คอลัมนิสต์

เปิด “สัญญาประชาคม” สร้างความปรองดอง ฉบับ ผบ.ทบ.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิด “สัญญาประชาคม” สร้างความปรองดอง ฉบับ ผบ.ทบ.

 

  
          การจัดทำร่างสัญญาประชาคม เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล และ คสช. ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาร ผู้บัญชาการทหารบก นั่งเป็นประธานในการพิจารณาจัดทำ                       
          และหลังจากการพิจารณาในรายละเอียดในวันนี้แล้ว พล.อ.เฉลิมชัย จะเรียกประชุมคณะอนุกรรมการดังกล่าวในวันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายนนี้ นัดสุดท้าย ก่อนที่จะทำเป็นรูปเล่มเสนอต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ เพื่อเห็นชอบ  
          หลังจากนั้นจะส่งต่อให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทั้ง 4 กองทัพภาคจัดเวทีสาธารณะกองทัพภาคละ 1 เวที เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับร่างสัญญาประชาคมดังกล่าว ก่อนจะนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ หรือ ปยป. ที่จะเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้  

เปิด “สัญญาประชาคม” สร้างความปรองดอง ฉบับ ผบ.ทบ.


          สำหรับร่างสัญญาประชาคม ทางคณะอนุกรรมการชุดที่ 3 ได้สรุปและสังเคราะห์บริบทของปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตถึงปัจจุบัน โดยในส่วนของบทนำมีข้อความตอนหนึ่งว่า "สังคมในอดีตเป็นสังคมที่เข้มแข็งประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีการช่วยเหลือเกื้อกูลพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ประพฤติตามธรรมเนียม จารีตประเพณีอันดีงาม ยึดถือคุณค่าของศาสนา เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต ทำให้สังคมอยู่อย่างสงบสุข   
          จากการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการเข้ามาของวัฒนธรรม ค่านิยมจากต่างชาติ ซึ่งบางส่วนส่งผลให้สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเกิดปัญหาต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น การขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การขาดการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม การแสวงหาประโยชน์จากช่องว่างกฎหมาย การขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดการเข้าถึงสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ตลอดจนการกระจายความเจริญไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างสังคมเมืองกับชนบท การปิดเสรีภาพทางการค้าและมีกลุ่มทุนจากต่างประเทศเข้ามาประกอบกิจการ ทำให้ชุมชนและระบบเศรษฐกิจถูกทำลาย เป็นต้น
          ขณะเดียวกันปัญหาการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ที่เป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่องนั้น ได้ยกระดับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต ทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นและขยายเป็นวงกว้างไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ มีการจัดตั้งมวลชน กลุ่มสนับสนุนและกลุ่มเห็นต่าง ผู้นำมวลชนของแต่ละกลุ่ม ได้มีการชี้นำและกระตุ้นให้มวลชนใช้ความรุนแรง สร้างความเกลียดชังต่อกัน ก่อให้เกิดสถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างกลุ่มมวลชน เมื่อรวมกับปัญหาต่างที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ทำให้ประเทศเดินเข้าสู่ทางตัน และอยู่ในลักษณะติดกับ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม  
          และจากสถานการณ์ความวุ่นวายของบ้านเมือง แม้ประเทศไทยจะมีสิ่งที่ดีงามอื่นๆ อยู่มาก แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศให้เกิดความก้าวหน้าได้อย่างเต็มที่ ประเทศไทยจึงต้องหยุดชะงัก และสูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั้งภูมิภาค และส่วนอื่นๆ ของโลก ต่างมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  
          ดังนั้นจึงถึงเวลา และนับเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนชาวไทยทุกคน จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างจริงในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ที่เป็นปัญหาที่วิกฤติรื้อรัง และ หมักหมม มาเป็นเวลานาน ให้ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง เพื่อให้ประเทศไทยเกิดสันติสุข สามารถก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ได้อย่างราบรื่น และก้าวเดินต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรี มีความเจริญเติบโตทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศทั่วโลก   

เปิด “สัญญาประชาคม” สร้างความปรองดอง ฉบับ ผบ.ทบ.
     

          สำหรับการเริ่มต้นจากกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยความเห็นร่วมเพื่อสร้างความปรองดองสามัคคี จากสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น และจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และภาคประชาสังคมทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ได้นำมาจัดทำเป็นความเห็นร่วมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง สามารถนำมาใช้ยึดถือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ ได้อย่างแท้จริง อย่างยั่ง และเป็นรูปธรรม โดยพวกเราทุกคนยืนยัน และให้คำมั่นต่อกันว่า จะปฏิบัติหน้าที่ของตนเองในฐานะพลเมืองไทย ด้วยความสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบที่เรามีต่อประเทศชาติ เพื่อร่วมมือร่วมใจ กันนำพาประเทศ ก้าวข้ามปัญหา และอุปสรรคทั้งปวงไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทาง ที่พวกเราทุกคนคาดหวัง" 
          สำหรับกรอบความเห็นร่วม เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองที่อนุกรรมการฯ ได้จัดทำมาเป็นร่างสัญญาประชาคม ได้แก่           1.ประชาชนคนไทยทุกคน พึงร่วมมือกันสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดอง เพื่อให้ประเทศไทย เป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยประชาชน พึ่งมีความรู้ ความสามารถในระบอบประชาธิปไตย ที่แท้จริง ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้อง และ เหมาะสม ในกรอบของกฎหมาย มีส่วนร่วมกับการเมือง ภาคประชาชน ยอมรับควมแตกต่างทางความคิด และส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใสบริสุทธิ์ยุติธรรม และยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นฉันทามติของประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจรัฐ และการแก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกในระบบรัฐสภาอย่างสันติ   
          2.ประชาชนคนไทย ทุกคนพึงน้อมนำศาสตร์พระราชา โดยเฉพาะหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพสุจริต มีคุณธรรม จริยธรรม มีไมตรีจิตต่อกัน พึ่งพาตนเองได้ และสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพของท้องถิ่น เศรษฐกิจ รากฐาน ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเสรี และ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้ทั่วถึง ร่วมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาตนเองให้มีขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ การแข่งขันด้านเศรษฐกิจ  
          3.ประชาชนคนไทย พึงยึดมั่นในหลักจริยธรรม คุณธรรม และ ศีลธรรม ในการดำเนินชีวิต ปลูกฝังความซื่อสัตย์ของตนเอง และ ครอบครัว ไม่ร่วมมือ หรือ สนับสนุนการทุจริต การประพฤติมิชอบ รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบไม่ให้มีการทุจริตในทุกระดับ เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็ง ปราศจากคอรัปชั่น  
          4.ประชาชนคนไทยทุกคน พึงร่วมมือกันสนับสนุน การอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ใช้ประโยชน์ทรัพยากรของชาติอย่างรู้คุณค่า ยอมรับ และ เชื่อมั่นในการกระบวนการจัดหาทรัพยากร ที่ต้องสุจริต และ ยุติธรรม โดยประชาชน พึ่งมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง บนพื้นฐานของประชาชน ส่วนรวมของประเทศ 
          5.ประชาชนคนไทยทุกคน พึงใช้ความรอบคอบในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ และร่วมกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีการบิดเบือนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม   
          6.ประชาชนคนไทย ทุกคนพึงให้การสนับสนุนส่งเสริมคุณภาพชีวิต ด้านสาธารณสุข รวมทั้งการให้การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเท่าเทียม สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
          7.ประชาชนคนไทย ทุกคนพึงสนับสนุน และส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม โดยยึดถือหลักความถูกต้อง ชอบธรรม ด้วยเหตุผล มีความเสมอภาค เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องบใช้อำนาจภายใต้กฎหมายที่กำหนด มีความเป็นอิสระ ไม่เลือกปฏิบัติ มีระบอบการตรวจสอบองค์กรที่ใช้อำนาจตามกระบวนการยุติธรรม โดยทุกฝ่ายจะต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมเพื่อความเรียบร้อยของสังคม  
          คำถามคือ...สัญญาประชาคมนี้จะสร้างความสามัคคีปรองดองได้จริงหรือไม่?
  

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ