คอลัมนิสต์

ตามจับ ‘บอส’ หน้าที่ 'ตำรวจ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การขอออกหมายจับผู้ต้องหาต่อศาล เป็นหน้าที่และอำนาจของพนักงานสอบสวน รวมทั้งการติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

          เป็นข่าวที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก เกี่ยวกับคดีของนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ซึ่งเป็นทายาทระดับมหาเศรษฐีของเมืองไทย ผู้ต้องหาคดีขับรถชนคนตาย ที่ได้ส่งทนายความมาขอเลื่อนคดีกับอัยการหลายครั้ง อ้างติดภารกิจในต่างประเทศ ทำให้อัยการไม่สามารถนำตัวนายวรยุทธ ไปยื่นฟ้องต่อศาลตามคำสั่งฟ้องของอัยการได้

          ล่าสุด ทางอัยการได้มีหนังสือแจ้งพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ  ให้ไปตามตัวนายวรยุทธ มาส่งอัยการเพื่อนำตัวยื่นฟ้องต่อศาล หากตามตัวไม่ได้ให้พนักงานสอบสวนร้องขอต่อศาลเพื่อออกหมายจับ  ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ได้ไปยื่นร้องขอหมายจับต่อศาลและศาลได้ออกหมายจับให้ตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอแล้ว 

       อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้สงสัยว่า ทำไมอัยการต้องให้พนักงานสอบสวน เป็นผู้ร้องขอต่อศาลออกหมายจับในกรณีที่ตามตัวนายวรยุทธ ไม่ได้ พนักงานอัยการสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้ออกหมายจับนายวรยุทธได้เองหรือไม่ โดยไม่ต้องให้ตำรวจดำเนินการให้ 

       ประเด็นนี้ นายเจษฎา อนุจารี ทนายความผู้คร่ำหวอดในวงการกฎหมาย อธิบายว่า ในทางปฏิบัติที่ทำกันมา ในเรื่องการขอออกหมายจับต่อศาล พนักงานอัยการจะแจ้งให้พนักงานสอบสวน เป็นผู้ไปร้องขอต่อศาลเพื่อออกหมายจับ เพราะในการจับกุมตัวผู้ต้องหา เป็นอำนาจตามกฎหมายของตำรวจ  อัยการไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจับกุมตัวผู้ต้องหาได้

        “ จะเห็นได้ว่าหมายจับของศาลทุกฉบับ จะมีถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินการทั้งนั้น ”

          อย่างไรก็ตาม ‘เจษฎา’  เห็นว่า พนักงานสอบสวนมีสิทธิที่จะขอเวลาพิจารณาหนังสือที่พนักงานอัยการแจ้งมาให้ดำเนินการว่า ถูกต้องครบถ้วน เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายที่จะขอศาลออกหมายจับหรือไม่

          “แต่ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนจะไม่โต้แย้งอัยการ จะปฏิบัติตามคำสั่งของอัยการ เมื่อได้รับหนังสือแจ้งให้ไปดำเนินการตามตัวผู้ต้องหาหรือขอหมายจับจากศาล พนักงานสอบสวนก็จะปฏิบัติตามคำสั่งของอัยการ”

          นอกจากนี้เมื่อพลิกไปดู'ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา' พบว่า ตามกฎหมายได้ให้อำนาจกับพนักงานสอบสวนเป็นผู้ขอออกหมายจับต่อศาล โดยอัยการไม่สามารถขอหมายจับต่อศาลได้เอง 

          ส่วนในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น จะเริ่มขึ้นหลังจากศาลออกหมายจับและปรากฏว่าผู้ต้องหาหลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ  ซึ่งขั้นตอนการติดตามตัวหลังจากออกหมายจับก็เป็นหน้าที่ของตำรวจ ที่จะมีการประสานทุกช่องทาง ทั้ง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) และตำรวจสากล รวมทั้งทางประเทศอังกฤษ ที่มีข่าวว่านายวรยุทธ ไปพักอาศัยอยู่เพื่อนำตัวนายวรยุทธ มาดำเนินคดีในประเทศไทย

        ส่วนประเด็นที่ว่า หากนายวรยุทธ ได้สัญชาติอื่น จะเป็นอุปสรรคในการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่นั้น นายเจษฎา กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะถ้าประเทศที่นายวรยุทธ ไปพักอาศัยอยู่นั้น มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย ก็ต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาหากไม่เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องส่ง เช่น เป็นคดีการเมือง

       “แต่ถ้าเป็นประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทย ประเทศนั้นอาจจะอ้างได้ว่า ไม่มีนโยบายส่งผู้ร้ายข้ามแดน คนที่มีสัญชาติของประเทศนั้น”  

       ทั้งนี้ในเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น โดยปกติแล้วรัฐแต่ละรัฐไม่มีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่รัฐอื่น 

       ดังนั้นเมื่อประเทศต่างๆมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความร่วมมือกันในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน จึงได้มีการวางหลักการพื้นฐานเป็นแบบพิธีและขั้นตอนในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อให้เป็นหลักปฏิบัติระหว่างกัน โดยแต่ละประเทศอาจมีการทำเป็นสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐต่อรัฐ 

         แต่ในกรณีที่ไม่มีการทำสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศทั้งสองไว้  การส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็อาจกระทำโดยหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่างตอบแทนกัน กล่าวคือ หากรัฐหนึ่งยอมส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่อีกรัฐหนึ่งที่ร้องขอแล้ว รัฐที่ร้องขอย่อมมีพันธกรณีที่จะต้องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปให้รัฐ ที่ได้รับการร้องขอเมื่อต้องการเช่นเดียวกันในกรณีที่ขอให้ส่งบุคคลซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด

         ดังนั้น เมื่อมีการร้องขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเกิดขึ้น ในเบื้องต้นจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่าประเทศทั้งสองนั้น มีสนธิสัญญาเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนทำไว้ต่อกันหรือไม่ ถ้าหากไม่มีสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนทำไว้ต่อกัน ต้องถือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่างตอบแทนกัน

        อย่างไรก็ตาม การขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ไม่ใช่ว่าจะสามารถขอได้ในการกระทำความผิดทุกประเภท ความผิดที่จะขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้นั้น จะต้องมีลักษณะดังนี้

      1. ต้องเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกไว้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี และต้องเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาที่สามารถลงโทษได้ ทั้งในประเทศที่ร้องขอและประเทศที่รับคำร้องขอด้วย

      2. ต้องไม่ใช่คดีที่ศาลของประเทศผู้ร้องขอได้พิจารณาและพิพากษาให้ปล่อยหรือได้รับโทษในความผิดที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาแล้ว

       3. ต้องไม่ใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง หรือการที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ความจริงมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเอาตัวไปลงโทษอย่างอื่นที่มีลักษณะทางการเมือง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ