คอลัมนิสต์

แกะรอยจดหมายเตือนบึ้ม!! สติไม่ดี-บีอาร์เอ็น-หรือสวมรอย?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คำถามที่หลายฝ่ายถามกันเซ็งแซ่ขณะนี้คือ ใครคือคนส่งจดหมาย?

     “ท่านผู้อำนวยการ โปรดฟัง ภายในปีนี้ขอให้ท่านระวัง จะมีก่อการร้ายภายในโรงพยาบาลของรัฐแถวนี้ 3 แห่งจากขบวนการ BRN IS เข้ามาแล้วเมื่ออาทิตย์ก่อน จากมาเลย์ ให้ระวังผู้หญิงมุสลิม โพกผ้า สะพายเป้ และระวังให้ดี...โจรกลับใจ”

     นี่คือข้อความในจดหมายที่ปรากฏผ่านสื่อบางแขนง และถูกนำไปตีความว่าเป็น “จดหมายขู่จากบีอาร์เอ็น” ว่าจะลอบวางระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กระทั่งมีการให้น้ำหนักไปว่า เหตุระเบิดกลางสถานพยาบาลเที่ยวนี้อาจเป็นฝีมือของ "บีอาร์เอ็น" กลุ่มเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

     เมื่อไปผนวกเข้ากับเหตุการณ์ในอดีตที่กลุ่มเคลื่อนไหวในภาคใต้เคยก่อเหตุรุนแรงกับโรงพยาบาลมาแล้ว คือ วางระเบิดบริเวณลานจอดรถจักรยานยนต์ในโรงพยาบาลโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อ 28 พฤษภาคม 2557 และบุกโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เพื่อใช้เป็นจุดสูงข่มถล่มฐานทหารพราน เมื่อ 13 มีนาคม 2559 สมมุติฐานที่ว่าบีอาร์เอ็นอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ยิ่งมีน้ำหนักน่าเชื่อมากขึ้นไปอีก

     แต่หากย้อนพิจารณาถ้อยคำในจดหมายให้ดี จะพบว่าจดหมายฉบับนี้ไม่ได้เขียนโดย “บีอาร์เอ็น” หรือตัวผู้ก่อเหตุเอง แต่คนเขียนอ้างว่าเป็น “โจรกลับใจ” ที่แจ้งข้อมูลให้ผู้อำนวยการสถานพยาบาลในย่านที่อาจตกเป็นเป้าหมายของการลอบวางระเบิด

     นอกจากนั้น ข้อมูลที่ทีมข่าวได้รับมา ยังยืนยันว่าจดหมายเตือนมีทั้งหมด 3 ฉบับ ส่งไปที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 1 ฉบับ และสถาบันประสาทวิทยาอีก 2 ฉบับ ซึ่งสถาบันหลังอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าชนิดเดินถึงกันได้ใน 5 นาที

     สรุปก็คือ นี่ไม่ใช่ “จดหมายขู่” แต่เป็น “จดหมายแจ้งเตือน” ว่าอาจเกิดระเบิดขึ้นจากน้ำมือของบีอาร์เอ็น และ ไอเอส

     คำถามที่หลายฝ่ายถามกันเซ็งแซ่ขณะนี้คือ ใครคือคนส่งจดหมาย? ล่าสุดมีข่าวจากทางตำรวจว่าได้คุมตัวบุคคลต้องสงสัยที่ส่งจดหมายได้แล้ว เป็นคนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จากการซักถามเบื้องต้นได้รับการยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง และน่าจะถูกอ้างชื่อ

     ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคงวิเคราะห์ว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยว่าจดหมายฉบับนี้จะเป็น “จดหมายแจ้งเตือน” ของจริง เพราะหากเขียนโดย “โจรกลับใจ” ตามที่อ้าง ซึ่งน่าจะหมายถึงเคยร่วมอยู่ในขบวนการป่วนใต้ แต่หันหลังให้ขบวนการแล้ว หาก “โจรกลับใจ” ได้ข่าวมาว่าบีอาร์เอ็นจะวางระเบิดโรงพยาบาลกลางกรุงเทพฯ ก็น่าจะมีช่องทางแจ้งเตือนที่ดีกว่านี้ เช่น แจ้งฝ่ายทหารที่รู้จักกันหรือดูแลกันอยู่ (พวกโจรกลับใจจะมีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับเจ้าหน้าที่ที่ให้ความช่วยเหลือหรือพูดคุยด้วย)

     ฉะนั้นในชั้นนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจึงประเมินว่า คนเขียนอาจสติไม่ดี แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็มีน้ำหนักไม่มากนัก เพราะมีการส่งถึง 3 ฉบับ และคนละลายมือ นอกจากนั้นก็อาจเป็นไปได้ว่าการส่งจดหมายเตือน เป็นส่วนหนึ่งของแผนการวางระเบิด เพื่อโยนบาปให้บีอาร์เอ็น โดยผู้ส่งจดหมายก็ร่วมอยู่ในขบวนการวางระเบิดด้วย

     ที่สำคัญต้องจับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์เหมือนฟันธงไปแล้วว่าเหตุระเบิดเที่ยวนี้เป็น “เรื่องการเมือง” เพราะข้อมูลวงในระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้หลักฐานสำคัญเป็น “ภาพผู้ต้องสงสัย” ที่ชัดเจนมาก ทำให้รู้ตัวมือระเบิดและผู้ร่วมขบวนการทั้งหมดแล้ว

     สอดคล้องกับ “โฮป” (นามสมมุติ) อดีตแกนนำบีอาร์เอ็นที่ตั้งคำถามว่า ขณะนี้คนในขบวนการขยับตัวยากมากในพื้นที่ แค่จะก่อเหตุในพื้นที่ชายแดนใต้ยังไม่ง่ายนัก แล้วจะระดมคนไปก่อเหตุถึงกรุงเทพฯ ไม่ยิ่งยากกว่าหรือ แต่ถ้าเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น “จัดตั้ง” ก็ไม่แน่เหมือนกัน

     “กลุ่มบีอาร์เอ็นจัดตั้งมีเยอะจริง พวกเขาสามารถทำได้ถ้ามีใบสั่งมา เพราะเขามีคนของเขาทุกพื้นที่ จัดตั้งโดยกลุ่มมีอิทธิพลบ้าง กลุ่มการเมืองบ้าง กลุ่มคนมีสีเองบ้าง ผมเห็นในข่าว เจ้าหน้าที่บางหน่วยพยายามออกแบบโครงสร้างบีอาร์เอ็นให้ใหญ่โต มีการแบ่งฝ่าย แบ่งงานกันอย่างมืออาชีพ ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นขนาดนั้น แต่เจ้าหน้าที่ทำเพราะสามารถหาประโยชน์ได้เมื่อต้องการ”

    โฮปย้ำว่า “คนแสดงจริง” กับ “ตัวละครสมมุติ” เป็นคนละคนกัน ปัญหาทั้งหมดจึงกลายเป็นปัญหาทางการเมืองไปแล้ว

     ดูเหมือนการเชื่อมโยงสถานการณ์ความวุ่นวายกับกลุุ่มเคลื่อนไหวในภาคใต้และประเด็นทางการเมือง จะมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน และมีบางฝ่ายได้ประโยชน์ในแต่ละสถานการณ์!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ