่างอยู่มีผลบังคับใช้ คาดหวังเรื่องการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมือง มาคัดเลือกผู้สมัครอย่างที่ผู้ร่างต้องการ คงจะไม่เกิดขึ้น ไม่น่าจะเป็นระบบการกลั่นกรองคัดเลือกผู้สมัครที่ดีกว่าการใช้คณะกรรมการบริหารพรรค ที่มาจากการเลือกตั้งจากฐานที่กว้างขวางกว่าในที่ประชุมใหญ่ เพราะสภาพปัจจุบันและกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวย”

 

        ฝั่งแกนนำพรรคเพื่อไทย “จาตุรนต์ ฉายแสง” เห็นว่า กระบวนการคัดเลือกผู้สมัครแบบไพรมารี่โหวตจะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกกันเองภายในพรรค แบ่งเป็นกลุ่มก๊วน กระจัดกระจายขัดแย้ง โดยเฉพาะในกรรมการบริหารพรรค จนทำอะไรไม่ได้ และการกำหนดผู้ลงสมัครทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ จะไม่สะท้อนความนิยมของประชาชน แต่จะเป็นเรื่องของสมาชิกจำนวนน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขทำให้เสนอนโยบายอะไรยากมาก และถ้าเลื่อนการเลือกตั้งออกไป คสช.และผู้มีอำนาจคือแม่น้ำทั้ง 4 สาย จะมีอำนาจปกครองอย่างเปิดเผย แต่ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วเมื่อไหร่ ผู้มีอำนาจเหล่านี้ต้องหาช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อนมากขึ้น แต่ผลออกมาอย่างเดียวกัน

 

        ขณะที่แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา“นิกร จำนง” ระบุว่า ตนไม่เห็นด้วย เพราะจะสร้างปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก เพราะปฏิบัติไม่ได้ ทำให้พรรคการเมืองเสียสิทธิในการกำหนดตัวผู้สมัคร ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้พรรคเป็นคนคัดตัวผู้สมัคร หน่วยคัดกรองไปอยู่ที่สาขาพรรค ถือว่าถูกหลักกระจายอำนาจ แต่การรับผิดชอบในนามพรรคก็ยังต้องมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ หากเกิดความผิดพลาดพรรคก็ต้องรับผิดชอบ

 

        การวางโจทย์หิน ‘ไพรมารี่โหวต’สำหรับการเลือกตั้ง จะเป็นการ ‘ปฏิวัติ’ นายทุนพรรคการเมือง ที่ครอบงำระบอบประชาธิปไตยไทยมาช้านาน หรือเป็นเพียงแค่ละคร ‘ป่าหี่’ ผลัดกันร้อง เล่น เต้น ระบำเท่านั้น

 

        คงต้องต้องรอดูว่า กรธ.จะตัดสินใจยื่นความเห็นแย้งประเด็น ‘ไพรมารี่โหวต’ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายมาทบทวนหรือไม่???

----------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ