คอลัมนิสต์

ศึกชิง“งาช้าง 400 ปี”....ใครรักษาดีกว่า..ชาวบ้านหรือรัฐ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“งาช้างศักดิ์สิทธิ์” เป็นมรดกวัฒนธรรมของบรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยง ไม่อยากให้หน่วยงานไหนเอาไปเก็บไว้ ขณะเดียวกันชาวบ้านก็วิตกว่าสักวันหนึ่งอาจโดนขโมยไปอีก

     ศึกชิง “งาช้างศักดิ์สิทธิ์” จากศาลาฤๅษีเลตองคุ กลายเป็นบทเรียนสำคัญของชาวบ้านในการดูแลรักษาทรัพย์สมบัติมรดกบรรพบุรุษ โดยเฉพาะสิ่งที่มีคุณค่าระดับ “โบราณวัตถุ” ชิ้นสำคัญ

     “งาช้างศักดิ์สิทธิ์” แกะสลักลวดลายรูปพระพุทธเจ้าสวยงามยาวเกือบ 2 เมตรนั้น ไม่มีใครรู้ว่าอายุกี่ร้อยปีกันแน่ บางคนอ้างว่า 400-500 ปี บางคนบอกว่าไม่น่าเกิน 200 ปี ชาวบ้านรู้เพียงว่าตั้งอยู่ภายใน “ศาลาฤๅษีผมยาว” เพื่อประกอบพิธีตามความเชื่อของชาวไทยกะเหรี่ยงที่หมู่บ้านเลตองคุ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก มานานแล้ว

     ย้อนไปวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ชาวบ้านรวมตัวกันไปแจ้งเจ้าหน้าที่อำเภออุ้มผางว่า งาช้าง 1 คู่ ในศาลาฤๅษีผมยาวถูกโจรกรรมหายไป คาดว่าถูกเอาออกไปทางชายแดนฝั่งพม่าแล้ว กองกำลังฝ่ายปกครองทั้งทหารและตำรวจรับรู้ดีว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะชาวบ้านให้ความเคารพงาช้างคู่นี้เป็นอย่างมาก จึงรีบขอความช่วยเหลือไปยังเครือข่ายกองทัพชนกลุ่มน้อยต่างๆ เช่น กองทัพเคเอ็นดีโอ, เคเอ็นยู, ดีเคบีเอ ฯลฯ

     ผ่านไปหลายวันยังคว้าน้ำเหลว จนกระทั่งกองทัพกะเหรี่ยงพุทธดีเคบีเอติดต่อกลับมาว่าพบงาช้างคู่นี้แล้ว บริเวณดอยพระธาตุเมาะละอิ ฝั่งตรงข้ามชายแดนอุ้มผางประมาณ 100 กิโลเมตร “ไบโซ คีรีดุจจินดา” อดีตผู้ใหญ่บ้านเลตองคุ เป็นคนลักลอบอุ้มงาช้างทั้งคู่หนักกว่า 40 กก.ข้ามชายแดนไทยไปยังอาศรมฤๅษีฝั่งพม่า เพื่อทำพิธีกรรมบางอย่างทางศาสนา ไม่ได้มีเจตนาขโมย และจะนำกลับมาคืนให้หลังเสร็จพิธี

     ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวจากพื้นที่ว่า นายประทีป โพธิ์เที้ยม นายอำเภออุ้มผาง ต้องใช้เวลาเจรจายืดเยื้ออยู่นานหลายวันกว่ากองกำลังกะเหรี่ยงจะยอมคืนให้ เพราะนายไบโซมีแผนเปลี่ยนสถานะเป็นฤๅษีประจำดอยพระธาตุเมาะละอิ การนำงาช้างคู่นี้มาด้วยเพื่อเอากลับมายังต้นตระกูล เพราะเป็นงาช้างที่ได้มาจากช้างในพื้นที่กะเหรี่ยง ไม่ใช่พื้นที่ประเทศไทย เรื่องนี้ยุติได้เพราะผู้นำกองทัพกะเหรี่ยงดีเคบีเอตัดสินใจออกคำสั่งเด็ดขาด “ให้คืนไทย” เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา

     จากคดีงาช้างศักดิ์สิทธิ์ข้างต้น นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณวัตถุตั้งข้อสังเกตกับ “ทีมข่าวคม ชัด ลึก” ว่า พื้นที่ชุมชนทั่วประเทศไทย ยังมีโบราณวัตถุทรงคุณค่าแบบนี้อีกมาก และเป็นประเด็นถกเถียงมาตลอดว่า “รักษาไว้เองหรือมอบให้รัฐเก็บแบบไหนดีกว่า” แต่สุดท้ายส่วนใหญ่แอบเก็บไว้เองตามสถานที่ราชการ วัด ศาลากลาง หรือในบ้านเจ้าสัว เศรษฐีหรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

     “ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เชื่อว่ากรมศิลป์ได้ขึ้นทะเบียนไว้แค่ไม่เกินร้อยละ 20 มีอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 เก็บไว้หรือแอบซ่อนไม่เอามาขึ้นทะเบียน เพราะกลัวมีใครมาแอบรู้สมบัติดั้งเดิมของตนเอง รวมถึงไม่สามารถแจกแจงได้ว่าเอาโบราณวัตถุเหล่านี้มาจากไหน หรือได้มรดกตกทอดมาอย่างไร ทั้งที่จริงๆ แล้วกรมศิลป์ไม่ได้ติดใจในเรื่องเหล่านี้มากนัก เพียงแต่จุดประสงค์การขึ้นทะเบียนเพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานการศึกษาวิจัยด้านโบราณคดี ตีความตามกฎหมายก็อนุญาตให้เอกชนเก็บรักษาไว้ได้อยู่แล้ว กรณีงาช้างคู่นี้เป็นตัวอย่างที่ดี ควรทำเรื่องขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุเอาไว้ จะได้มีหลักฐานว่าเคยตั้งอยู่ที่ประเทศไทย ถ้าพบที่ไหนต้องส่งคืนให้ไทยตามหลักปฏิบัติสากล แต่ถ้าไม่เคยขึ้นทะเบียนก็ไม่อาจแอบอ้างเป็นเจ้าของ ต้องไปพิสูจน์ด้วยวิธีอื่นๆ“

     ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณวัตถุข้างต้นกล่าวแนะนำต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องโบราณวัตถุที่มาจาก “เศษกระดูกหรือซากสัตว์” เช่น ฟันปลาพะยูน หัวกะโหลกนกเงือก ฯลฯ ควรมีการปรับแก้กฎหมายส่วนนี้ให้ชัดเจน เพื่อฝ่ายเอกชนที่เป็นเจ้าของจะได้นำมาขึ้นทะเบียนหรือมอบเป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดินได้ ปัญหาที่พบคือ ทุกฝ่ายอยากเก็บรักษาโบราณวัตถุไว้กับตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย ทำให้ความรู้ด้านโบราณคดีของไทยไม่พัฒนา

     ทั้งนี้ “โบราณวัตถุ” ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ระบุว่า หมายถึง “สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี”

     ตามหลักวิชาการโบราณคดีแบ่งโบราณวัตถุเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.โบราณศิลปวัตถุ (Artifacts) หรือวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ศิลาจารึก เครื่องปั้นดินเผาหม้อ ไห เครื่องประดับ รูปภาพ ประติมากรรม จิตรกรรม ฯลฯ และ 2.นิเวศวัตถุ (Ecofacts) วัตถุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือตามสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มนุษย์ไม่ได้ประดิษฐ์ขึ้นเอง เช่น กระดูกสัตว์ เมล็ดพืช ฯลฯ

     อดีตนิติกรสังกัดกรมศิลปากร อธิบายวิธีพิจารณาว่าสิ่งของใดเป็น "โบราณวัตถุ” หรือไม่เป็นนั้น ให้ดูจากองค์ประกอบ 3 ประการ คือ 1.มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ 2.มีคุณค่าทางโบราณคดี และ 3.มีคุณค่าทางศิลปะ สำหรับงาช้างที่กล่าวถึงนั้น มีทั้งคุณค่าทางประวัติศาสตร์และทางศิลปะ หากเป็นงาช้างทั่วไปที่ไม่ได้แกะสลักลวดลายทางศาสนาและมีอายุไม่กี่ปี อาจไม่ถือว่าเข้าองค์ประกอบของโบราณวัตถุ

     “กฎหมายให้อำนาจอธิบดีไว้ ถ้าเห็นว่าโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ไม่ได้อยู่ในครอบครองของกรมศิลป์ แต่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางศิลปะ ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี ก็ขอขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ เพื่อสงวนไว้เป็นสมบัติของชาติ เมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว จะเคลื่อนย้ายไปไหนต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน ในกรณีงาช้างของหมู่บ้านกะเหรี่ยงนี้ น่าจะขอขึ้นทะเบียน เพราะในอนาคตจะได้ใช้ติดตามได้ง่ายถ้าหายไปอีก” ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายกล่าวแนะนำ

     ทั้งนี้ หลังจากอธิบดีกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนแล้ว โบราณวัตถุชิ้นนั้น หากใครต้องการขนย้าย ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อน ใครที่ทำโบราณวัตถุชำรุด หักพัง เสียหายหรือสูญหายจะมีโทษตามกฎหมายกำหนดไว้ โดยเฉพาะการนำออกนอกประเทศ ทุกวันนี้กรมศิลปากรมีโครงการสำรวจจัดทำข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในความครอบครองของเอกชน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในอนาคต

     สำหรับ “งาช้างศักดิ์สิทธิ์” ข้างต้น เปรียบเสมือนโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยงที่แกะสลักงานศิลปะด้วยความศรัทธาในศาสนา ชาวบ้านให้ความเคารพและหวงแหนเป็นอย่างยิ่ง ไม่อยากให้หน่วยงานไหนเอาไปเก็บไว้ ขณะเดียวกันชาวบ้านก็เกิดวิตกกังวลว่าสักวันหนึ่งอาจโดนขโมยไปอีก

     “อนันต์ ชูโชติ” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุของไทยส่วนใหญ่จะมี 3 ส่วนใหญ่ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ วัด และชุมชนหรือเอกชน ที่ผ่านมากรมศิลปากรสนับสนุนให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลรักษาโบราณวัตถุ โดยเฉพาะกรณีงาช้างคู่นี้ถือว่ามีคุณค่าทางจิตใจต่อคนหมู่บ้านกะเหรี่ยง และถือเป็นโบราณวัตถุสำคัญชิ้นหนึ่ง เพียงแต่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร

     “ตอบยากว่าชาวบ้านหรือรัฐให้ใครเก็บรักษาดีกว่ากัน แต่ตอนนี้คงต้องส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านให้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุให้ถูกต้องตามกฎหมาย จากนั้นชาวบ้านเก็บรักษาในศาลาหรืออาศรมฤๅษีได้เหมือนเดิม ถ้างาช้างถูกใครลักลอบเอาออกไปนอกประเทศอีกครั้งจะได้มีหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นโบราณวัตถุของไทยและเคยตั้งอยู่ในชุมชนแห่งนี้” อธิบดีกรมศิลปากรกล่าว

     วัตถุสิ่งของใดที่ถูกยกย่องเป็น “โบราณวัตถุ” หมายความว่าวัตถุชิ้นนั้นได้กลายเป็นทรัพย์สมบัติมรดกของแผ่นดิน เพราะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เกินกว่าจะตกอยู่ในความครอบครองของคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มเดียว

     คำถามว่า “ชาวบ้านหรือรัฐใครเก็บรักษาดีกว่ากัน ?” คงไม่สามารถตอบชัดเจนได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ

     เพียงแต่ “กลไกการรักษาคุ้มครองโบราณวัตถุที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก” คือ การบันทึกรายละเอียด ถ่ายรูปทุกซอกทุกมุม และขึ้นทะเบียนอย่างเป็นระบบ เพราะยิ่งเก็บรายละเอียดเอาไว้มากเท่าไรก็จะเป็นประโยชน์ในอนาคตมากเท่านั้น เพราะแม้โบราณวัตถุชิ้นนั้น ชำรุด แตกหักหรือสูญหายไป นักโบราณคดีหรือประชาชนทั่วไปยังสามารถศึกษาต่อยอดองค์ความรู้จากข้อมูลและรูปภาพที่ถูกบันทึกไว้แล้ว

     โดยเฉพาะ “งาช้างศักดิ์สิทธิ์” ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ ฝีมือของช่างศิลปะท้องถิ่นอันมีคุณค่าหาชมได้ยาก ไม่ว่าต้นตอการผลิตหรือเจ้าของงาช้างจะเป็นของชนเผ่าใดก็ตาม แต่ในวันนี้ “งาช้าง” คู่นี้ถือเป็นมรดกของมนุษยชาติ ที่คู่ควรแก่การขึ้นทะเบียนเก็บไว้ให้มนุษย์รุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป

 

6 ขั้นตอน “ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ”

1.ออกสำรวจว่าแหล่งโบราณวัตถุ วัดเก่าแก่ พิพิธภัณฑสถานเอกชน บ้าน ฯลฯ

2.ทำบัญชีรายละเอียดและถ่ายภาพ

3.วิเคราะห์ วิจัย และประเมินคุณค่า

4.เสนอข้อมูลให้คณะกรรมการตรวจพิจารณาคัดเลือก

5.นำเสนอให้อธิบดีกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

6.แจ้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้ทราบ พร้อมวิธีการดูแลรักษา รวมถึงวิธีการติดตามเมื่อถูกโจรกรรมสูญหาย

     ทีมข่าวรายงานพิเศษ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ