คอลัมนิสต์

ผักไฮโดรโปนิกส์... เสี่ยง “มะเร็งลำไส้” จริงหรือไม่ ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผักไฮโดรโปนิกส์... เสี่ยง “มะเร็งลำไส้” จริงหรือไม่ ?

 
          กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในกลุ่มผู้รักสุขภาพ หลังมีการเผยแพร่และแชร์ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า “ผักไฮโดรโปนิกส์” (hydroponics) หรือ “ผักน้ำ” ไม่ปลอดภัย อาจก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ เนื่องจากผู้ปลูกผักด้วยวิธีนี้ มักใส่น้ำยาที่มีส่วนผสมปุ๋ยไนโตรเจน หรือเรียกว่า “ไนเตรท” สูงเกินค่ามาตรฐาน เพราะต้องการให้ใบผักดูสวยอวบ สีเขียวสดใส ...ขณะที่อีกฝ่ายตอบโต้ว่าไนเตรทไม่เป็นอันตรายขนาดนั้น และไม่มีผลวิจัยยืนยันว่าทำให้เกิดมะเร็งด้วย !?!

          ย้อนไปดูความเป็นมาต้นเหตุของ “การเตือนภัยผักน้ำ” มีการแชร์ข้อมูลเหล่านี้ผ่านสื่อออนไลน์และหนังสือพิมพ์หลายฉบับตั้งแต่ปี 2553 โดยอ้างอิงผลงานของนักวิจัย สรุปเนื้อหาได้ดังนี้

          “พบสารไนเตรทในผักไฮโดรโปนิกส์จะส่งผลให้เกิดมะเร็ง เปิดเผยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่คณะนักวิจัยร่วมกันศึกษาการสะสมไนเตรทในพืชผักที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากมีน้อยคนที่จะทราบว่า ในพืชผักยังมีธาตุอาหารชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต คือ ไนโตรเจน ซึ่งพืชจะนำไนโตรเจนไปใช้ในรูปของไนเตรท และหากมีไนโตรเจนมากเกินความต้องการของพืช อาจทำให้เกิดการสะสมไนเตรทในดินและพืชมากขึ้น เมื่อรับประทานเข้าไปอาจจะทำให้ไนเตรทไปรวมตัวกับสารเหนี่ยวนำที่ทำให้เกิดมะเร็ง ดังนั้นผู้บริโภคผักที่มีปริมาณไนเตรทสะสมอยู่สูง จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ นับเป็นภัยเงียบต่อสุขภาพผู้บริโภคโดยตรง

          ผลการศึกษาการสะสมไนเตรทในผักคะน้า ผักกาดหอม และผักบุ้ง ที่จำหน่ายทั้งในตลาดสดและศูนย์การค้า โดยแบ่งผักออกเป็นประเภทผักไฮโดรโปนิกส์ ผักอินทรีย์ ผักปลอดสารพิษ และผักที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมี นำมาวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์พบว่า ผักที่ปลูกในน้ำยาไฮโดรโปนิกส์มีแนวโน้มการสะสมไนเตรทสูงสุด เพราะวิธีปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์มีการเติมน้ำยาให้พืชเจริญเติบโตมากเกินความจำเป็น หรือมากเกินความต้องการตามธรรมชาติของผัก โดยผักคะน้าไฮโดรโปนิกส์มีค่าเฉลี่ยของไนเตรทสูงที่สุด 4,529 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัมน้ำหนักสด รองลงมาคือ ผักบุ้ง มีปริมาณไนเตรท 3,978 มิลลิกรัม และผักกาดหอมมีปริมาณไนเตรท 1,729 มิลลิกรัม โดยค่ามาตรฐานที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ในผักรับประทานใบให้มีค่าไนเตรทไม่เกิน 2,500 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม จะเห็นว่าผักคะน้าและผักบุ้งไฮโดรโปนิกส์มีปริมาณไนเตรทเกินมาตรฐาน ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีข้อกำหนดมาตรฐานค่าไนเตรทในพืชผัก ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกร และผู้ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ควรลดปริมาณการใส่น้ำยา หรือเติมน้ำเปล่าให้มากขึ้น ส่วนการปลูกผักแบบอื่นๆ ก็ไม่ควรใส่ปุ๋ยมากเกินไป

          แนวทางในการลดไนเตรทในพืชผักก่อนการบริโภค โดยนำผักคะน้าและผักบุ้งไปต้มน้ำเดือดหรือทำการนึ่งเป็นเวลา 10 นาที ซึ่งสามารถช่วยลดค่าไนเตรทในผักบุ้งและผักคะน้าลง 47% นอกจากนี้ การแช่ผักคะน้าและผักบุ้งในน้ำ 1 วัน การแช่ในด่างทับทิมและการแช่ในน้ำเกลือ ก็มีแนวโน้มที่จะช่วยทำให้ค่าไนเตรท-ไนโตรเจนลดลงด้วยเช่นกัน จึงขอแนะนำให้ผู้บริโภคควรทำความสะอาดพืชผัก ผลไม้ทุกชนิด ทั้งประเภทพืชที่ปลูกแบบปลอดสารเคมี ปลูกแบบชีวอินทรีย์ ปลูกแบบไม่ใช้ดิน ก่อนนำมารับประทาน ก็จะเป็นการลดความเสี่ยงของภัยเงียบจากพิษสะสมที่เกิดจากไนเตรทในพืชได้”

          ขณะเดียวกัน “กองควบคุมอาหาร” สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ชี้แจงว่า

          “ยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยว่าการรับประทานผักที่มีไนเตรทสะสมอยู่สูงจะก่อมะเร็งได้หรือไม่ ผู้บริโภคผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ควรตื่นตระหนก เพราะมีโอกาสน้อยที่จะเป็นมะเร็ง ควรรับประทานผักต่างๆ ร่วมกับพืชผักที่มีวิตามินซี เพราะจะช่วยยับยั้งการทำปฏิกิริยาเปลี่ยนรูปไนเตรทเป็นสารก่อมะเร็งได้...”

          แม้ว่าข้อความข้างต้นของทั้ง 2 ฝ่ายจะถูกนำไปแชร์จนโด่งดังตั้งแต่ 7-8 ปีที่แล้ว แต่ในวันนี้เมื่อกระแสปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์หรือการปลูกผักด้วยน้ำไม่ใช้ดินกำลังได้รับความนิยม มีการเปิดหาสมาชิก รับจ้างฝึกอบรมหรือสอนผ่านสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก ทำให้ช่วงเดือนที่ผ่านมามีการนำข้อความเหล่านี้กลับมาแชร์ใหม่อีกครั้ง

          สำหรับความรู้เรื่อง “ปุ๋ยเคมี” นั้น เด็กนักเรียนแทบทุกคนเคยท่องหนังสือไว้เตรียมสอบว่า ผักต้องการธาตุอาหารหลัก 3 ชนิด คือ ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม เรียกย่อ ๆ ว่า “ปุ๋ย N-P-K” การปลูกผักด้วย “ดิน” ตามแบบบรรพบุรุษดั้งเดิม ในเนื้อดินจะมีสารอาหารเหล่านี้เจือปนอยู่ตามธรรมชาติ แต่เมื่อมนุษย์หันมาใช้เทคโนโลยีปลูกผักด้วยน้ำ ไม่อาศัย “ดิน” ตามธรรมชาติ ทำให้ต้องเพิ่มธาตุอาหารเหล่านี้เข้าไปในรูปสารเคมี

          ชาวบ้านเรียกว่า ให้ปุ๋ยทางใบ สารเคมี “ไนโตรเจน (N)” ช่วยทำให้ผักผลิใบอวบอิ่ม ลำต้นโตเร็ว มีสีเขียวคลอโรฟิลล์ และยังช่วยให้ผักกรอบน่ากิน เกษตรกรเชื่อกันว่าถ้าไม่ได้ใส่ไนโตรเจนใบจะเหลือง ลำต้นไม่เจริญเติบโต ส่วน “ฟอสฟอรัส (P)”  ช่วยให้ระบบรากเจริญเติบโตแข็งแรง ถ้าพืชผักได้รับฟอสฟอรัสไม่เต็มที่ใบอาจเป็นสีม่วงแดงคล้ำ ลำต้นเล็กไม่เจริญเติบโต สำหรับ “โพแทสเซียม (K)” ทำหน้าที่ช่วยลำต้นแข็งแรงและทำให้ระบบรากดูดซับธาตุอาหาร

          สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยแพร่บทความวิชาการ เกี่ยวกับ “การผลิตผักในระบบไฮโดรโปนิกส์” ว่า การปลูกผักด้วยวิธีนี้ เป็นการปลูกกินเองได้ในพื้นที่จำกัด ไม่ได้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช แต่มักมีความกังวลเกี่ยวกับการสะสมของ “ไนเตรท” อนุมูลของไนโตรเจนที่มีอยู่มากในสารละลายธาตุอาหาร ไนเตรทเป็นรูปของธาตุไนโตรเจนที่พืชต้องการสำหรับการเติบโต หากพืชได้รับมากเกินไปจะสะสมไว้โดยเฉพาะผักกินใบและผักกินราก โดยทั่วไป “เส้นใบ” ของผักจะสะสมไนเตรทน้อยกว่า “ก้านใบ” กับ “ลำต้น” เนื่องจากไนเตรทเป็นอันตรายต่อร่างกาย ประเทศในเขตยุโรปจึงกำหนดปริมาณสูงสุดของไนเตรทในผักสดและผลไม้ที่จะนำมาบริโภคต้องไม่เกิน 2500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ในฤดูหนาวค่าปริมาณไนเตรทที่ยอมรับได้จะสูงกว่าในฤดูร้อน เนื่องจากความเข้มของแสงมากขึ้นทำให้พืชสะสมไนเตรทน้อยลง ปัจจัยข้อนี้เป็นข้อได้เปรียบสำหรับพืชผักที่ปลูกในประเทศไทย หรือประเทศเขตร้อน เพราะมีความเข้มแสงสูงกว่าแถบยุโรป จากการทดลองวิเคราะห์ปริมาณไนเตรทในผักไฮโดรโปนิกส์ที่ปลูกในแปลงทดลองของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบปริมาณไนเตรทน้อยกว่าค่ามาตรฐาน แต่ต้องขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณของผู้ผลิตด้วยว่า จะมีระบบจัดการให้ลดการสะสมไนเตรทในผักเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภคอย่างไร

          ข้างต้นเป็นบทความที่ยังไม่ได้สรุปชัดเจนว่า เกี่ยวกับ “มะเร็งลำไส้หรือไม่”

          “ผศ.เวณิกา เบ็ญจพงษ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาทางอาหาร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ “คม ชัด ลึก” ว่า ความกังวลเกี่ยวกับสารเคมีตกค้างในพืชผักหรือผลผลิตทางการเกษตรมีมาตลอด แต่ปัญหา “ไนเตรท” ที่สะสมในผักปลูกด้วยวิธีไฮโดรโปรนิกส์นั้น มีการพูดถึงหลายรอบแต่ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันแน่ชัดว่า กินผักเยอะ ๆแล้วทำให้เป็นมะเร็ง เพราะในผักมีสารธรรมชาติหลายชนิดผสมกันอยู่ มีการช่วยกันยับยั้งการดูดซึม ต่อต้านการแปรรูปของสารเคมี ไม่เหมือนไนเตรทที่ใส่ในเนื้อสัตว์แปรรูปเป็นการรับสารเคมีเข้าร่างกายโดยตรง

          “มีแค่เด็กทารกที่ห้ามไม่ให้กินผักมาก เพราะร่างกายเด็กถ้าได้รับสารไนเตรทมากเกินไป จะทําให้ฮีโมโกลบินหรือสารในเม็ดเลือดแดงทำงานผิดปกติ ร่างกายขาดออกซิเจน เกิดพิษเฉียบพลันได้ แต่สำหรับผู้ใหญ่ทั่วไปไม่เกิดปัญหานี้ ถ้าถามว่ากินผักไฮโดรโปนิกส์แล้วเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้หรือไม่ คงตอบได้แค่ว่า ยังไม่มีข้อมูลวิชาการระบุว่ามนุษย์กินผักที่มีไนเตรทสูงแล้วก่อให้เกิดมะเร็ง ไม่เหมือนในเนื้อสัตว์แปรรูปที่ไนเตรทก่อให้เกิดอันตรายหลากหลายรูปแบบมากกว่า แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับส่วนผสม วิธีการปรุง ขนาดจำนวนที่ใส่ด้วย”

          ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาทางอาหารกล่าวต่อว่า วิธีที่ดีสุดในการเลือกรับประทานผักคือ กินผักให้หลากหลายชนิด ทั้ง ผักใบ ผักผล ผักหัว ฯลฯ ไม่กินผักชนิดเดียวกันหรือกินไม่กี่ชนิด เพราะการกินผักหรืออาหารที่หลากหลายชนิด จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารแตกต่างกันไป ผักแต่ละชนิดมีคุณสมบัติในการสะสมสารเคมีไว้แตกต่างกันด้วย หากเป็นไปได้ควรกินผักสดที่ล้างสะอาด เพราะบางครั้งการกินผักต้มหรือผักปรุงสุกทำให้วิตามินหรือสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายบางชนิดถูกทำลายไป

          “ที่สำคัญสุดคือควรเลือกกินผักตามฤดูกาล เช่น ผักที่ปลูกได้หน้าหนาวก็ควรกินหน้าหนาวเพราะไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก แต่ถ้าไปปลูกหน้าร้อนเกษตรกรจะต้องใส่สารเคมีมากเพื่อให้ผักแข็งแรง การกินผักที่ปลอดภัยเบื้องต้นคืออย่าไปกินผักผลไม้ชนิดเดียว หรือกินไม่กี่ชนิดและกินทั้งปี ควรเปลี่ยนไปกินผักผลไม้ตามฤดูกาล พฤติกรรมของผู้บริโภคจะช่วยกำหนดตลาด ทำให้เกษตรกรไม่ต้องใส่สารเคมีเกษตรเยอะเกินไป” ผศ.เวณิกากล่าวสรุป
 
          “สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยอมรับว่าที่ผ่านมาเห็นการแชร์ข้อมูลอันตรายของผักไฮโดรโปรนิกส์ข้างต้นเป็นจำนวนมาก และมีข้อมูลจากต่างประเทศมาเสริมด้วย ตอนนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่า “ผักที่ปลูกในน้ำเป็นผักปลอดภัย” ไม่ได้ใช้สารเคมีเกษตร ซึ่งความจริงแล้วผักเหล่านี้ก็ใช้ปุ๋ยเคมีด้วย และมาตรฐานการปลูกและการใส่สารเคมีของแปลงผักแต่ละแห่งก็ไม่เท่ากัน

          “ตอนนี้มีหน่วยงาน 2 แห่งที่ต้องมาช่วยดูแลคือ กรมวิชาการเกษตรและ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกปลอดภัย ควรมีการสุ่มตรวจฟาร์มที่ปลูกผักเหล่านี้ และไปตรวจผักที่วางขายในแผงผักหรือในซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยว่ามีปริมาณสารเคมีอันตรายตกค้างเกินกว่ามาตรฐานสากลหรือไม่ หรือถ้าตกค้างมากๆ จะเป็นอันตรายต่อคนซื้อกินอย่างไร ควรมีการสุ่มตรวจและจัดระบบควบคุมให้ผักที่จะมาขายเป็นผักปลอดภัยจริงๆ” ตัวแทนผู้บริโภคกล่าวแนะนำ

          สรุปได้ว่าในวันนี้ยังไม่มีผลงานวิชาการยืนยันว่า สารไนเตรทในผักไฮโดรโปนิกส์จะส่งผลให้เกิดมะเร็งหรือมะเร็งในลำไส้ แต่การกินผักที่ถูกต้องปลอดภัยคือการกินผักหลากหลายชนิดและกินตามฤดูกาล

          แต่เพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ควรสุ่มสำรวจเพื่อยืนยันว่ามีสารเคมีตกค้างในพืชผักไฮโดรโปนิกส์มากน้อยเพียงไร ถือเป็นการยืนยันเพิ่มความมั่นใจให้ทั้งฝ่ายคนขายและคนซื้อ
 
..............................
ทีมข่าวรายงานพิเศษ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ