คอลัมนิสต์

วอน!!“ประธานทปอ.”ตอบ 6 ข้อก่อนเปิดเทอมตามอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทปอ.ยุด"ศ.ดร.สัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์"เตรียมชง"เปิด-ปิด"เทอมตามอาเซียน เหมาะสมกับบริบทวิถีไทยหรือไม่? ติดตามเรื่องนี้กับ 0กมลทิพย์ ใบเงิน0เวบไซด์คมชัดลึก

          เปลี่ยนตัวประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ประธาน ทปอ.)มาไม่รู้กี่คน แต่ดูเหมือนว่าแต่ละคนที่เข้ามารับ"ไม้ผลัด"มาเป็นปากเป็นเสียงแทนมหาวิทยาลัยของรัฐ ต่างมีจุดยืนเดียวกัน ด้วยการอาศัยมติที่ประชุม ทปอ.เป็น"หนังหน้าไฟ"ขับเคลื่อนการปิด-เปิดเทอมของสถาบันอุดมศึกษาศึกษาไทยต้องตามอาเซียน

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.รัฐกรณ์ คิดการ" ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) ที่ยืนหยัดต่อสู้คัดค้านการปิด-เปิดเทอมตามอาเซียนมาร่วม 6 ปี เปิดเผยกับ "เวบไซด์คมชัดลึก" เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2560 ว่า  ตลอดเวลา 6 ปี  ที่มีข้อเรียกร้องจากหลายองค์กร ให้มีการปรับเปลี่ยนการเปิดปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยตามอาเฃียน

          "เนื่องจากมีผลกระทบกับทั้งระบบการจัดการศึกษา วิถีชีวิต สังคมและวัฒนธรรม โดยเรียกร้องให้กลับมาเปิดแบบเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ บริบทของสังคมไทย วิถีไทย และสอดคล้องกันทั้งระบบ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา แต่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.)กลับยืนยันไม่มีการปรับเปลี่ยน"

          ทปอ.อ้างการเปิด-ปิดภาคเรียนเป็นอำนาจสภามหาวิทยาลัย และอ้างจำนวนนักศึกษาลดลง จำเป็นต้องเติมเต็มด้วยนักศึกษาในภูมิภาคอาเฃียน

          ส่วนข้อเรียกร้องของสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย(ศ.ค.ศ.ท.) เนื่องจากได้รับผลกระทบกับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู เนื่องจากเปิดภาคเรียนไม่ตรงกันนั้น ทปอ. จะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ปรับเปลี่ยนช่วงการเปิดภาคเรียนนั้น

          "ผมอยากฝากไปยัง ที่ประชุม ทปอ.ให้ย้อนไปดูว่าก่อนที่มหาวิทยาลัยจะมีการปรับเปลี่ยนไปเปิดภาคเรียนตามอาเซียนในปีการศึกษา 2557 นั้น ได้มีการหารือกันของหน่วยงานการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั้งหมด เพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเฃียน แต่มีเพียง ทปอ.เท่านั้นที่ต้องการปรับเปลี่ยนและมีมติเมื่อปี 2554 ส่วนหน่วยงานอื่น ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) มาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) อาชีวศึกษา รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ. )ต่างไม่เห็นด้วย"

           โดยเฉพาะมหาวิทยาราชภัฏ กับอาชีวศึกษา ได้ทำการศึกษาวิจัย พบว่าทั้งนักศึกษา และผู้ปกครองต่างไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะผลการวิจัยของอาชีวศึกษาพบว่า หากปรับเปลี่ยนไปเปิดเทอมช่วงเดือนสิงหาคมจะกระทบกับทั้งการรับนักศึกษา การฝึกงาน และการสมัครงาน ดังนั้นสถาบันอาชีวศึกษา จึงยืนยันเปิดภาคเรียนแบบเดิม

          ขณะที่ราชภัฏ ราชมงคล แม้ว่าตอนแรกจะไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายก็ยอมปรับเปลี่ยนตามมติทปอ. ส่วนทปอ.เองหลังจากมีมติในปี 2554 แล้ว ก็ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.)ทำการวิจัยผลกระทบจากการเปิดปิดภาคเรียนตามอาเฃียน ซึ่งแม้ว่าผลการวิจัยที่ออกมาในปี 2556 พบว่าจะมีผลกระทบที่คาดว่าจะตามมามากมาย 

          เหนืออื่นใด ผลการวิจัยยังชี้ว่าแต่ละประเทศในอาเซียน ล้วนมีระบบการศึกษา จำนวนภาคเรียน และการเปิดภาคเรียนที่แตกต่างกัน แต่ทปอ.กลับไม่มีการทบทวนแต่อย่างใด จนกระทั่งผ่านพ้นปีการศึกษา 2557 ก็เริ่มเห็นผลกระทบ และมีเสียงเรียกร้อง พร้อมอ้างอิงผลการวิจัยจากหลายองค์กรให้ปรับเปลี่ยนกลับมาเปิดแบบเดิม ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันปี2560

           แต่ทุกครั้งก็จะได้รับการยืนยันจากทปอ.ว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนปิดเปิดเทอมตามอาเซียน โดยอ้างแค่เพื่อความเป็นสากล เพื่อรองรับนักศึกษาต่างชาติ การแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา ทั้งที่ข้อมูลและผลการวิจัยหลายฉบับ พบว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเชียน และการที่มหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนไปเปิดภาคเรียนในเดือนสิงหาคมนั้น ไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับข้ออ้างของทปอ.ดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใด

          ส่วนการที่ทปอ.ไม่ยอมทบทวน โดยอ้างว่าการเปิด-ปิดภาคเรียนเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยนั้น ลองนึกดูหากแต่ละสถาบันต่างเปิด-ปิดภาคเรียนไม่ตรงกันจะเกิดความโกลาหล กับระบบการศึกษา และสร้างความสับสนกับทั้งนักศึกษาและผู้ปกครองขนาดไหน แค่การที่ สพฐ.และอาชีวะ เปิดไม่ตรงกับอุดมศึกษาก็วุ่นวายและเกิดผลกระทบมากมาย 

          ขณะนี้ก็เริ่มมีแล้ว จากการที่หลายสถาบันทนความเดือดร้อนและผลกระทบการเปิดตามอาเซียนไม่ไหว จึงกลับมาเปิดแบบเดิม ซึ่งมีทั้งราชภัฏ ราชมงคลหลายสถาบัน รวมทั้งแม่โจ้ ซึ่งเป็นสถาบันในสังกัดทปอ.เอง รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจำนวนมาก

วอน!!“ประธานทปอ.”ตอบ 6 ข้อก่อนเปิดเทอมตามอาเซียน

          "ดังนั้น ผมขอเรียกร้องให้ทปอ.เปิดเผยผลการวิจัยของทปอ.เองว่าที่ทปอ.ได้ทำการวิจัยนั้นมีผลดี-ผลเสียอย่างไร และหากทปอ.ยืนยันจะให้มีการเปิดภาคเรียนตามอาเซียนเช่นเดิม ท่านจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร"

            1.ปรับเปลี่ยนให้สถานศึกษาของไทยทุกระดับเปิด-ปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกัน 2.ปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาทุกประเทศในอาเซียนให้เหมือนกัน 3.ปรับเปลี่ยนไม่ให้มีการเรียนการสอนตรงกับเดือนเมษายน

           4 .เปลี่ยนวันเกณฑ์ทหาร การสอบบรรจุครู การรับสมัครงาน ให้สอดคล้องกับวันสำเร็จการศึกษา 5.ปรับเปลี่ยนปีงบประมาณให้สอดคล้องกับการเปิดปิดภาคเรียน 6.เปลี่ยนวงรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการใหม่ให้สอดคล้องกับภาคเรียน 

           นี่เป็นเพียงตัวอย่างปัญหาและผลกระทบ หากท่านแก้ไขได้ เชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่คงยอมรับได้ แต่หากแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ ก็ควรมีมติให้ทุกมหาวิทยาลัยกลับมาเปิดแบบเดิม ก่อนที่ระบบการศึกษาไทยจะวุ่นวายและตกต่ำมากไปกว่านี้

             แหม! การวาดฝันจะ"ไล่จับ"นักเรียนต่างชาติเข้ามมาเรียนในมหาวิทยาลัยไทยนั้น อาจจะมีมหาวิทยาลัยไทยบางแห่ง ที่มีศักยภาพรองรับได้ แต่จะมีสัดส่วนจำนวนมากพอถึงขั้นต้อง"เอาใจ" ปิด-เปิดเทอมตามอาเซียน หรือไม่ พึงระวัง!! ความสับสน อลหม่าน!! เน้อ!! 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ