คอลัมนิสต์

ส่องเอกสาร กอ.รมน.จ่ายหัวละ 2 แสนดึง “ผรท.” เป็นฐานเสียง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่องเอกสาร กอ.รมน.จ่ายหัวละ 2 แสนดึง “ผรท.” เป็นฐานเสียง

 

          ในที่สุด ที่ประชุม ครม.รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติงบกลาง จ่ายเงินช่วยเหลือให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) จำนวน 6,183 คน จะได้รับเงินรายละ 225,000 บาท รวมเป็นเงิน1,391,175,000 บาท

          จาก‘วันสันติภาพ’ หรือ ‘วันป่าแตก’ รวมทั้งคำเรียกขานผู้กลับใจเข้ามอบตัวว่า ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ (ผรท.) พร้อมกับการจัดสรรที่ดินทำกินให้ ซึ่งดูเหมือนเรื่องจะจบ แต่ไม่จบ จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน

          เหตุผลหนึ่งที่ทุกรัฐบาลปฏิเสธไม่ได้คือ “ผรท.” เป็นอดีตสหาย หรืออดีตกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จัดว่าเป็นฐานกำลังทางการเมืองที่ไม่ควรมองข้าม

 

ส่องเอกสาร กอ.รมน.จ่ายหัวละ 2 แสนดึง “ผรท.” เป็นฐานเสียง

 

          ดังปรากฏในเอกสารของ กอ.รมน.ภาค 2 ที่ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง กอ.รมน.จังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน สรุปผลการประชุมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหา ผรท. ระดับภาค 1-4 ซึ่งได้มีการวางแนวทางการปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ไปดำเนินการ 

          ที่น่าสนใจคือ ข้อที่ว่าด้วยการมอบเงินช่วยเหลือ ในเอกสาร กอ.รมน.ภาคที่ 2 ระบุว่า 

          "การจัดพิธีรับมอบเงินช่วยเหลือ ควรจัดพิธีภายในค่ายทหาร และเรียนเชิญ ผวจ. ที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิธี โดยจัดให้เรียบร้อยภายใน 1 วัน...

          “ควรอำนวยความสะดวกและดูแล ผรท. ให้ดีเฉกเช่นนักรบผู้กลับใจพัฒนาประเทศ ให้ได้ใจ และได้มวลชน จากนั้น กอ.รมน.ภาค ควรพิจารณาว่า จะใช้มวลชน ผรท. มาเป็นแหล่งข่าวหรือใช้เป็นมวลชนในการสนับสนุนกิจกรรมของรัฐบาลได้อย่างไรในอนาคต”

000

          นับจากรัฐบาลสุรยุทธ์ ที่มีการจ่ายเงินรายหัว มาจนถึงรัฐบาลประยุทธ์ มีเส้นทางเป็นอย่างไร?

          ปี 2548 คณะรัฐมนตรีรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีมติช่วยเหลือการประกอบอาชีพของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เนื่องจากรัฐบาลมีปัญหาเรื่องการจัดหาที่ดิน จึงเปลี่ยนเป็น “เงินสด” แทน โดยได้รับความช่วยเหลือเป็นค่าที่ดิน 5 ไร่ ไร่ละ 1.5 หมื่นบาท รวมเป็นเงิน 7.5 หมื่นบาท และเงินลงทุนประกอบอาชีพ (เทียบเท่าวัว 5 ตัว) เป็นเงิน 5 หมื่นบาท รวมเป็นเงิน 1 แสน 2 หมื่น 5 พันบาท

          แต่การช่วยเหลือผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยครั้งนั้น ติดขัดปัญหางบประมาณ ที่ไม่มีระเบียบการช่วยเหลือทำนองนี้ได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ฯ ยกเลิกไปแล้ว และ คำสั่ง 66/2523 ย่อมไม่มีผลใดๆ ในการปฏิบัติ

          ด้านหนึ่ง กุนซือทักษิณประเมินว่า การช่วยเหลืออดีตสหาย จะเกิด “ลัทธิเอาอย่าง” มีกลุ่มโน้นกลุ่มนี้มาเรียกร้องอีก จึงไม่ตัดสินใจอนุมัติงบกลาง เรื่องการช่วยเหลืออดีตสหายในรัฐบาลทักษิณ จึงค้างเติ่งอยู่ในทำเนียบรัฐบาล กระทั่งเกิดรัฐประหาร 2549 

          เมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และในฐานะที่บิดาของ พล.อ.สรยุทธ์ คือ  พ.ท.พโยม จุลานนท์ หรือ “สหายคำตัน” เป็นเสนาธิการกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย จึงเดินทางไปเยี่ยมผูัร่วมพัฒนาชาติไทย ที่ จ.สกลนคร 

ส่องเอกสาร กอ.รมน.จ่ายหัวละ 2 แสนดึง “ผรท.” เป็นฐานเสียง

 

          อดีตสหายที่เคยยื่นเรื่องร้องขอให้ชวยเหลือจากรัฐบาลทักษิณ จึงแจ้งให้ พล.อ.สรยุทธ์ ทราบ และนายกรัฐมนตรี “ลูกคอมมิวนิสต์” จึงได้นำเอาเรื่องช่วยเหลือ ผรท. ของรัฐบาลทักษิณมาพิจารณา และอนุมัติเงินช่วยเหลือไปทันที โดยหวังผลที่จะให้อดีตสหายเป็น “ฐานเสียง” สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร

          การช่วยเหลือผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย สมัยรัฐบาลสรยุทธ์ จึงถือว่า่ เป็นครั้งที่ 2 จำนวน 2,609 คน และจ่ายเป็นเงินรายละ 125,000 บาท

          พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ประกาศว่า นี่เป็นการช่วยเหลือครั้งสุดท้าย หากมีกลุ่มใดมาร้องขอให้ช่วยเหลือ ก็มอบให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการช่วยเหลือเป็นกลุ่มก้อน ไม่ “จ่ายเงินรายหัว” อีกแล้ว

          จวบจนมาถึงรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในภาคอีสาน หลายกลุ่ม เดินทางเข้ามา “ทวงสัญญา 66/2523” บอกว่า  เป็นกลุ่ม “สหายตกหล่น”

          อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ จึงเซ็นคำสั่งที่ 190/2552 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ว่าด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการช่วยเหลือความเดือดร้อนของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น เป็นประธาน

          ในการประชุมนัดแรก “สุเทพ” เสนอให้ประเมินราคาที่ดินใหม่ จึงทำให้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มจาก 125,000 บาท เป็น 225,000 บาท

          เหนืออื่นใด “สุเทพ” ประกาศให้ช่วยเหลืออดีตสหายทั้งประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะภาคอีสาน เหมือนสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ 

          จากนโยบาย “สหายเงินแสน” ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ได้ก่อให้เกิดกระแส “ป่าช้าแตก” นั่นคือ การปลุกผีคอมมิวนิสต์ครั้งใหม่ โดยการตั้งกลุ่มออกล่ารายชื่อบุคคล ทั้งที่เป็นสหาย และไม่เป็นสหาย เพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการคัดกรองของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)

          ปรากฏว่า มีการส่งรายชื่อผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยทั้งประเทศ ประมาณ 3 หมื่นราย แต่ผ่านการคัดกรองไม่ถึงหมื่น ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ จ่ายเงินช่วยเหลือรายละ 225,000 บาท จำนวน 9,181 ราย ก่อนหน้าการเลือกตั้ง 2554 ไม่ถึง 3 เดือน

000

          ผ่านมาถึงรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขบวนการเรียกร้อง “สหายเงินแสน” ก็ยังเกิดขึ้นอีก โดยข้ออ้างเดิมๆว่า “สหายตกหล่น” 

          อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ แต่งตั้ง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ซึึ่งมีการออกล่ารายชื่อสหาย เพื่อส่งเข้าคัดกรองเหมือนเดิม

 

ส่องเอกสาร กอ.รมน.จ่ายหัวละ 2 แสนดึง “ผรท.” เป็นฐานเสียง

 

 

          ปี 2556 กอ.รมน. แจ้งยอดรายชื่อผู้ที่อ้างว่าเป็นอดีตสหาย หรือ ผรท.ทั่วประเทศ มีอยู่ประมาณ 1.3 แสนคน แต่ พล.ต.อ.ประชา ได้สั่งการให้ "คัดกรองอย่างเข้มข้น" โดยให้เป็น "สหายตัวจริงเท่านั้น

          ในที่สุด กอ.รมน. คัดกรอง ผรท. ได้ตัวจริง 4,430 ราย และรวมกลุ่มตกค้างจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1,175 ราย พร้อมกับมีการยื่นเพิ่มเติมมาจากสหายภาคใต้อีกส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่ทันที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะจ่ายเงิน ก็เกิดรัฐประหาร 2557

          สุดท้ายผู้ที่จ่ายเงินให้ ผรท.ก็คือ รัฐประยุทธ์ โดยมี ผรท.จำนวน 6,183 คน จะได้รับเงินรายละ 225,000 บาท รวมเป็นเงิน  1,391,175,000 บาท

          โฆษก กอ.รมน. บอกว่า จะเป็นการช่วยเหลือ ผรท.เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งก็พูดเหมือน พล.อ.สุรยุทธ์ เมื่อปี 2550

          สรุปว่านับแต่ปี 2525 จนถึงปี 2560 รัฐบาลได้ให้การข่วยเหลือผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยไปแล้วเกือบ 2 หมื่นคน คิดเป็นเงินประมาณ 4 พันล้านบาท และยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่า มันจะเป็นการช่วยเหลือครั้งสุดท้ายจริงๆ 

          ตราบเท่าที่ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ยังถูกให้ค่าให้ราคาว่าเป็น “ขุมพลังทางการเมือง” 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ