คอลัมนิสต์

อนาคต 85 ปี ประชาธิปไตย ไปแบบ "ประนีประนอม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันที่ 24 มิ.ย. ประเทศไทยจะครบ 85 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากวันนั้นถึงวันนี้ ประชาธิปไตยแบบไทยๆเป็นอย่างไร

         สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และทีมบรรณาธิการหนังสือเบื้องแรกประชาธิปตัย ร่วมจัดราชดำเนินเสวนา เรื่อง "85 ปี ประชาธิปไตยไทยจะไปไหนดี" เนื่องในโอกาสครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475  เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475  เพื่อให้ "นักวิชาการ สายรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์" สะท้อนมุมมองแห่งบทเรียน ต่อยอดสู่อนาคตหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บังคับใช้ ร่วมกับ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยุทธศาสตร์ชาติ และ ร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูป ซึ่ง "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)" ร่วมเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก เพื่อให้ "ประเทศไทย" ต้องเดินต่อด้วยบทบังคับตามกฎหมาย 3  ฉบับ

อนาคต 85 ปี ประชาธิปไตย ไปแบบ "ประนีประนอม"

         โดยมุมมองของ อาจารย์ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สะท้อนความเห็นต่อระบอบประชาธิปไตยไทยเป็นความหนักใจ เนื่องจากภาวะสังคมมีความย้อนแย้ง ระหว่างความต้องการประชาธิปไตย กับ ระบบบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งตามกติกาที่ออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่าจะทำให้เกิดระบบประชาธิปไตยแบบประนอมอำนาจ นั่นหมายถึงประชาธิปไตยที่ไม่เต็มใบ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถประคองประชาธิปไตยให้ไปได้ ท่ามกลางเส้นทางที่ยากยิ่ง

         "ในสังคมโลก ดูอย่างการเมืองยุโรป ไม่มีพรรคการเมืองของชนชั้น รัฐบาลที่ได้คือรัฐบาลผสม เนื่องจากปัจจุบันเป็นสังคมที่กระเจิดกระเจิง  ไม่มีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของชนชั้นอีกต่อไป ขณะที่สภาพการเมืองของประเทศไทย ตอนนี้มีรถถังจอดรอมาแล้ว 3 ปี ซึ่งวงจรทางการเมืองที่เกิดซ้ำๆ ก็เหมือนกับภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอลล์ที่สร้างมาหลายภาค แต่ไม่มีความสนุกแล้ว มีแต่ความหนักใจ ทหารก็เหนื่อย ขณะที่ส่วนที่ถูกกดทับเริ่มตื่นรู้" ชาติชาย  สะท้อนความเห็น

         ทั้งนี้ "นักวิชาการจากนิด้า" มองถึงเงื่อนไขที่ทำให้สภาพการเมืองประเทศไทยเกิดวงจรอุบาทว์ซ้ำหลายรอบ ทั้งการเมือง การเลือกตั้ง ความขัดแย้ง การรัฐประหาร เพราะโครงสร้างของประเทศที่มีปรากฎการณ์และวัฒนธรรมทางการเมือง ที่มาจากการรวมศูนย์ ผ่าน "รัฐราชการ" ที่มีความดื้อ เฉื่อยชา และมีอำนาจต่อรองที่มากกว่าบทบาทของประชาชน แม้จะมีการปฏิรูประบบราชการแต่ไม่สามารถทำให้สิทธิ เสรีภาพและอำนาจของประชาชนเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ขณะที่ด้านการเมือง ผ่านพรรคการเมือง และนักการเมือง ถูกตั้งความหวังให้เป็นจุดถ่วงดุลอำนาจในระบบรัฐราชการ แต่ที่ผ่านพรรคการเมืองไม่มีความเข้มแข็ง ทำให้สภาพจึงเปรียบเหมือนการเมืองเป็นด้านที่สองของเหรียญ คือ รัฐราชการเป็นด้านหัว ส่วนการเมืองเป็นด้านก้อย ที่จุนเจือระหว่างกัน ไม่ใช่การถ่วงดุลตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง

     อนาคต 85 ปี ประชาธิปไตย ไปแบบ "ประนีประนอม"
         ด้านนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่าง สิริพรรณ นกสวน สวัสดี   มองถึงอนาคตประชาธิปไตยไทย จากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ยังคงเป็นจุดเสี่ยง เพราะด้วยศักยภาพของระบบราชการ ที่ "กรธ." คาดหวังผ่านเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ย้ายอำนาจจากตัวแทนของประชาชนไปสู่ระบบราชการและระบบทุนที่เป็นคนดี มีธรรมาภิบาล เพื่อปกครองชนชั้นล่าง และจำกัดการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชนนั้น จะทำได้ตามที่คาดหวังหรือไม่ ขณะที่กองทัพที่มีสถานะค้ำจุนระบบราชการจะต้านทานสภาพสังคมไทยได้นานหรือไม่ เพราะเชื่อว่าสภาพของสังคมปัจจุบันยากจะทนหรือยอมรับกับระบบในปัจจุบันได้ 

         "ความเป็นประชาธิปไตยไทยถูกนักวิชาการจากต่างประเทศวิพากษ์ว่าไม่มีความตั้งมั่น และถูกเรียกว่า เป็นประชาธิปไตยระบอบรูปผสม คือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความประชาธิปไตยที่ไม่สำเร็จ เพราะเกิดกระบวนการถอยออกจากประชาธิปไตยอยู่เสมอ ทั้งที่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต้องเปลี่ยนอำนาจและปฏิบัติการทางการเมืองไปสู่มือประชาชน และยอมรับกติกาเดียวกัน" นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ให้ความเห็น

         อาจารย์สิริพรรณ ยังยกข้อศึกษาของนักวิชาการเพื่อสะท้อนการสร้างถนนประชาธิปไตยที่ยั่งยืนด้วย ว่า ขึ้นอยู่กับ 5  มิติ คือ 1.มิติของพลังของกลุ่มฝ่ายค้านในสังคม ที่ไม่จำกัดเฉพาะบทบาทของฝ่ายค้านในรัฐสภาเท่านั้น  เช่น เหตุการณ์ที่โปแลนด์ หรือ ประเทศชิลี ส่วนฝ่ายค้านในสังคมไทยนั้น มีคำถามว่า กลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กันทางความคิดจะรวมพลังกันได้จริงหรือไม่ เช่น การรวมพลังต้านนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนนอก ทั้งที่เสียงสนับสนุนในรัฐสภา คือ ส.ว. กลายเป็นเสียงข้างมาก หากพรรคการเมืองไม่สามารถลดทิฐิ และผนึกกำลังสู้กับเสียง ส.ว. ได้ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือมิติประชาธิปไตยที่สำเร็จอาจไม่เกิดขึ้น, 2.มิติบทบาทของผู้นำทางการเมือง ผลงานศึกษาของนักวิชาการต่างชาติยกให้เป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยได้ แต่ที่ผ่านมาบทบาทของผู้นำทางการเมืองไทยก็ทำหน้าที่เพียง "ขัดตาทัพ" เท่านั้น 

         นักรัฐศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่า 3.มิติของการยอมรับและเห็นพ้องกับเนื้อหารัฐธรรมนูญ ที่เปรียบเหมือนแหล่งเพาะต้นกล้าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ สำหรับรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน ที่มีองค์ประกอบ 3 ฉบับใช้ร่วมกัน คือ รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 , รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ผ่านประชามติและ มาตรา44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ดังนั้นแม้ประชาชนจะให้ฉันทามติกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เนื้อหาที่ยังมีองค์ประกอบของกฎหมายอื่นร่วมใช้ด้วยนั้น อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ , 4.มิติที่กองทัพต้องยอมรับบทบาทและอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน  และ 5.มิติของการเลือกตั้งที่รวดเร็ว หลังเกิดวิกฤตทางการเมือง โดยประสบการณ์จากต่างประเทศ ใช้เวลา ประมาณ 6เดือน -13 เดือน ขณะที่ประเทศโปแลนด์ที่เปลี่ยนจากระบบคอมมิวนิสต์ เป็นประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น ใช้เวลา 30 เดือนเพราะต้องใช้กระบวนการพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ  ส่วนประเทศไทย นับแต่การยึดอำนาจ เมื่อปี 2557 หรือกว่า 3 ปี ดังนั้นโอกาสของการเลือกตั้งปี 2561  ตามโร้ดแม็พของรัฐบาลอาจเป็นเช่นนั้น แต่ตามความรู้สึกตอบได้ว่า ยาก เพราะประเมินจากคำถาม4ข้อ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้มาตรา 44 ดังนั้นจึงเป็นคำตอบที่โอกาสเกิดเลือกตั้ง ปี 2561 เป็นไปได้ยาก

อนาคต 85 ปี ประชาธิปไตย ไปแบบ "ประนีประนอม"
         ด้านความเห็นด้านนิติศาสตร์​ โดย ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มองว่า หลักการที่ทำให้ประชาธิปไตยมั่นคง ยั่งยืน นอกจากต้องมีหลักกระจายอำนาจสู่ประชาชนอย่างกว้างขวางแล้ว ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดย "รัฐบาล" ต้องยึดหลัก 3 ข้อ ประกอบด้วย คือ  หลักการบริหารงานที่โปร่งใส, หลักการตรวจสอบได้ และ หลักการแบ่งแยกอำนาจ  หากถามว่า "รัฐบาลคสช." มีปัญหาอะไร คำตอบคือ ขาดหลักการตรวจสอบและไร้หลักการแบ่งแยกอำนาจ ขาดการถ่วงดุล แม้ "พล.อ.ประยุทธ์" จะยืนยันว่าไม่โกง และไม่หวั่นไหวในอำนาจที่อยู่นาน แต่เหล่าบริวารนั้นจะยืนยันด้วยคำพูดแบบนั้นได้หรือไม่ ขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560  ที่รองรับอำนาจมาตรา 44 ที่มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พร้อมคงศักดิ์เท่ากับอำนาจทางบริหาร, อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ และ อำนาจตุลาการ ซึ่งโอกาสเกิดความผิดพลาดย่อมเป็นไปได้ และหากเกิดข้อผิดพลาดแล้ว คงทำได้เพียงทำใจ เพราะฟ้องศาลใด คงไม่มีใครรับฟ้อง

         นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ สะท้อนมุมมองด้วยว่า เชื่อว่าหาก "รัฐบาล คสช." ต้องการจะอยู่ยาวตราบเท่าที่ใจต้องการก็ทำได้ เนื่องจากมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รองรับให้รัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่บริหารต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ตามข้อสังเกต ที่รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขไปสู่การเลือกตั้ง ภายใน 150 วัน หลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับจัดทำแล้วเสร็จ หากจะเกิดกรณีที่ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. และรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนทางออกไว้ ก็อาจเป็นจุดที่นำไปสู่การอยู่ยาวได้ 

         "ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มีโอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาล ได้ 4 รูปแบบคือ  1.ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. เป็นผู้เลือกว่าพรรคไหน จะได้สิทธิร่วมเป็นรัฐบาล, 2.คสช. เป็นรัฐบาลอยู่ต่อ โดยดึงพรรคการเมืองขนาดใหญ่เข้าร่วมด้วย แต่ผมเชื่อว่าทางนี้พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางเข้าร่วม, 3.พรรคใหญ่ 2 พรรครวมกันเพื่อตั้งรัฐบาล หรือ 4. คสช. ปล่อยให้ส.ว.ที่แต่งตั้ง ลงมติเลือกนายกฯ​ โดยอิสระเพื่อไม่ให้เกิดการตีกันในระบบรัฐสภา  ซึ่งตนสนับสนุนให้ใช้ทางเลือกที่ 4  ขณะเดียวกันพรรคการเมืองต้องปฏิรูปตนเอง" ปริญญา สะท้อนมุมมอง

---

ขนิษฐา เทพจร

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ