คอลัมนิสต์

สนช. เข็นไพรมารี่โหวต ใน “ร่างกฎหมายพรรคการเมือง” สู้ไหวไหม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สนช. กำลังจะพิจารณาร่างกฎหมายพรรคการเมือง ท่ามกลางกระแสข่าวเตรียมคว่ำร่าง เพราะยังมีหลายเรื่องเห็นไม่ตรงกับ กรธ. ไพรมารีโหวต จะผ่านหรือไม่

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับที่พิจารณาโดย “คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เป็นประธาน” เตรียมจะเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม สนช. วันที่ 15 มิถุนายนนี้

 

ท่ามกลางกระแสสะพัดว่า อาจจะถูกโหวตตก! เพราะ ฉบับที่แก้ไขโดย “กมธ.สนช.” นั้น มีเงื่อนไขที่หลายฝ่ายไม่พอใจ เช่นเดียวกับ ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับ “กรธ.” ที่ยังเป็นปัญหาของเส้นทางปฏิรูปการเมือง

 

หากไล่เรียงจากร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ทั้ง 142 มาตรา กมธ.สนช. มีการแก้ไข เพิ่มเติม ทั้งสิ้น 56 มาตรา โดยในนี้มีมาตราเพิ่มใหม่ 4 มาตรา ตัดออก1 มาตรา โดยมี กมธ. คนสำคัญที่สงวนความเห็น คือ “ธนาวัฒน์ สังข์ทอง กมธ.ตัวแทนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)" และมี สนช. 5 คนที่สงวนคำแปรญัตติ

 

โดยสาระที่น่าจับตาสำหรับการแก้ไข โดย “กมธ.สนช. เสียงข้างมาก” และการอภิปรายโต้แย้งของสมาชิก มีดังต่อไปนี้

ประเด็นว่าด้วย ทุนประเดิมพรรคการเมือง มาตรา 9 ซึ่ง “กมธ.สนช.” แก้ไขให้เกิดทางเลือก ว่า พรรคจะมีทุนประเดิมเพื่อใช้ในกิจการของพรรคหรือไม่ก็ได้ แต่หากจะมีทุนประเดิม พรรคละกี่บาท โยนอำนาจให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด โดยมีเพดานต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต คือ 1.5 ล้านบาท โดยมาจากการผู้ร่วมก่อตั้งที่ลงขัน คนละ 1,000 บาท ไม่เกิน 5หมื่นบาท

 

บทบัญญัติของทุนประเดิมที่ถูกแก้ไข โดย “กมธ. เสียงข้างมาก” ยังมี กมธ.เสียงข้างน้อย คือ “ธนาวัฒน์” ขอสงวนความเห็นเพื่อยืนยันให้กลับไปใช้ของเดิม ที่กำหนดชัดเจนว่าทุกพรรคต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1ล้านบาท

ประเด็น การตรวจสอบสมาชิกพรรค เพิ่มเนื้อหาใหม่ คือ “ให้สิทธิ บุคคลที่ถูกพรรคแอบอ้างชื่อไปเป็นสมาชิกพรรค ยื่นนายทะเบียน เพื่อขอให้ลบชื่อและสถานะความเป็นสมาชิกของพรรคนั้นออก”และเพิ่มบทลงโทษ “พรรค” ที่มีพฤติกรรมแอบอ้างชื่อบุคคลไว้เป็นมาตราใหม่ในหมวดของบทกำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แถมยังมีสิทธิถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ที่มีพฤติกรรมแอบอ้างอีก 5ปี ตามคำสั่งศาลด้วย

 

ส่วนความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง มีถ้อยคำเพิ่มใหม่ ในมาตรา 27 ที่ให้เริ่มนับสมาชิกภาพ “ตั้งแต่วันที่ชำระค่าบำรุงพรรคการมืองตามจำนวนที่กำหนดไว้” ซึ่งตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดให้สมาชิกต้องจ่ายปีละ 100 บาท

มาตรา 33 ว่าด้วย “สาขาพรรคการเมือง” ที่บทบัญญัติเดิมกำหนดให้ภายใน 1 ปี พรรคต้องหาสมาชิกให้ได้ 5,000 คน พร้อมกับจัดตั้งสาขาพรรคในแต่ละภาคๆละ 1สาขา ซึ่งแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในภาค ไม่ต่ำกว่า 500 คน 

ทั้งนี้ “กมธ.สนช.” เขียนบทบัญญัติเพิ่มใหม่ โดยขีดเส้นให้การยุบสาขาพรรคการเมืองในภาคใดที่มีสมาชิกน้อยกว่า 500 คน และไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามกติกา หรือประเด็นที่ “กกต.” ท้วงติง

 

ขณะเดียวกันในมาตราว่าด้วยการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองในจังหวัด ที่กำหนดให้มีมีสมาชิกเกิน 100 คน ตามที่ มาตรา35 เขียนไว้ ถูกปรับแก้ โดยลดสเกลจาก “จังหวัด” ในร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับ “กรธ.” เป็น “เขตเลือกตั้ง” ในจังหวัดที่มีสมาชิกเกิน 100 คน มีสิทธิเลือกตัวแทนพรรค เพื่อทำกิจกรรมสำคัญ เช่น เข้าประชุมใหญ่ เพื่อทำนโยบาย, คำประกาศอุดมการณ์, ร่วมคัดผู้สมัครรับเลือกตั้ง

 

โดยรายละเอียดของการได้มาซึ่งตัวแทน ปรับไปใช้การเลือกโดยสมาชิก แทนการแต่งตั้งจากผู้บริหารพรรค ซึ่งประเด็นนี้ “กมธ.ตัวแทนกรธ.” ขอสงวนสิทธิอภิปรายเพื่อกลับไปใช้บทบัญญัติเดิมของกรธ.

 

ขณะที่ในหมวดว่าด้วยการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง  “กมธ.สนช.” เสียงข้างมากปรับแก้ โดยยึดหลักการใหม่ คือการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรค ผ่านการเลือกตัวแทน หรือ “ระบบไพรมารี่โหวต”

 

ทั้งนี้ “กมธ.เสียงข้างมาก “ขอเพิ่มมตราใหม่ 2 มาตรา ว่าด้วยวิธีการได้มาซึ่งผู้สมัคร ส.ส.เขต และ วิธีคัดสรร ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยเนื้อหามีสาระที่เป็นหลักการเดียวกันคือ ให้ “สมาชิกพรรคในสาขา, ภูมิลำเนาในสาขา และ สมาชิกพรรคในจังหวัด” ที่มีวงประชุมที่ละไม่ต่อกว่า 100 คน ลงคะแนนเลือก “ตัวแทนที่เหมาะสม” จากนั้นให้ส่งชื่อเพื่อขอความเห็นชอบจาก “กรรมการบริหารพรรค” ที่นี้วิธีการเฟ้นหา “ตัวแทนลงเลือกตั้ง” ให้สิทธิพรรคทำก่อนที่จะมีกฎหมายประกาศวันเลือกตั้งได้

หลักการนี้ “พล.อ.สมเจตน์” ยืนยันว่าจะเปิดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมกำหนดผู้สมัครของพรรคอย่างแท้จริง และแก้ปัญหาการครอบงำและตัดสินใจเด็ดขาด จาก นายทุนพรรค

อย่างไรก็ดี “ธนาวัฒน์” กมธ.ตัวแทนจาก กรธ.” ขอสงวนความเห็นเพื่อโต้แย้งกลับไปใช้ระบบส่งผู้สมัครตามร่างของกรธ. ที่ให้สิทธิ “สมาชิกพรรคในภูมิภาค” มีสิทธิเพียงแค่ให้ความเห็น และตัด 2 มาตราที่ กมธ.เสียงข้างเพิ่มใหม่ ทิ้ง

 

ขณะที่หมวดว่าด้วยกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง แก้ไขในสัดส่วนเงินอุดหนุนพรรคการเมือง เดิมแบ่งเป็น 3 ก้อน จาก “เงินบริจาค โดยผู้เสียภาษี” ซึ่งพรรคการเมืองจะได้รับเงินส่วนนี้เต็มจำนวนที่มีผู้บริจาค – “เงินสมทบอัตราที่ไม่มากกว่าค่าบำรุงพรรคที่สมาชิกอุดหนุนแต่ละปี” คิดเป็นร้อยละ 40 – “เงินอุดหนุนที่คิดตามอัตราเฉลี่ยของคะแนนเสียงที่พรรคได้รับช่วงเลือกตั้ง แต่หากปีไหนไม่มีเลือกตั้ง ให้จัดสรรตามสัดส่วนของอัตราเงินที่ได้จากการบริจาคผ่านผู้เสียภาษี” คิดเป็นร้อยละ 40 ทั้งนี้ “กมธ.” ได้เพิ่มก้อนใหม่ คือ “เงินอุดหนุนตามจำนวนสาขาของพรรคการเมือง” ส่วนนี้จะมีอัตราร้อยละ 20

อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ “กมธ.สนช.” เพิ่มวรรคใหม่เข้าเพื่อเป็นเงื่อนไข ไม่อุดหนุนเงิน คือ “หากพรรคไม่มีการจัดหาทุนประเดิมครบตามจำนวน จะหมดสิทธิได้รับเงินอุดหนุนส่วนที่เป็นเงินสมทบ”

หมวดว่าด้วยบทกำหนดโทษ มาตรา 99 ทาง กมธ.สนช. ปรับลดวงเงินที่ใช้ลงโทษ “กรรมการบริหารพรรค” ที่ถูกสั่งให้พ้นตำแหน่ง ห้ามยุ่งเกี่ยว, แทรกแซง, ทำกิจกรรมในพรรคการเมืองใด จากเดิมมีโทษปรับสูงสุด 3 ล้านบาท ถูกแก้ไขเป็นโทษปรับสูงสุด 3 แสนบาท ขณะที่บทลงโทษด้วยการจำคุกนั้น ยังคงอัตราเดิม คือ 7- 15 ปี

 

ขณะที่บทเฉพาะกาล นั้น “กมธ.สนช.” ไม่ได้แตะ แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลง บทว่าด้วย การคงสภาพ “พรรคการเมือง” ที่จัดตั้งไว้ก่อนหน้าที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองใหม่บังคับใช้ รวมถึงบุคคล ที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองและพรรคการเมืองที่ถูกคำสั่งให้ “ยุบพรรค” ก่อนที่มีกฎหมายใหม่เช่นกัน ซึ่ง ความเป็นพรรค ยังคงอยู่ และโทษตามระยะเวลาที่ “นักการเมือง” ที่ถูกตัดสิน ยังได้รับ

 

มีเพียงปรับ “ไทม์ไลน์และหลักเกณฑ์เล็กน้อย” ของพรรคการเมืองที่ต้องปรับระบบให้เข้ากับกฎหมายใหม่ ได้แก่ ว่าด้วยการแจ้งเงิน หรือ ทรัพย์สินพร้อมหลักฐานที่กันเป็นทุนประเดิม ต่อ “เลขาธิการ กกต.” จากเดิมต้องทำภายใน 180 วัน ปรับเป็นก่อนวันส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือ ก่อนวันที่ได้รับเงินอุดหนุน, การเปิดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับ, คำประกาศอุดมการณ์ของพรรค ที่กำหนดจำนวนผู้ร่วมประชุมสัดส่วนของหัวหน้าสาขาพรรค ไม่น้อยกว่า 4 สาขา และสมาชิกพรรค ไม่น้อยกว่า 250 คนเพื่อเกิดความชัดเจนมากขึ้น

 

 

ทั้งนี้ในบทเฉพาะกาลที่มีบทยกเว้นของ การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรณีที่พรรคไม่มีสาขาพรรคไม่ครบ 4ภูมิภาค ได้ปรับแก้ในบุคคลที่ประกอบเป็นกรรมการสรรหา ในสัดส่วนของตัวแทนภูมิภาค ซึ่งกำหนดให้เป็นผู้มีตำแหน่งหัวหน้าสาขาพรรค และตัวแทนประจำจังหวัด จำนวน 7 คนจากเดิมที่ระบุเพียงตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเท่านั้น ส่วนกรณีที่ตัวแทนในภูมิภาคมีไม่ครบ 7 คนให้ใช้วิธีการเลือกกกันเองของตัวแทนสาขาให้ครบจำนวน เพื่อทำหน้าที่สรรหาผู้สมัคร ร่วมกับกรรมการบริหารพรรค อีก 4 คน อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ “ธนาวัฒน์ ตัวแทนกรธ.ที่นั่งในกมธ.” ขอสงวนความเห็นให้กลับไปใช้เนื้อหาของ กรธ. ทั้งหมด ซึ่งเปิดโอกาสตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดทั้งหมดเป็นกรรมการสรรหา

 

นอกจากนั้นในมาตราที่สอดคล้องกันกับการส่งผู้สมัครรรับเลือกตั้งครั้งแรกของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่ ที่เพิ่มขึ้นใหม่ กำหนดเงื่อนไข การส่งผู้สมัครได้ทุกเขตเลือกตั้งของจังหวัดที่ที่พรรคนั้นมีสาขาและมีตัวแทนพรรคประจำจังหวัด” โดยประเด็นนี้ “กรธ.” ติดใจและขอตัดออก เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างเงื่อนไขที่ยากเกินปฏิบัติ

 

และนี่เป็นเพียส่วนหนึ่งของการปรับแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อให้ “พรรคการเมือง” นำไปปรับใช้ แต่ท้ายที่สุดบทบัญญัติจะตรงตามที่แก้ไขโดย “กมธ.สนช.” หรือไม่ ต้องติดตาม

------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ