คอลัมนิสต์

เจาะเส้นทางยึดทรัพย์ ‘ยิ่งลักษณ์’ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถอดรหัส 'วิษณุ'จุดประเด็น 'คงต้องหยุดยึดทรัพย์ 'ยิ่งลักษณ์'ไว้ก่อนเพราะตามหาทรัพย์สินไม่เจอ' แท้จริงติดขัดตรงไหน?และเส้นทางยึดทรัพย์เป็นอย่างไร

           เป็นประเด็นขึ้นมาทันทีเมื่อ 'วิษณุ เครืองาม' รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า ได้หยุดการยึดทรัพย์ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน เพราะตามหาทรัพย์สินไม่เจอ !!นำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ต่างๆนาๆ  บ้างก็ว่าเป็นไปได้อย่างไร เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินไว้กับ ป.ป.ช.ว่ามีทรัพย์สินรวม 610.84 ล้านบาท และแจกแจงรายการทรัพย์สินไว้ละเอียดยิบว่ามีทรัพย์สินอะไรบ้างและอยู่ที่ไหน  บ้างก็ว่าคนที่มีทรัพย์สินเยอะ การติดตามหาทรัพย์ไม่น่าจะยาก ถ้าคนมีทรัพย์สินน้อยก็ว่าไปอย่าง

            อย่างไรก็ตามเมื่อ 'วิษณุ' เปิดประเด็นว่า หาทรัพย์สิน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ไม่เจอ เป้าก็พุ่งไปที่ ‘กระทรวงการคลัง’ ซึ่งมีฐานะเป็นโจทก์และเป็นผู้มีหน้าที่ชี้เบาะแสทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่ามีอะไร อยู่ที่ไหน เพื่อให้กรมบังคับคดีเข้าดำเนินการยึด-อายัด ทรัพย์สิน ว่า  กระทรวงการคลังทำอะไรอยู่ ? 

            และหลังจากตรวจสอบเรื่องนี้ไปยังกระทรวงการคลัง ได้ความว่า ได้ทำหนังสือไปยัง ป.ป.ช. แล้วเพื่อให้ ป.ป.ช. ส่งบัญชีทรัพย์สินของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ มาให้จะได้ติดตามทรัพย์สิน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามที่ได้เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินฯต่อ ปปช.ไว้  แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับบัญชีทรัพย์สินฯของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ จาก ป.ป.ช. แต่อย่างใด 

           แต่เมื่อตรวจสอบไปทาง  ป.ป.ช. ทาง ป.ป.ช. กลับบอกว่า ในเบื้องต้น ยังไม่เห็นหนังสือจากกระทรวงการคลัง และย้อนกลับว่า ที่จริงแล้วบัญชีทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ก็มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน และยังลงเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. อีกทั้ง ป.ป.ช. ก็ได้มีการตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สินตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นบัญชีฯ เรียบร้อยแล้ว  

           อย่างไรก็ตามในระบบราชการ  ก็อาจพอเข้าใจได้ว่ายึดติดกับหนังสือที่แจ้งมาเป็นทางการเพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง      

           เมื่อข้อเท็จจริง ยังค่อนข้างสับสนอยู่ ดังนั้นในเรื่องการติดตาม ยึด-อายัดทรัพย์สินของ น.ส. ยิ่งลักษณ์  ที่กำลังติดขัดอยู่นี้คงต้องรอดูกันต่อไปว่า มีการสะดุดจากตรงไหนและสาเหตุเพราะอะไรกันแน่ และจะดำเนินการต่อไปอย่างไร   

         คราวนี้มาย้อนดู เส้นทาง‘คดีแพ่ง’ที่มีการเรียกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชดใช้ 35,717 ล้านบาท ว่าเป็นอย่างไร                                                                                                                                   

      เจาะเส้นทางยึดทรัพย์ ‘ยิ่งลักษณ์’ 

            เริ่มจาก- 24 ก.ย. 2559  ‘คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง’ ซึ่งมีนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธานฯ ได้เคาะตัวเลขให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชดใช้เงินจำนวน 35,717  ล้านบาท  อันเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวของ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์’ ได้สร้างความเสียหายขึ้น   

             - 13 ต.ค.2559   กระทรวงการคลัง ได้ออกหนังสือให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์  ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว

              -19 ต.ค.59   น.ส. ยิ่งลักษณ์ ได้รับหนังสือ ซึ่งตามกฎหมายทางรอดของ น.ส. ยิ่งลักษณ์  จากการถูกบังคับคดี ยึด-อายัด ทรัพย์ ก็คือ การยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ภายใน 90 วัน นับแต่ได้รับหนังสือจากกระทรวงการคลังให้ชดใช้เงิน เพื่อให้ศาลปกครองสั่งเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลังที่เรียกให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชดใช้เงิน พร้อมไปกับยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการบังคับคดีไว้ก่อนจนกว่าศาลปกครองจะพิจารณาคดีเสร็จสิ้น  

            - 26 ธ.ค. 59  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 4 คนต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่กระทรวงการคลัง เรียกให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชดใช้เงิน  35,717 ล้านบาท  พร้อมไปกับขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ตามคำสั่งดังกล่าวหรือระงับคำสั่งให้ชดใช้เงินดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

              - 10  เม.ย. 2560  ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขอให้ทุเลาการบังคับใช้หนี้จำนวน 35,717 ล้านบาทคดีจำนำข้าว  โดยศาลปกครองเห็นว่า  เมื่อพิจารณาคำขอของผู้ฟ้องคดีและข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวนคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาแล้ว เห็นว่า ภายหลังจากผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เสร็จสิ้นใน15วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีให้ถ้อยคำต่อศาลรับกันว่า นอกจากหนังสือแจ้งเตือนดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีและขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด ในเมื่อผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีมาตรการใช้บังคับทางการปกครอง ในชั้นนี้จึงรับฟังไม่ได้ว่า หากศาลฯไม่มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาท จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง จึงเห็นว่าเงื่อนไขตามข้ออ้างของผู้ฟ้องคดี ในคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับคดี ยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ กรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลฯจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีไว้เป็นการชั่วคราว ในระหว่างการพิจารณาคดี ศาลฯจึงยกคำขอคุ้มครองชั่วคราว

             อธิบายง่ายๆ ก็คือ ศาลฯเห็นว่า ยังไม่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดี ยึด-อายัด ทรัพย์สิน จึงยังไม่มีเหตุต้องสั่งคุ้มครองชั่วคราวทุเลาการบังคับคดี จึงให้ยกคำร้อง ดังนั้นแปลความได้ว่า เมื่อเข้าสู่กระบวนการบังคับจริงๆเมื่อไหร่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ค่อยยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีเข้ามาใหม่ แล้วศาลปกครองจะพิจารณาให้อีกทีว่าจะสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอทุเลาการบังคับคดีหรือไม่

            และคำสั่งของศาลฯที่ยกคำขอทุเลาการบังคับคดีนี้ ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้  ดังนั้น ขณะนี้ คดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ศาลปกครอง จึงเหลือเพียงตัวคำฟ้องหลักที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีของศาลฯเท่านั้น 

            9 เดือนผ่านไปนับแต่ ‘คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง’ เคาะตัวเลขที่ให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ออกมา จนถึงบัดนี้ การดำเนินบังคับคดี ยึด-อายัด ทรัพย์สิน ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยังไม่คืบหน้าเป็นรูปธรรมชัดเจนสักเท่าไหร่   สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง ว่าจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ