คอลัมนิสต์

“ฟ้าผ่า”เลี่ยงได้ ง่ายนิดเดียว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เข้าสู่หน้าฝน อันตรายจากฟ้าผ่ากลายเป็นสิ่งที่คนกังวล ยิ่งล่าสุดมีผู้เสียชีวิตจากฟ้าผ่าไปแล้วถึงสองราย เรามาทำความรู้จักฟ้าผ่า และวิธีหลีกเลี่ยงกันดีกว่า

เริ่มต้นฤดูฝน สายฝนที่โปรยปรายลงมาอย่างหนักและทำให้เกิดน้ำท่วมขังในกลายพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มากับฤดูฝนที่เรามองข้ามไปไมได้ คือปรากฎการณ์ธรรมชาติ ที่เราเรียกกันว่า ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า

 

ปีนี้ที่เป็นข่าวดังคือมีผู้เสียชีวิตจากฟ้าผ่าแล้วถึงสองราย รายแรกเกิดกับเด็กนักเรียนวัยเพียง 12 ปี ที่ จ.ตากในเหตุการณ์เดียวกันนั้นเอง มีผู้บาดเจ็บถึง 43 ราย และต่อมาคือที่ หาดะอำ ซึ่งนักท่องเที่ยวถูกฟ้าผ่าจนเสียชีวิต 1 รายขณะที่นั่งเล่นดูทะเล และมีผู้บาดเจ็บอีก 1 ราย

คงมีหลายต่อหลายคนสงสัยว่า ปรากฎการณ์ ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เกิดจากอะไร และควรทำอย่างไรเพื่อเลี่ยงอันตราย “คมชัดลึกออนไลน์” จึงได้หาคำตอบมาฝากผู้อ่านกัน

 

 ทำความรู้จัก ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า

 

ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า (Thunder) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่ของประจุอิเล็กตรอนภายในก้อนเมฆ หรือระหว่างก้อนเมฆกับก้อนเมฆ หรือเกิดขึ้นระหว่างก้อนเมฆกับพื้นดิน 

 

เมื่อความต่างศักย์ไฟฟ้าระหว่างตำแหน่งทั้งสองที่มีค่าระดับหนึ่ง จะก่อให้เกิดสนามไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยมีประจุบวกอยู่ทางด้านบนของก้อนเมฆ ประจุลบอยู่ทางตอนล่างของก้อนเมฆ พื้นดินบางแห่งมีประจุบวก พื้นดินบางแห่งมีประจุลบ ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้เกิดการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้า ซึ่งเกิดได้ทั้งแบบภายในเมฆ เมฆสู่เมฆ เมฆสู่พื้น หรือพื้นสู่เมฆ

 

ซึ่งสองแบบหลังจะทำอันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนพื้นดินหรือผืนน้ำ

 

เมื่อเกิดฟ้าแลบหรือฟ้าผ่า การเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้าทำให้อากาศในบริเวณที่สายฟ้าเคลื่อนที่ผ่านมีอุณหภูมิสูงมากจนขยายตัวอย่างฉับพลัน ทำให้เกิดช็อคเวฟ (shock wave) ส่งเสียงดังออกมาเรียกว่า “ฟ้าร้อง” ฟ้าแลบและฟ้าร้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แต่เรามองเห็นฟ้าแลบก่อนได้ยินเสียงฟ้าร้อง เนื่องจากแสงมีความเร็วมากกว่าเสียง แสงมีอัตราเร็ว 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที ส่วนเสียงมีอัตราเร็วประมาณ 1/3 กิโลเมตรต่อวินาทีเท่านั้น

 

หากเราต้องการทราบว่า ฟ้าแลบหรือฟ้าผ่า เกิดขึ้นห่างห่างจากเราเท่าใด เราสามารถจับเวลาตั้งแต่เมื่อเราเห็นฟ้าแลบจนถึงได้ยินเสียงฟ้าร้องว่า เป็นระยะเวลากี่วินาที แล้วเอาจำนวนวินาทีคูณด้วย 1/3 ก็จะได้เป็นระยะทางกิโลเมตร เช่น ถ้าเราจับเวลาระหว่างฟ้าแลบกับฟ้าร้องได้ 3 วินาที เราก็จะทราบได้ว่า ฟ้าแลบอยู่ห่างจากเราประมาณ 1/3 x 3 เท่ากับ 1 กิโลเมตร

ทำอย่างไรจึงปลอดภัย

“ฟ้าผ่า”เลี่ยงได้ ง่ายนิดเดียว

 

สิ่งที่ควรรู้คือ ฟ้าผ่าอาจเกิดขึ้นในช่วงฝนตก ก่อนฝนตก หรือหลังฝนตกก็ได้ ซึ่งช่วงที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ คือ เมื่อมีพายุฝนฟ้าคะนองใกล้ตัวเราในระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร คือเราเห็นฟ้าแลบหรือฟ้าผ่า และได้ยินเสียงฟ้าร้องหลังฟ้าแลบหรือฟ้าร้องน้อยกว่า30 วินาที แสดงว่า เราอยู่ใกล้เขตเสี่ยงฟ้าผ่าแล้ว

  

ให้หาที่ร่มที่ปลอดภัย ได้แก่ ในอาคาร โดยเฉพาะอาคารที่มีสายล่อฟ้าติดตั้งถูกวิธี หรือในรถปิดกระจก และเราไม่ควรทำกิจกรรมกลางแจ้งใกล้เขตฟ้าผ่า

  

หลีกเลี่ยงที่สูง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟ้าผ่าง่ายขึ้น หรือการกางร่ม เพราะทำให้ความสูงจากพื้นดินเพิ่มขึ้น การยกโทรศัพท์มือถือขึ้น โดยเฉพาะที่สูงที่มีบริเวณใกล้เคียงเตี้ยกว่า เอาง่ายๆคือ เมื่ออยู่ใกล้เขตเสี่ยงฟ้าผ่า ไม่ควรหลบใต้ต้นไม้ กางร่ม ใช้โทรศัพท์มือถือหรืออยู่ใกล้ที่สูง เช่น รั้ว

 

หลีกเลี่ยงโลหะ เพราะโลหะเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดีมาก จึงควรหลีกเลี่ยง ไม่ให้ร่างกายสัมผัสท่อโลหะ เช่น ท่อประปา เสาโลหะ หรืออยู่ใกล้สายไฟ

 

หลีกเลี่ยงน้ำ เพราะน้ำเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดี โดยเฉพาะกรณีไฟฟ้าแรงสูง เช่น ฟ้าผ่า จึงไม่ควรอาบน้ำ สระผม ล้างจาน ในเขตใกล้ฟ้าผ่า

 

นั่งยอง เพราะหากคุณรู้สึก ขนลุกชันหรือผิวหนังกระตุกขึ้นมาทันที คุณอาจกำลังอยู่ในเขตที่ฟ้ากำลังจะผ่า ให้นั่งยองๆ นำมือ 2 ข้างมาแนบติดกับเข่า แล้วซุกหัวเข้าไประหว่างเข่า ท่านี้จะช่วยให้คุณแตะพื้นดินน้อยที่สุด ลดพื้นที่สัมผัสพื้นดิน และทำให้ร่างกายมีลักษณะกลม

ลักษณะการถูกฟ้าผ่า

 

เมื่อเรารู้ถึงวิธีการป้องกันการถูกฟ้าผ่าต่อมาเรามาดูว่า หากเกิดกรณีที่ไม่คาดฝันจริงๆ เมื่อเราป้องกันทุกทางแล้ว ฟ้ายังผ่า หรือ เราอาจจะพบเห็นคนรอบข้างถูกฟ้าผ่า เราจะมีวิธีการช่วยเหลือ หรือทำอย่างไร

 

ก่อนอื่นเราต้องมาดูกันว่า ลักษณะการบาดเจ็บและความรุนแรงของการบาดเจ็บจากฟ้าผ่าขึ้นอยู่กับประเภทของการถูกฟ้าผ่า (Type of lightning strike) ที่เกิดขึ้นซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ประเภท

 

การถูกฟ้าผ่าโดยตรง (Direct strike) เป็นการถูกฟ้าผ่าที่รุนแรงที่สุด ความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าแบบนี้จะมากขึ้นในรายที่อยู่ในที่โล่งขณะฝนฟ้าคะนองพร้อมกับถือสื่อนำไฟฟ้า เช่น ร่ม ไม้กอล์ฟ

เมื่อฟ้าผ่าวัตถุอื่นแล้วกระแสไฟฟ้าแล่นผ่านอากาศเข้าสู่ตัวเราลักษณะแบบนี้เรียกว่า Side flash การถูกฟ้าผ่าแบบนี้มักเกิดขึ้นหลายๆ คนพร้อมกันเช่นนักกีฬาที่เล่นกีฬาอยู่ในสนามเดียวกันแล้วเกิดฟ้าผ่าวัตถุใกล้เคียง

 

การได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าที่ผ่าลงที่วัตถุที่ผู้ได้รับอันตรายสัมผัสวัตถุอยู่ลักษณะการถูกฟ้าผ่าแบบนี้เรียกว่า Contact strike

 

ถ้าฟ้าผ่าลงพื้นดินแล้วไฟฟ้าแล่นตามพื้นดินเข้าสู่ร่างกายลักษณะแบบนี้เรียกว่า Ground current ความรุนแรงของการบาดเจ็บจากฟ้าผ่าแบบนี้จะขึ้นอยู่กับระยะห่างจากจุดที่ฟ้าผ่าลงพื้นดิน ถ้าอยู่ใกล้จะได้รับอันตรายมากกว่าอยู่ไกล

 

กรณีที่ฟ้าผ่าลงพื้นดินกระแสไฟฟ้าที่แล่นผ่านพื้นดินที่ผู้บาดเจ็บยืนอยู่ ถ้ามีความต่างศักย์ไฟฟ้าระหว่างเท้ากับพื้นดิน ไฟฟ้าจะแล่นผ่านจากเท้าข้างหนึ่งผ่านส่วนล่างของร่างกายไปออกที่เท้าอีกข้างหนึ่ง ลักษณะแบบนี้เรียกว่า Stride potential หรือ step voltage ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่มีลักษณะเฉพาะเรียกว่า Keraunoparalysis ประกอบด้วยอาการขาทั้งสองข้าง ชา อ่อนแรง ไม่มีชีพจร อาการนี้จะเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น

 

ดังนั้นฟ้าผ่าสามารถทำให้เกิดอันตรายได้ตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อยไปจนถึงเสียชีวิต สาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญคือ การที่มีปริมาณกระแสไฟฟ้าจำนวนมากทำให้ หัวใจจึงหยุดเต้นแต่เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจมีคุณสมบัติที่กลับมาทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ บางครั้งหัวใจก็สามารถกลับมาเต้นเป็นปกติได้เอง

 

สาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การหยุดหายใจ ถ้าไม่มีการช่วยชีวิตที่ทันเวลาและเหมาะสม ทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน ซึ่งมีผลทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะกลายเป็น แล้วเสียชีวิตในที่สุด

 

วิธีการปฐมพยาบาล 

ก่อนอื่นให้สังเกตว่า ในบริเวณที่เกิดเหตุยังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องทำการเคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันตัวเราเองจากการถูฟ้าผ่าด้วย

 

เราสามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าเราจะถูกไฟฟ้าดูดซึ่งต่างจากกรณีคนที่ถูกไฟฟ้าดูด

 

การปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกฟ้าผ่า จะใช้วิธีเดียวกับผู้ที่ถูกไฟฟ้าช๊อต หากผลได้รับบาดเจ็บหมดสติไม่รู้ตัว หัวใจหยุดเต้น และไม่หายใจ ซึ่งสังเกตได้จากอาการที่เกิดขึ้น คือ ริมผีปากเขียว สีหน้าซีดเขียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมากหรือไม่เคลื่อนไหว ชีพจรบริเวณคอเต้นช้าและเบามาก

 

หากหัวใจหยุดเต้นจะคล้ำชีพจรไม่พบม่านตาขยายค้างไม่หดเล็กลง หมดสติไม่รู้สึกตัว ต้องรีบทำการปฐมพยาบาลทันที เพื่อให้ปอดและหัวใจทำงาน โดยวิธีการผายปอดด้วยการให้ลมทางปาก หรือที่เรียกว่า “เป่าปาก” ร่วมกับนวดหัวใจ

  และรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ