คอลัมนิสต์

เมื่อ “หมาป่าตัวเดียว” กลายเป็นรูปแบบก่อการร้ายเขย่าโลก!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“แนวโน้มของการก่อการร้ายในปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับปฏิบัติการของคนในแบบ “บุกเดี่ยว” ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โจทย์ความมั่นคงชุดนี้ยากกว่าเก่ามาก”

หมายเหตุ : ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความชื่อ “Lone Wolf หมาป่านักล่า!” อธิบายปรากฏการณ์การก่อการร้ายที่กระทำโดยคนคนเดียว หรือคนกลุ่มเล็กๆ ที่เรียกกันในภาษาไทยอย่างเป็นทางการว่า “ผู้ก่อการร้ายตามลำพัง” ในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรป ไม่เว้นแม้แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

     “คุณจะให้วิ่งหนีหรือ? หมาป่าไม่เคยวิ่งหนีจากการต่อสู้” Rebecca Winters; Lone Wolf Rising

ความหมาย

     หนึ่งในปัญหาที่ยุ่งยากของงานต่อต้านการก่อการร้ายในปัจจุบันก็คือ ผู้ก่อการร้ายไม่ได้มีลักษณะในแบบเดิมอีกต่อไป ส่วนหนึ่งผู้ก่อการร้ายในปัจจุบันเป็นในแบบ “ผู้ปฏิบัติการตามลำพัง” หรือหากใช้แบบสำนวนไทยก็คือ เป็นพวก “บุกเดี่ยว” กล่าวคือ เขาเป็นผู้ก่อเหตุด้วยตัวเอง และมักจะไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในเครือข่ายหรือโครงสร้างขององค์กรก่อการร้ายแต่อย่างใด ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทำให้พวกเขาไม่อยู่ในบัญชีการติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐ ในภาษาของวิชา “ก่อการร้ายศึกษา” แล้ว บุคคลเช่นนี้ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นดัง “หมาป่าตัวเดียว” ที่ออกล่าเหยื่อ (lone wolf หรือ lone-wolf terrorists)

     แม้ว่าปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามลำพัง แต่ก็อาจจะเป็นผลจากอิทธิพลทางความคิด หรืออุดมการณ์ หรือความเชื่อจากองค์กรภายนอก และสำหรับการส่งผ่านความคิดหรืออุดมการณ์เช่นนี้ในโลกปัจจุบัน ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สื่อสมัยใหม่หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ นั้น มีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โซเชียลมีเดีย” ที่สามารถเผยแพร่ความคิดและความเชื่อให้กระจายตัวออกไปสู่ผู้รับสารอย่างรวดเร็ว

     ผลจากสภาพเช่นนี้ทำให้บุคคลในฐานะผู้รับสารไม่จำเป็นต้องนำตัวเองไปอยู่ในองค์กรหรือโครงสร้างของการก่อการร้ายในแบบเดิม และขณะเดียวกันก็ทำให้บุคคลผู้นี้กลายเป็น “ผู้ร่วมขบวนการ” ไปโดยปริยาย หรืออย่างน้อยก็กลายเป็นการจัดตั้งทางความคิดเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยตัวบุคคลเข้ามาเป็นนักจัดตั้งเช่นในแบบเดิมแต่อย่างใด

     อาจกล่าวได้โดยสังเขปก็คือ การจัดตั้งทางความคิดเพื่อดึงบุคคลร่วมอุดมการณ์ด้วยนั้น เกิดขึ้นโดยการอาศัยสื่อสังคมหรือสื่อใหม่ทั้งหลาย และทั้งยังทำให้บุคคลผู้นี้เมื่อรับความคิดหรืออุดมการณ์ไปแล้ว พวกเขาก็เป็นเสมือนกับ “เซลล์ที่นอนหลับ” (sleeper cells) ที่รอเวลาและโอกาสในการออกปฏิบัติการ พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งภายใต้โครงสร้างที่มีสายการบังคับบัญชา... ขอเพียงแต่เวลาและโอกาสมาถึงเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

จุดกำเนิดของภาษา

     คำว่า “หมาป่าตัวเดียว” นี้ เกิดขึ้นจากนักเคลื่อนไหวฝ่ายขวา โดย ทอม เม็ตซ์เกอร์ หัวหน้ากลุ่มแบ่งแยกผิว ได้ใช้คำคำนี้ในช่วงทศวรรษของปี 1990 สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกผิวภายใต้การนำของเม็ตซ์เกอร์นั้น ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรง โดยเขาเสนอให้มีการ “ทำความสะอาด” สังคมอเมริกัน ด้วยการขับไล่และจัดการกับพวก “ที่ไม่ใช่คนผิวขาว” ให้ออกไปจากสังคม เพื่อ “ความอยู่รอดของประชาชน”

     การนำเสนอแนวคิดในการแบ่งแยกผิวเช่นนี้ ทำให้เกิดการสังหารชายชาวเอธิโอเปียที่เข้ามาศึกษาต่อในสหรัฐ ในปี 1988 ผลจากการสืบสวนพบว่า กลุ่ม “ต่อต้านของชาวอเมริกันผิวขาว” (The White American Resistance หรือ WAR) ที่เขาก่อตั้งในปี 1983 นั้น มีส่วนโดยตรง ผู้ก่อการสังหารถูกจับเข้าคุก แต่เม็ตซ์เกอร์พูดสนับสนุนการสังหารดังกล่าว จึงทำให้เขาถูกฟ้อง และถือว่าองค์กรที่เขาก่อตั้งขึ้นต้องรับผิดชอบต่อการสังหารครั้งนี้ด้วย ทำให้ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งเป็นเงินถึง 12.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สภาพเช่นนี้ทำให้เขาแทบจะล้มละลาย จนต้องคิดหาทางในการเคลื่อนไหวใหม่

     ดังนั้นในช่วงต้นทศวรรษของปี 1990 เขาจึงเสนอวิธีการแบบ “หมาป่าตัวเดียว” และทิศทางการเคลื่อนไหวใหม่ก็คือ บุคคลไม่ควรจะแสดงอุดมการณ์เหยียดผิวออกให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ควรจะดำเนินการแบบ “ปิดลับ” เป็นเสมือนดัง “หมาป่าตัวเดียว” ที่ออกล่าเหยื่อ ว่า ที่จริงข้อเสนอเช่นนี้ก็คือการหันไปใช้วิธีการจัดตั้ง “เซลล์” และดำเนินการแบบ “ใต้ดิน” มากกว่าจะเปิดเผยตัวด้วยกิจกรรม “บนดิน”

เมื่อ “หมาป่าตัวเดียว” กลายเป็นรูปแบบก่อการร้ายเขย่าโลก!

     อย่างไรก็ตาม สำหรับหน่วยงานรักษากฎหมายของสหรัฐแล้ว ปฏิบัติการแบบ “หมาป่าตัวเดียว” หมายถึง บุคคลที่ก่อเหตุก่อการร้าย โดยตัวเขาอยู่นอกโครงสร้างของสายการบังคับบัญชาขององค์กรก่อการร้าย ซึ่งโดยนัยก็คือ ปฏิบัติการของคนคนเดียว หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการแบบ “ข้ามาคนเดียว” นั่นเอง แม้เขาจะแสดงออกถึงความภักดีต่อกลุ่มหรือขบวนการใดก็ตาม แต่องค์กรนั้นไม่ใช่ผู้สั่งการให้เกิดการปฏิบัติการก่อการร้ายขึ้นแต่อย่างใด

แนวโน้ม

     ปฏิบัติการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นจากบุคคลตามลำพังเช่นนี้ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่กำลังเป็นแนวโน้มของการก่อการร้ายของโลก Sarah Teich จากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการต่อต้านการก่อการร้าย (International Institute for Counter Terrorism) ได้ศึกษาแล้วเห็นถึงแนวโน้มสำคัญ 5 ประการสำหรับการก่อการร้ายในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตกในช่วงระหว่างปี 1990 ถึงปี 2013 ดังนี้

1.ประเทศที่ถูกการก่อการร้ายแบบ “หมาป่าตัวเดียว” ในระหว่างทศวรรษของปี 1990 ถึงทศวรรษของปี 2000 เพิ่มจำนวนมากขึ้น

2.ประชาชนที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากปฏิบัติการก่อการร้ายของบุคคลตามลำพังเช่นนี้เพิ่มมากขึ้น

3.ประสิทธิภาพของหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายและบังคับใช้กฎหมายมีมากขึ้น

4.มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องของการโจมตีแบบ “บุกเดี่ยว”

5.การโจมตีต่อเป้าหมายที่เป็นกำลังพลทหารเพิ่มมากขึ้น

     อย่างไรก็ตาม สำหรับปฏิบัติการแบบตัวคนเดียวเช่นนี้อาจจะอยู่ในรูปของ “หมาป่าตัวเดียว” หรืออาจจะเป็นปฏิบัติการแบบ “หมาป่าฝูงเดียว” (lone wolf pack) ในการออกล่าเหยื่อก็ได้ ใช่ว่าจะต้องเข้มงวดอยู่เฉพาะกับปฏิบัติการของบุคคลตามลำพังเท่านั้น เพราะในบางกรณีอาจจะเป็นไปในแบบของการรวมกลุ่มบุคคลที่อยู่นอกโครงสร้างของสายการบังคับบัญชาก็ได้

     จากแนวโน้มที่กล่าวแล้วในข้างต้น และพิจารณาจากตัวแบบของสังคมอเมริกัน จะเห็นได้ชัดเจนว่า ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายในสหรัฐนั้น มาจากปฏิบัติการแบบ “หมาป่าตัวเดียว” มากกว่าจะเป็นภัยที่มาจากองค์กรก่อการร้ายโดยตรง ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่า หากแยกกรณีการก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน 2001 ออกไปแล้ว การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในสหรัฐส่วนใหญ่มาจากปฏิบัติการของผู้ก่อเหตุแบบตามลำพัง และผู้ก่อเหตุอาจจะอยู่ในฐานะของการเป็น “ผู้ที่เห็นอกเห็นใจ” ต่อเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การวางระเบิดตึกของรัฐบาลกลางที่โอคลาโฮมา จนถึงเหตุกราดยิงที่ซานเบอร์นาดิโน และออร์แลนโด

     ผู้ก่อการร้ายที่ต่อต้านการทำแท้ง ก็เป็นอีกส่วนในสังคมอเมริกันที่ใช้ความรุนแรงจัดการกับเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหมอและคลินิกทำแท้ง โดยพวกเขามักจะเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “ปฏิบัติการต่อต้านแบบไร้ผู้นำ” เพราะบุคคลก่อความรุนแรงด้วยความเชื่อในอุดมการณ์ ไม่ใช่ด้วยการออกคำสั่งของผู้นำแต่อย่างใด หรือวันนี้ดังตัวอย่างของผู้ก่อเหตุความรุนแรงในกรณี “บอสตันมาราธอน” อย่าง Samir Khan ก็เสนอถึงปฏิบัติการก่อการร้ายโดยปัจเจกบุคคลต่อสังคมอเมริกัน เป็นต้น

เมื่อ “หมาป่าตัวเดียว” กลายเป็นรูปแบบก่อการร้ายเขย่าโลก!

ตัวอย่างและตัวแบบ

     ดังได้กล่าวในข้างต้นว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ดูจะเห็นได้ชัดเจนกับการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในยุโรปและในสหรัฐ ซึ่งมีตัวอย่างสังเขปต่อไปนี้

-2 มีนาคม 2011: Arid Uka ยิงทหารอเมริกันในเยอรมนีเสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บอีกส่วนหนึ่งที่สนามบินแฟรงก์เฟิร์ต เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงเชื่อว่าปฏิบัติการนี้เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการก่อการร้ายแบบลำพังครั้งแรกในเยอรมนี

-2012: Mohammed Merah ปฏิบัติการตามลำพังในเมืองตูลูส สังหารประชาชน 7 คน และถูกปิดล้อมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจฝรั่งเศสนานถึง 32 ชั่วโมง และถูกยิงเสียชีวิต

-22 พฤษภาคม 2013: Michael Adebolajo สังหารนายทหารอังกฤษ ที่เมืองวูลลิช

-26 พฤษภาคม 2013: Alexandre Dhaussy ชายชาวฝรั่งเศสที่เปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม พยายามที่จะตัดคอทหารฝรั่งเศสที่กรุงปารีส แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

-20 ธันวาคม 2014: ชายชาวฝรั่งเศสเชื้อสายบุรุนดี บุกโจมตีสถานีตำรวจตามลำพังด้วยมีด มีตำรวจบาดเจ็บ 3 นาย และเขาถูกยิงเสียชีวิต

-14 มิถุนายน 2016: Larossi Abballa สังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงของปารีสและภรรยา ด้วยการกระทำแบบบุกเดี่ยว ผู้ก่อเหตุได้รับอิทธิพลทางความคิดจากกลุ่มรัฐอิสลาม

     สหรัฐอเมริกาดูจะเผชิญกับตัวแบบของการก่อการร้ายแบบทำตามลำพังค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะแรงกดดันที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งก็อาจจะไม่แตกต่างจากยุโรป กับอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการซื้อหาอาวุธ แม้กระทั่งอาวุธในแบบของปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติเป็นสิ่งที่สามารถหาได้ในตลาดปกติ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่สังคมอเมริกันจึงเผชิญกับปัญหาเช่นนี้อย่างมาก ตัวอย่างที่สำคัญในบางกรณี เช่น

-19 เมษายน 1995: Timothy McVeigh วางระเบิดตึกที่ทำการของรัฐบาลกลางของสหรัฐ เขาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปฏิบัติการแบบ “หมาป่าตัวเดียว” มีผู้เสียชีวิต 168 คน และบาดเจ็บหลายร้อยคน

-15 เมษายน 2013: พี่น้องตระกูล Tsarnaev วางระเบิดในงานวิ่งมาราธอนที่เมืองบอสตัน มีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บมากกว่า 260 คน

-4 พฤศจิกายน 2015: Faisal Mohammed ใช้มีดวิ่งไล่แทงคนกลางมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (วิทยาเขต Merced) เขาได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มรัฐอิสลาม ซึ่งเป็นตัวอย่างของการปฏิบัติการแบบลำพัง

-2 ธันวาคม 2015: การสังหารที่สำนักงานสุขภาพ ที่เมืองซานเบอร์นาดิโน โดย Rizwan Farook และ Tashfeen Malik อันมีแรงบันดาลใจจากกลุ่มรัฐอิสลาม มีผู้เสียชีวิต 14 คน และบาดเจ็บ 22 คน

-12 มิถุนายน 2016: การสังหารที่ไนต์คลับ ในเมืองออร์แลนโด Omar Seddique Mateen บุกเข้าไปยิงเกย์ไนต์คลับ มีผู้เสียชีวิต 50 คน และบาดเจ็บ 53 คน เขาเองได้ประกาศแสดงความจงรักภักดีต่อกลุ่มรัฐอิสลามก่อนตัดสินใจปฏิบัติการดังกล่าว

เมื่อ “หมาป่าตัวเดียว” กลายเป็นรูปแบบก่อการร้ายเขย่าโลก!

     นอกจากนี้ก็ยังจะเห็นได้จากตัวแบบในแคนาดา ได้แก่

-20 ตุลาคม 2014: Abu Ibrahim al Canadi ใช้รถพุ่งชนทหารและยิงทหารอีกนายหนึ่ง เขาปฏิบัติการเองตามลำพัง

-22 ตุลาคม 2014: Michael Zehaf-Bibeau บุกยิงทหารที่อนุสรณ์สงครามแห่งชาติ และยังบุกเข้าไปในรัฐสภาอีกด้วย จึงปะทะกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ตำรวจในบริเวณดังกล่าว

     ตัวแบบจากออสเตรเลีย ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงปฏิบัติการแบบบุกเดี่ยว แต่ก็มีข้อโต้แย้งจากผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่านว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องของคนโรคจิตมากกว่าจะเป็นผู้ก่อการร้าย

-15 ธันวาคม 2014: Man Haron Monis พร้อมอาวุธบุกเข้าจับคนเป็นตัวประกันในร้านกาแฟที่นครซิดนีย์ แม้เขาจะชู “ธงดำ” แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าใช่ธงของกลุ่มรัฐอิสลามหรือไม่ อีกทั้งแรงจูงใจที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้เป็นประเด็นทางศาสนา และแม้จะมีการใช้ความรุนแรง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องของการก่อการร้ายโดยตรง หากเป็นเรื่องของการก่อเหตุจากบุคคลที่มีปัญหาทางจิตมากกว่า

หมาป่าที่ไม่เคยหยุดล่า!

     จากตัวแบบที่กล่าวแล้วในข้างต้น จะเห็นถึงแนวโน้มของการก่อการร้ายในปัจจุบันว่า อาจจะไม่ใช่ในแบบที่เป็นปฏิบัติการของคนในการจัดตั้งขององค์กร แต่โลกกำลังเผชิญกับปฏิบัติการของคนในแบบ “บุกเดี่ยว” โดยมีแรงจูงใจจากข้อมูลข่าวสารและการโฆษณาทางการเมืองที่เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโจทย์ความมั่นคงชุดนี้ยากกว่าเก่ามาก...

     การตามหา “หมาป่าตัวเดียว” ในป่าคอนกรีตใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อาจจะเปรียบได้กับการงมเข็มในมหาสมุทร !

ขอบคุณภาพจาก pixabay

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ