คอลัมนิสต์

"ม.44" ผลงานชิ้นโบว์แดง  3 ปี คสช. ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นับเป็นเวลา 3 ปีแล้วที่ คสช.ได้เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา เรามักได้ยินคำว่า‘ม.44’ จน'คุ้นหู-ชินตา' แต่ในระยะหลังเริ่มมีคำถามตามมาว่า 'มากไป' หรือเปล่า

         นับเป็นเวลา 3 ปีแล้วที่ ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ’(คสช. ) ได้เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา เรามักได้ยินคำว่า ‘ ม.44 ’ จน คุ้นหู ชินตา เพราะ ‘ม.44 ’ เปรียบเสมือน ‘ไม้เด็ด’ หรือ ‘ยาสามัญประจำบ้าน’ ที่ คสช. งัดขึ้นมาใช้ในการแก้ไขปัญหาประเทศ เพื่อให้บรรลุผลอย่างรวดเร็วกว่าการใช้กลไกการออกกฎหมายตามปกติ

        ‘ม.44’ หรือ‘มาตรา 44’ เป็นอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โดยมีหลักการว่า ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็น ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ซึ่งในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตาม ม. 44 ออกคำสั่งไปจำนวน 149 ฉบับ

        สำหรับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ออกตาม ม.44 ที่น่าสนใจ มีดังนี้

       - ให้อำนาจกรมบังคับคดี ยึดทรัพย์ผู้ต้องรับผิดในโครงการจำนำข้าว

         คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 56 /2559 เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 59 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด

        คำสั่งดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ ให้อำนาจกรมบังคับคดีในการบังคับทางปกครองด้วยการยึดทรัพย์ของผู้ต้องรับผิดในโครงการจำนำข้าว และการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย

         หลังจากมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับดังกล่าวออกมา กรมบังคับคดี ก็ได้ดำเนินการยึดทรัพย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว. พาณิชย์ กับพวก หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ทุเลาการบังคับใช้ตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ที่สั่งให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์,นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ กับพวก รวม 5 คน ชดใช้ค่าเสียหายจากการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี รวมมูลค่ากว่า2หมื่นล้านบาท

          ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้ไปยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับอายัดทรัพย์สินกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกกระทรวงการคลัง เรียกให้รับผิดความเสียหาย ฐานไม่ระงับยับยั้งในความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว วงเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท แต่ศาลปกครองกลางได้ยกคำร้อง ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็จะถูกกรมบังคับคดีเข้าดำเนินการยึดทรัพย์สินต่อไป

        - กำหนดให้วัดพระธรรมกาย เป็นพื้นที่ควบคุม

         -คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2560 เมื่อ 15 ก.พ. 60 เรื่อง มาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

          คำสั่งฉบับนี้ เป็นการกำหนดให้วัดพระธรรมกายตลอดจนพื้นที่โดยรอบวัดพระธรรมกาย เป็นพื้นที่ควบคุม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในส่วนของกระบวนการยุติธรรม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย

          และหลังจากได้มีการควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายและบริเวณโดยรอบ เป็นเวลาเกือบ 2 เดือน ในวันที่ 11 เมษายน 60 ก็ได้มีประกาศหัวหน้า คสช.ยกเลิกการกำหนดให้วัดพระธรรมกายและพื้นที่โดยรอบ เป็นพื้นที่ควบคุม เนื่องจากภารกิจในการตรวจค้นวัดพระธรรมกายเพื่อจับกุมตัวบุคคลตามหมายจับของศาลอาญาได้เสร็จสิ้นลง และสถานการณ์ในพื้นที่มีความสงบเรียบร้อยเป็นปกติ

         - ปลด ‘สุขุมพันธุ์’ ตั้ง ‘อัศวิน’ 

          คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 64/2559 เมื่อ 18 ต.ค. 59 เรื่อง การให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

          คำสั่งฉบับดังกล่าว เป็นการสั่งให้ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ้นจากตำแหน่ง และให้ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่า กทม. เป็นผู้ว่า กทม. โดยให้เหตุผลว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ถูกตรวจสอบตามที่มีการกล่าวหาจากองค์กรตรวจสอบตามกฎหมาย

         - ถอดยศ ‘ ทักษิณ’

        คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 26/58 เมื่อ 5 ก.ย. 58 เรื่องการดำเนินการเพื่อถอด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตำรวจ

         โดยในคำสั่งระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดปรากฏชัดตามคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่ามีความผิด และยังมีข้อหาความผิดอาญาอื่นๆอีกหลายฐาน ซึ่งเป็นการเสื่อมเสีย จึงมีคำสั่งให้ถอด พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากยศตำรวจ

         -ผู้ขับขี่รถยนต์และผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด

          คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2560 เมื่อ 21 มี.ค.60 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

          คำสั่งฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการให้ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย ไว้กับที่นั่ง ในขณะขับขี่รถยนต์และต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์รัดร่างกายไว้กับที่นั่ง

         ต่อมาได้มีการขยายความคำสั่งนี้ไปถึงการห้ามนั่งใน‘แคป’ และ’กระบะ’ของรถยนต์ เพราะไม่มีเข็มขัดนิรภัย

        -ตั้ง’คณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง’ (ป.ย.ป.)

        คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/60 เมื่อ 17 ม.ค.60 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง

       คำสั่งฉบับนี้ ให้มี’คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือที่เรียกว่า ‘ ป.ย.ป.’ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

       - ปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค

       คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/ 60 เมื่อ 3 เม.ย. 60 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ

         คำสั่งดังกล่าว ให้มี ‘คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค‘ ซึ่ง รมว.ศึกษาฯเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในระดับภูมิภาคหรือจังหวัด

          คำสั่งดังกล่าวยังให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาคจำนวน 18 ภาค กำกับดูแลและประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ

    - จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี

       คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 28/59 เมื่อ 15 มิ.ย. 59 เรื่องให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย คือการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา(อนุบาล) ระดับประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ ( ปวช. 3 )

"ม.44" ผลงานชิ้นโบว์แดง  3 ปี คสช. ?                  -แก้ปัญหาประมงไทยโดน‘ใบเหลือง’จาก ‘อียู’

          คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2558 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

          โดยคำสั่งดังกล่าวระบุว่า จากการที่ประเทศไทยได้รับการเตือนจากสหภาพยุโรป ถึงการจัดให้มีมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ซึ่งหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเร่งด่วนภายใน 6 เดือน อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของประเทศไทยในอนาคต และความมั่นคงของประเทศไทยในภาพรวม

         คำสั่งดังกล่าวให้จัดตั้ง ‘ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย’เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี

       - แก้ปัญหาการบินพลเรือนไทย โดนองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ( ICAO) ปัก’ธงแดง ‘             คำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 27/2558 เมื่อ 11 ก.ย. 58 เรื่องการแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลและพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศไทย

        โดยคำสั่งฉบับดังกล่าว ให้มีการจัดตั้ง ‘ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน’ เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับหัวหน้า คสช.

        -แก้’แว้น’- ‘ร้านเหล้า’ ใกล้สถานศึกษา

        คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/58 เมื่อ 23 ก.ค. 58 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักยานยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการ ที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ

        โดยในส่วนของสถานบริการ ห้ามมิให้มีสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา หรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา

        -แก้ปัญหาขาย ‘ลอตเตอรี่’ เกินราคา

         คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 11/58 เมื่อ 1 พ.ค. 58 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล

         โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดว่า ผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา ที่กำหนดในสลากกินแบ่ง ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          แก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง

          คำสั่งหัวหน้า คสชที่ 78/2559 เมื่อ 27 ธ.ค. 59  เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ

          โดยคำสั่งได้ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินการจ้างผู้ประกอบการเอกชนเพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้า จัดารเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วง เตาปูน-บางซื่อ ซึ่งมีระยะทาง 1 กม. ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาจราจรและความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการเดินรถเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วง หัวลำโพง-บางซื่อ และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วง บางใหญ่-บางซื่อ

         -แก้ปัญหา กองทุนฟื้นฟู

        คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 26/2560 เมื่อ 18 พ.ค. 60 เรื่องการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

        โดยคำสั่งฉบับดังกล่าว ให้บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร,คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร พ้นจากตำแหน่งและให้มี ‘คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ’  ซึ่งมี รมว.เกษตรฯ เป็นประธานกรรมการ  และมีเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและความเดือดร้อนของเกษตรกร

         อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก หัวหน้า คสช. มีการใช้ ม.44 ออกคำสั่งมาเป็นจำนวนมากกว่าร้อยฉบับ ทำให้มีคำถามตามมาว่า เป็นเรื่องเกินความพอดีหรือไม่ เพราะการที่จะใช้ ม.44 น่าจะต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ เป็นเรื่องที่ใหญ่โต สำคัญ หรือที่เกี่ยวกับโครงสร้างของประเทศ

         แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมา สารพัดเรื่องที่ คสช.ใช้มาตรา 44 แม้กระทั่งการแก้ปัญหา’เด็กแว้น-ร้านเหล้า’,ขายลอตเตอรี่เกินราคา ซึ่งเรื่องเหล่านี้ใช้กฎหมายปกติเข้าจัดการก็น่าจะได้อยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งเรื่องการให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรัดเข็มขัด ซึ่งมีการขยายคำสั่งไปถึงการห้ามนั่งใน’แคป’ และ ‘กระบะ’ของรถยนต์ เพราะไม่มีเข็มขัดนิรภัย ซึ่งทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนเพราะทำให้ประชาชนเดือดร้อน ทำให้ต่อมาได้มีการผ่อนผันในการบังคับใช้คำสั่งนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับรถกระบะและรถกระบะมีแคป ซึ่งเท่ากับ คสช. เสีย’รังวัด’ ไปเปล่าๆโดยไม่จำเป็น และทำให้’ความขลัง’ เกี่ยวกับ ม.44 มลายลงไป

          นับแต่นี้ไป..การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เกี่ยวกับมาตรา 44 น่าจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ไม่พร่ำเพรื่อหรือ ‘ดาษดื่น ‘ อย่างที่เห็น

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ