คอลัมนิสต์

ชาวบ้านไม่หายสงสัย โซลาร์เซลล์พันล้าน !

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การตรวจสอบสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ ยังพบว่ามีประชาชนร้องเรียนเข้าไปที่ฝ่ายปกครองเกี่ยวกับปัญหาเสาไฟโซลาร์เซลล์ชำรุด

     ใกล้สิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำรายงานชี้แจงปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ในโครงการติดตั้งเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือที่เรียกว่า “เสาไฟโซลาร์เซลล์” จำนวน 14,318 ต้น ทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมีพี่น้องประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนเข้ามาอย่างหนาหู

     โครงการนี้พบปัญหาใหญ่ๆ 3 ปัญหา คือ 1.ไฟติดๆ ดับๆ แต่ส่วนใหญ่จะดับมืดไปเลย จำนวนจุดที่ชำรุด ชาวบ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแฉว่ามีมากกว่าร้อยละ 80 แต่ ศอ.บต.อ้างว่าชำรุดเสียหายแค่ร้อยละ 4 เท่านั้น

     2.อปท.แฉว่า ศอ.บต.แจ้งนำโครงการมาลง และมอบหน้าที่ให้ดูแลรักษา แต่จริงๆ แล้วกลับไม่มีเสาไฟมาติดตั้ง เรียกว่า “โครงการลม” คือมีแต่โครงการแต่ไม่มีของ 

ชาวบ้านไม่หายสงสัย โซลาร์เซลล์พันล้าน !

     3.การจัดซื้อจัดจ้างใช้วิธีพิเศษ มีโครงการใหญ่ๆ เท่าที่รวบรวมได้ 6 สัญญา แต่เอกชนบางรายกวาดไปถึง 3 สัญญา งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท ทั้งที่ไม่ชัดเจนว่ามีศักยภาพทำได้จริงหรือไม่ ขณะที่การตั้งงบประมาณซ่อมแซมกว่า 4 ล้านบาท ก็ไปจัดจ้างบริษัทที่ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องโซลาร์เซลล์ และสำนักงานก็เป็นเพียง “ที่พักอาศัย” ไม่ได้มีสภาพเป็นโรงงานที่มีอุปกรณ์พร้อมสำหรับการติดตั้งหรือซ่อมแซม

     ที่ผ่านมา ศอ.บต.ออกมาชี้แจงผ่านช่องทางการสื่อสารของตนเองหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยยังคงยืนกรานว่าเสาไฟโซลาร์เซลล์ที่ชำรุดเสียหายนั้น มีเพียงร้อยละ 4 และตั้งงบประมาณซ่อมแซมไว้แล้วจำนวน 531 จุด จากทั้งหมดกว่า 14,000 จุด ขณะที่เหตุผลของความชำรุดเสียหาย อ้างว่าเป็นเพราะแบตเตอรี่ถูกขโมย พร้อมทั้งยกตัวอย่างคดีที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ “หัวขโมย” เอาไว้แล้ว 2 คดี ศาลตัดสินจำคุกผู้กระทำผิดแล้วทั้ง 2 คดี (2 คดีนี้อยู่ใน จ.ยะลา ทั้งหมด ทำให้ชาวบ้านงงว่า แล้วที่เสาไฟโซลาร์เซลล์ชำรุดเสียหายในจังหวัดอื่น มีการจับหัวขโมยได้บ้างไหม ?)

     ศอ.บต.ยังแจกแจงว่า ได้ติดตั้งเสาโซลาร์เซลล์ในพื้นที่อ่อนไหว 4 จุด 4 ประเภท ได้แก่ “จุดดับ” คือจุดที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด แต่ไม่มีไฟส่องสว่าง จึงติดเสาไฟโซลาร์เซลล์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้องในการจับภาพเวลากลางคืน 

     “จุดเสี่ยง” หมายถึงการติดตั้งในจุดที่ประชาชนหวาดกลัวในการใช้เส้นทาง เสี่ยงเกิดเหตุร้าย เพราะไม่มีแสงสว่างเพียงพอ “จุดตาย” หมายถึงจุดที่เคยเกิดเหตุรุนแรง เพราะไม่มีแสงสว่างหรือแสงสว่างไม่เพียงพอ และ “จุดมืด” หมายถึงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ในเขตชุมชน เพื่อเพิ่มบรรยากาศความมีชีวิตชีวา

     ส่วนปัญหาแบตเตอรี่ถูกขโมย ศอ.บต.ชี้แจงว่าได้ประสานกับฝ่ายปกครอง และชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ช่วยดูแลแล้ว โดย ศอ.บต.อ้างว่าทราบความเสี่ยงเรื่องแบตเตอรี่ถูกขโมยเป็นอย่างดี แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่ประชาชนเรียกร้อง จึงไปติดตั้งโดยหวังว่าภาคประชาชนจะช่วยกันดูแล

      ทั้งหมดเป็นคำชี้แจงจาก ศอ.บต. ซึ่่งยังไม่ชัดเจนว่าเป็นส่วนหนึ่งของรายงานที่ต้องทำถึงนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่

ชาวบ้านไม่หายสงสัย โซลาร์เซลล์พันล้าน !

     แต่จากการตรวจสอบสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ ยังพบว่ามีประชาชนร้องเรียนเข้าไปที่ฝ่ายปกครองเกี่ยวกับปัญหาเสาไฟโซลาร์เซลล์ชำรุดใช้งานไม่ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังยืนยันว่าเป็นการใช้งานไม่ได้จริงๆ โดยไม่ได้เกิดจากแบตเตอรี่ถูกขโมยอีกด้วย

     เช่นที่ จ.นราธิวาส ชาวบ้านในหมู่บ้านอ่างเก็บน้ำ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาพิกุลทอง ในเขต อ.เมืองนราธิวาส ร้องเข้าไปที่จังหวัดว่าเสาไฟโซลาร์เซลล์ไม่ติดเลย ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเร่งหางบฉุกเฉินเข้าไปซ่อมแซม หรือไม่ก็เดินสายไฟฟ้าให้ใหม่ เนื่องจาก ศอ.บต.แจ้งว่าไม่มีงบประมาณสำหรับซ่อมแซมในพื้นที่นี้

     นี่คือปัญหาจากการใช้จ่ายงบประมาณกว่า 1 พันล้านบาทที่ตอกย้ำเสียงวิจารณ์เรื่อง “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ท่ามกลางสถานการณ์ไฟใต้ที่ไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และประชาชนเองก็ไม่ได้ประทับใจการทำงานของหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ