คอลัมนิสต์

สอบตก - สอบผ่าน ??? ผลงาน 3 ปี“รัฐบาล-คสช.”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชำแหละผลงาน 3 ปี“รัฐบาล-คสช.”สอบผ่าน-สอบตก“ประชาชน”ตัดสิน

 

          22 พฤษภาคม 2560 ครบ 3 ปีที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ภายหลังยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชนว่าจะกอบกู้สถานการณ์การเมือง-เศรษฐกิจ-ปากท้อง จากใกล้ดิ่งลงเหวให้กลับเฟื่องฟูได้

          ทีมข่าวการเมือง “คม ชัด ลึก” พาไปสรุปผลงานตลอด 3 ปีของ “คสช.” เพื่อสะท้อนภาพการบริหารประเทศของ “นายกฯ ลุงตู่” ว่าสอบผ่านหรือสอบตก

ด้านความมั่นคง : ตั้งแต่คสช.เข้ามาบริหารประเทศ สถานการณ์ด้านความมั่นคงโดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมืองสงบลงอย่างเห็นได้ชัดเจน แม้จะมีบางกลุ่มที่ยังนำประเด็นฮอตในแต่ละช่วงมาเคลื่อนไหวอยู่บ้าง เช่น กรณีจับกลุ่ม “ไผ่ ดาวดิน” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จากการแชร์บทความจากบีบีซีไทย กรณีจับกลุ่ม 7 นักศึกษา รณรงค์ต้านร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อช่วงกลางปี 2559 เป็นต้น แต่ก็ไม่นำมาสู่เหตุการณ์ชุมนุมใหญ่บานปลายแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งเพราะบรรดานักการเมืองต่างก็ติดชนักห้ามเคลื่อนไหว

ทว่า สถานการณ์ความมั่นคงด้านภัยก่อการร้าย กลับมาเกิดในยุคของคสช. โดยเฉพาะเหตุลอบวางระเบิด บริเวณท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิต 12 คน ภายหลังสามารถจับกุม “อาเดม การาดัค” ผู้ต้องสงสัยลอบวางระเบิดได้ โดยถูกเชื่อมโยงไปยังประเด็นที่ “รัฐบาล-คสช.” ตัดสินใจส่งชาวมุสลิมอุยกูร์ที่ถูกคุมตัวอยู่ในประเทศไทยกลับไปยังประเทศจีน

นอกจากนี้ ยังมีเหตุลอบวางระเบิดหลายจุดในจังหวัดภาคใต้ระหว่างวันที่ 10-12 สิงหาคม 2558 ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ตรัง จ.สุราษฎร์ธานี จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา โดยเหตุระเบิดถูกเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อเหตุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทางการรัฐยังไม่สรุปข้อมูลที่แน่ชัด ขณะที่สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับมาระอุอีกในช่วงต้นปี 2560 ทั้งการลอบสังหาร 6 ทหารพราน และลอบวางระเบิดห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ปัตตานี

ผลงานด้านความมั่นคงในการควบคุมการชุมนุมของรัฐบาล-คสช. ถือว่าสอบผ่าน แต่ผลงานด้านการป้องกัน-ป้องปรามการก่อเหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะสอบตกด้วยซ้ำ

ด้านเศรษฐกิจ : รัฐบาล-คสช.พยายามช่วยเหลือประชาชนด้านการเกษตรมาตลอด แม้จะไม่ถูกใจประชาชนเสียทั้งหมด แต่ก็ยังประคับประคองสถานการณ์ไปได้ โดยเฉพาะ “ชาวนา” พบตัวเลขการช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2557-2559 ใช้เงินอุดหนุนโดยตรงและสินเชื่อไปแล้วกว่า 591,282 ล้านบาท ส่วนมาตรการช่วยเหลือการเกษตรด้านอื่น เช่น ยาง รัฐบาลได้ยกระดับราคายางให้มีราคาเกินกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่อ้อย รัฐบาลกำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำ 881 บาทต่อตัน

นอกจากนี้ยังเปิดให้ลงทะเบียนคนจน ซึ่งมีประชาชนลงทะเบียนถึง 12 ล้านคน โดยจะจัดสรรงบประมาณลงไปให้รายละ 3,000 บาท ส่วนเบี้ยเลี้ยงคนชรา รัฐบาลได้เพิ่มจากคนละ 500 บาทต่อเดือน เป็น 600-900 บาทต่อเดือน โดยล่าสุดมีแนวโน้มคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเบี้ยเลี้ยงคนชราเป็น 1,200-1,500 บาทต่อเดือน

พร้อมกันนี้ “บิ๊กตู่” ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาการเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับสถานีบางซื่อ โดยยอมควักเงินเกือบพันล้านบาท ให้เอกชนเร่งเดินรถภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน อีกทั้งครม.ได้อนุมัติสร้างรถไฟฟ้าครบทุกเส้นทาง เหลือเพียงรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สำโรง-ลาดพร้าว และสายสีชมพู ปากเกร็ด-มีนบุรี ซึ่งใกล้นำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในอีกไม่ช้า

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมในช่วง 2 ปีแรกของการบริหารงานอาจจะซบเซาลงไปบ้าง เพราะได้รับอิทธิพลเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงขาลงกันเกือบหมด แต่ในช่วงปี 2560 ทั้งภาครัฐและเอกชนมองว่าภาคอุตสาหกรรมจะกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง โดยรัฐบาล-คสช.มีมาตรการกระตุ้นการลงทุน เช่น ระเบียงเศรษฐกิจอาเซียน เพิ่มโซนเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเพิ่มแรงจูงให้นักลงทุนหันกลับมาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุน

ด้านนิติบัญญัติ : รัฐบาลและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 นอกจากนี้ผลักดันกฎหมายทั้งปรับปรุงแก้ไขและกฎหมายใหม่ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกเป็นกฎหมายมาบังคับใช้ได้จำนวนมาก ตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 2559 สามารถออกกฎหมายได้ 187 ฉบับ ซึ่งกฎหมายหลายฉบับมีความทันสมัย เหมาะสมกับโลกในปัจจุบัน แต่ยังมีกฎหมายบางฉบับที่ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปในทิศทางลบ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และ พ.ร.บ.ควบคุมสื่อมวลชน ที่กำลังจะออกมาบังคับใช้

นอกจากนี้ “สนช.” ยังเช็กบิลถอดถอนนักการเมืองขั้วตรงข้าม ไล่ตั้งแต่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี “สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล” อดีตรมว.ต่างประเทศ “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีตรมว.พาณิชย์ “พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต” อดีตรมว.กลาโหม “อุดมเดช รัตนเสถียร” อดีตส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย “สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา

ด้านบริหารราชการ : แวดวงราชการรัฐบาล-คสช. ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าไล่เช็กบิลข้าราชการขั้วตรงข้าม ที่เป็นคีย์แมนฝั่งข้าราชการให้แก่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปไม่น้อย อาทิ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ “พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร” อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) “สาธิต รังคสิริ” อดีตอธิบดีกรมสรรพากร เป็นต้น

แต่ที่งุนงงกันคือ “บิ๊กตู่” ย้ายข้าราชการหลายคนออกจากตำแหน่ง แล้วก็ย้ายกลับมานั่งตำแหน่งเดิม เพราะขาดมือทำงานที่เข้าใจปัญหาลึกซึ้ง จนเกิดกระแสข่าวว่ามีบางคนคอยปล่อยข่าวจน "นายกฯ" เข้าใจผิด อย่างกรณี "อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” จากปลัดกระทรวงพลังงาน ให้มานั่งเก้าอี้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ก่อนปรับไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สุดท้ายต้องปรับให้กลับมานั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงพลังงานเหมือนเดิม

ด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต : การจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ทำให้หน่วยงานรัฐด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สามารถบูรณาการข้อมูลกันได้ ไม่แยกกันทำเหมือนแต่ก่อน และทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการเอาผิด โดยใช้มาตรา 44 สั่งย้ายข้าราชการเพื่อเปิดทางให้สอบสวนคดีทุจริตไปหลายร้อยคน อาทิ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม.

แต่ในทางตรงกันข้าม รัฐบาล-คสช.กลับถูกสังคมตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงการของทหารที่ส่อว่าจะเกิดการทุจริต แต่การตรวจสอบกลับถูกกล่าวหาว่าไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร อาทิ โครงการอุทยานราชภักดิ์ โครงการสร้างฝายแม่พ่องพรรณ (ภรรยาพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม) โครงการขุดลอกคูคลองขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และล่าสุดโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่ครม.อนุมัติโดยไม่แถลงให้ประชาชนรับทราบข้อมูล จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเหตุจำเป็นอะไรที่ไม่ยอมชี้แจงรายละเอียด

ทั้งหมดคือผลงาน 3 ปีของ “รัฐบาล-คสช.” ที่นำโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่วนจะประทับใจ-ถูกใจ-ไม่ถูกใจ “ประชาชน” เป็นคนตัดสิน

///

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ