คอลัมนิสต์

รู้ทัน“ก๊าซไข่เน่า” จะรอดชีวิต!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

5 ศพ! เสียชีวิต เพราะได้รับพิษร้ายจาก"ก๊าซไข่เน่า" ทำอย่างไร ถึงจะเอาตัวรอด... ติดตามเรื่องนี้กับ.. กับ " กมลทิพย์ ใบเงิน " เวบไซด์คมชัดลึก

          เกิดเหตุโศกสลด! ระหว่างที่นิสิตคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 คน ขณะศึกษาดูงานในโรงงานในส่วนของขั้นตอนการพักน้ำเสีย ที่บริษัท ซีพีเอฟ จำกัด ซอยบางนา-ตราด 20 เกิดพลัดตกบ่อ พนักงาน 3 คนลงไปช่วย กลับเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ รวมถึง 5 ศพ

         ปกติบ่อบำบัดน้ำเสีย ทุกโรงงานอุตสาหกรรม จะเป็น “เขตหวงห้าม” หากไม่จำเป็นจะไม่เปิดให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่เข้ามาบริเวณนี้เด็ดขาด

          ว่ากันว่า ขณะเกิดเหตุ“ฝาท่อ”ของบ่อบำบัดน้ำเสียซีพีเอฟ “เปิด” ทำให้กลิ่นเหม็นคล้าย“ไข่เน่า”โชยมาตามสายลม ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เสียชีวิตถึง 5 ศพ อย่างน่าเศร้าใจ!!

         “ก๊าซไข่เน่า” เกิดขึ้นได้อย่างไร  อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตหรือไม่?? “รศ.ดร.วีระชัย  พุทธวงศ์” นักวิชาการด้านเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) มีคำอธิบาย

          "ก๊าซไข่เน่า อันตรายมากนะครับ จากเคสที่โรงงานแปรรูปจากเนื้อสัตว์ ที่นิสิตฝึกงานเสียชีวิต สาเหตุหลักมาจากก๊าซไข่เน่าเป็นต้นเหตุ" 

         บ่อบำบัดของเสียของโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะ “ก๊าซไข่เน่า” หรือ “ไฮโดรเจนซัลไฟด์” (hydrogen sulphide) ซึ่ง ก๊าซไข่เน่า ไม่มีสี เป็นพิษ มีความไวไฟ มีกลิ่นเน่าเหม็นคล้ายไข่เน่า จะปนอยู่กับ “ ก๊าซชีวภาพ” ที่เกิดจากการหมักหมมของซากมูล ของสารอินทรีย์ หรือ เข้าใจง่าย ๆ คือ“ซากพืชซากสัตว์” เช่น ก๊าซชีวภาพในฟาร์มหมู 

         ก๊าซไข่เน่า นิยมนำมาใช้เป็นก๊าซเชื้อเพลิงหุงต้มในครัวเรือน แต่เป็น “ก๊าซไม่บริสุทธิ์” ภาชนะทำอาหารที่เป็นโลหะจะขึ้นสนิมเร็ว เพราะมี“ซัลไฟด์” ที่โดนความชื้น แล้วจะทำให้เกิด"ภาวะเป็นกรด"

         “ก๊าซไข่เน่า” เกิดขึ้นจากแบคทีเรียย่อยสลายซัลไฟต์ ในสิ่งปฏิกูลอินทรีย์ในสภาวะขาดออกซิเจน เช่นใน หนองน้ำและท่อระบายน้ำ ในบ่อบำบัดที่เป็นข่าว ในสภาพแวดล้อมปกติ จะมีก๊าซไขเน่าเกิดขึ้น แต่ในปริมาณที่เจือจางมากน้อยต่างกัน และมีความเข้มข้นสูงในเฉพาะบางสถานที่ เช่น หนองน้ำที่นิ่งและเน่าเหม็น หรือในเขตสลัมที่บ้านเรือนประชาชน ปลูกทับหนองน้ำ จะได้รับก๊าซไข่เน่าเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ

         บ่อบำบัดในโรงงาน ในภาพที่เกิดเหตุ มีลักษณะมีฝาปิด ซึ่งบริเวณปากบ่อ จะมีความเข้มข้นของก๊าซไข่เน่าสูงมาก หากก้มลงไปหรือสูดดม ในปริมาณความเข้มข้นสูง จะทำให้หมดสติ สลึมสลือ และพลัดตกลงไปในบ่อบำบัดแบบที่ช่วยตนเองไม่ได้

         ก๊าซไข่เน่าหากมีความเข้มข้นสูง จะมีผลต่อ"ระบบหายใจ"ทำให้หยุดหายใจได้ เราควรออกจากสถานที่ที่มีความเข้มข้นของก๊าซไข่เน่า มากกว่า 65 ppm ขึ้นไป(ppm หรือ part per million หมายถึง ส่วนในล้านส่วน เป็นหน่วยบอกความเข้มข้นของสาร ) หากจำเป็นต้องลงไปปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณดังกล่าว ต้องระบายอากาศหรือใช้พัดลมดูดอากาศพ่นลงไปบริเวณนั้น เพื่อไล่ก๊าซไข่เน่าออกให้เจือจางมากที่สุด ก่อนลงไปปฏิบัติงาน

          "ความเข้มข้นของก๊าซไข่เน่า หากมีตั้งแต่ 10 ppm จะรู้สึกระคายเคืองตา หายใจติดขัด ,ความเข้มข้น ระดับ  65 ppm  อันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ , ความเข้มข้นระดับ 100 ppm จะเริ่มไอ หายใจติดขัด หากยังสูดดมประมาณ 2 -15 นาที(ขึ้นอยู่กับความแข็งแร็วของแต่นะคน) จะหายใจติดขัด เริ่มมีอาการมีนงง , ความเข้มข้นระดับ 200 ppm จะแสบตาอย่างรุนแรง มึนงง หมดสติ และหากระดับความเข้มข้นของก๊าซไข่เน่าสูงถึงระดับ 600 pmm จะหมดสติ หรือ เสียชีวิตทันที"

         กรณีนี้ความประมาทเป็นเหตุ เป็นที่น่าเศร้าใจและต้องขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียของครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย แม้ว่าก๊าซไข่เน่าจะมาพร้อมกับบ่อบำบัด โดยเฉพาะโรงงานนี้ เป็นโรงงานแปรรูปอาหารจากเนื้อสัตว์ แน่นอนว่าสิ่งปฏิกูลเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการหมักหมมซากสัตว์ให้เกิดก๊าซไข่เน่าในปริมาณที่สูงมากกว่าปกติ ได้อย่างดี 

          “ผมฝากถึงทุกมหาวิทยาลัยที่นำระบบสหกิจศึกษามาใช้ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการเรียนรู้คู่การปฏิบัติจริง ก่อนส่งนิสิต นักศึกษาไปฝึกงานด้านนี้ ต้องมีความตระหนักเรื่องนี้อย่างมาก อย่าโลกสวย ชีวิตจริง มันอันตราย มันมีมากกว่าในตำราเรียน”

         ตามกฎหมาย ทุกโรงงานต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสีย และไม่ใช่เฉพาะโรงงานที่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย หากดูตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในการกำกับการระบายน้ำทิ้ง จากอาคาร ทุกอาคารต้องมีระบบบำบัดของเสียก่อนทิ้ง เช่น อาคารชุด, โรงแรม, อาคารที่ทำการ, โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า, ตลาด. ภัตตาคาร หรือ ร้านอาหาร, หอพัก. สถานบริการ. อาคารอยู่อาศัยรวม, อาคารที่ก่อสร้างในที่ดินตามกฎหมายการจัดสรรที่ดิน

         ของเสียสิ่งปฏิกูลอินทรีย์ที่มาจากสถานที่อาคารต่างๆข้างต้น มีในปริมาณที่ไม่มาก สภาวะที่ไม่เหมาะสม ก็อาจเกิดก๊าซไข่เน่าในปริมาณที่น้อย หากเปรียบเทียบกับโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงงานแปรรูปอาหารสัตว์นั้น วัตถุดิบสิ่งปฏิกูลที่จะผลิตก๊าซไข่เน่า มีปริมาณที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิ

         เมื่อได้รับพิษจาก “ก๊าซไข่เน่า” ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากพบเหตุผู้รอดชีวิต หรือ ก่อนลงไปช่วยในสถานที่เกิดเหตุ หากยังมีกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายของก๊าซไขเน่า ต้องเร่งรีบ “ระบายอากาศ” หรือ“ใส่หน้ากากออกซิเจน”ลงไปช่วยนำร่างผู้รับเคราะห์ร้ายขึ้นมา ในสถานที่อากาศปลอดโปร่ง

          ต้องตั้งสติและเรียกขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือกู้ชีพมารอนำส่งโรงพยาบาล หากพบการหยุดหายใจ ต้องรีบช่วยฟื้นการคืนชีพ โดยการ“กดหน้าอก”อย่างถูกวิธีทันที!

          อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

          สลด...ดับ 5 ศพ! นิสิตจุฬาฯตกบ่อบำบัดน้ำเสีย 'ซีพีเอฟ'

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ