คอลัมนิสต์

“รวมพลังคนข่าว” สื่อถึง “รัฐ” หยุดตีทะเบียนสื่อมวลชน!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อ สปท. เตรียมผลักดันกฎหมายคุมสื่อ บังคับให้สื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาต นี่คือเสียงสะท้อนจากคนข่าว

หลังจากที่ “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” ยอมรับบรรจุ “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ....” ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ที่ให้อำนาจรัฐมีส่วนสำคัญต่อการกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของ “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” ผ่านการออกใบอนุญาตให้ทำหน้าที่ และกำหนดบทลงโทษขั้นสูง หากใครก็ตามที่ สื่อข่าว-สื่อข้อมูล โดยไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบอาชีพ

ทำให้ “สื่อมวลชน กลุ่มหนึ่ง” ที่ตระหนักถึงอันตราย ของสาระแห่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ร่วมรณรงค์ในกิจกรรมเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ ที่มีภาพของตัวเอง ล้อมกรอบด้วยสีขาว และมีข้อความใต้กรอบว่า “หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำประชาชน” ทั้งนี้ยังมี ภาพ “มือดำกำโซ่ และดึงให้ขาด เพื่อปล่อย นกพิราบให้เป็นอิสระ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนการปลดปล่อย เสรีภาพของสื่อมวลชน ให้ออกจากการพันธะนาการจากโซ่ตรวนของผู้มีอำนาจรัฐ

นอกจากนั้นยังมี “สื่อมวลชน” ที่ไม่อยากใช้รูปของตัวเองประกอบ ได้นำ “ข้อความภาพที่มีภาพและข้อความเดียวกัน” มาเปลี่ยนใช้แทนรูปประจำตัว

โดยบรรยากาศการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ ทั้ง Line,Facebook,Twitter,Instargram เป็นไปอย่างคึกคัก “สื่อมวลชน” หลากหลายแขนง และหลากหลายสาย รวมพลังเปลี่ยนรูปประจำตัวด้วยความสมัครใจ เพราะพวกเขาเหล่านั้นต้องการสื่อสารไปยังผู้มีอำนาจ ให้ เคารพต่อการปฏิบัติหน้าที่ และ สื่อถึง “คนในสังคม” ให้รู้ว่า ภัยมืดที่กระทบสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รุกคืบมาถึงหน้าบ้านแล้ว

สำหรับความเห็นของ “ตัวแทนสื่อมวลชน” ที่ปรับรูปประจำตัวเพื่อร่วมรณรงค์ต้านกฎหมายคุมสื่อฯ ส่วนใหญ่ย้ำให้“ผู้มีอำนาจเคารพต่อการทำหน้าที่” และหากจะปฏิรูปสื่อมวลชนให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ควรใช้รูปแบบของการออกกฎหมาย เพื่อ“กดหัววิชาชีพ” แต่ควรสนับสนุนให้“สื่อมวลชนได้รวมตัวและดูแลกันตามมาตฐานแห่งวิชาชีพที่ถูกยกระดับ”

 

โดย“แสงระวี สุมณฑา ผู้สื่อข่าวอาวุโสสายการเมือง-ทำเนียบรัฐบาล หนังสือพิมพ์แนวหน้า”มองว่า หากสื่อมวลชนถูกควบคุม ผ่านการตีทะเบียนโดยบุคคลที่สื่อมวลชนต้องตรวจสอบการทำงาน จะทำให้เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติหน้าที่ทั้งนี้อยากทราบความคิดของคนที่ออกกฎหมายนี้ต่อประเด็นของการตรวจสอบฝ่ายบริหารในอนาคต ว่า เขาจะยอมได้หรือไม่ หากสื่อมวลชนไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมได้เหมือนที่ผ่านมา

 

  “การรณรงค์เปลี่ยนโปรไฟล์นั้น เห็นด้วย และคิดว่าถึงเวลาที่พวกเราในวงวิชาชีพต้องร่วมมือกัน เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลกระทบต่อทุกคน เราต้องช่วยกันต่อต้าน และขัดขว้างในรูปแบบที่ทำได้” แสงระวี ระบุ

 

  

ขณะที่ “เตชะวัฒน์ สุขรักษ์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง7” ที่ร่วมสนับสนุนและเปลี่ยนรูปประจำตัว เพื่อสะท้อนให้เห็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างเข้มแข็งเพื่อนำข้อมูลที่รอบด้านสื่อให้ประชาชนทราบ กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นการเคลื่อนไหวและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อส่งสัญญาณให้กับผู้มีอำนาจรัฐทราบว่า สื่อมวลชน ยังต้องการมีอิสระในการทำหน้าที่ของตนเอง อย่างไรก็ตามการเรียกร้องของ องค์กรสื่อมวลชนและสื่อมวลชน กลุ่มหนึ่ง ครั้งนี้ควรทำให้เข้มแข็ง อย่างน้อยต้องเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ชี้แจงข้อเท็จจริง เหตุผล ความต้องการที่แท้จริง โดยอย่าอ้างว่ามีกฎหมายเพื่อปฏิรูปสื่อมวลชน

 

ส่วนรายละเอียดของร่าง กฎหมาย ฉบับนี้ ที่จะเข้าสู่ทีประชุม สปท. วันที่1พ.ค. นั้น “เตชะวัฒน์” ให้ความเห็นด้วยว่า ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่เขียนบทกำหนดโทษ ด้วยการจำคุก3ปี ปรับ6หมื่นบาท หากใครก็ตามที่สื่อข่าวสารโดยไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพ

 

“ผมไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ต้องลงโทษนักข่าว กรณีที่ไม่มีใบอนุญาต เพราะความเป็นจริง คนทุกคน ชาวบ้านเขาสามารถสื่อข่าวได้ อย่างบางพื้นที่เมื่อเขาเจอเหตุการณ์ เขาจะใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายไว้ แล้วนำมาให้สำนักข่าว แต่การจะนำเสนอหรือไม่นั้นอยู่กับการตรวจสอบ และคัดกรองจากทางสำนักข่าวนั้นๆ ดังนั้นกรณีที่เขียนให้มีบทลงโทษกับใครที่ไม่มีใบอนุญาต เท่ากับต้องการปิดกั้นการนำเสนอข้อมูล และจำกัดสิทธิการรับรู้ของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งส่งผลทำให้สังคมไม่สามารถรับรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่” เตชะวัฒน์ ระบุ

 

 

ทางด้าน“สามารถ คุ้มทรงธรรม ผู้สื่อข่าวอาวุโส ข่าวภาคกลางและตะวันออก สำนักข่าวไทย” ซึ่งเป็นนักข่าวอีกคนที่เปลี่ยนรูปประจำตัว ให้ความเห็นว่า ร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อวลชน นั้น เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การควบคุม การปิดหูปิดตา การกระทำที่ไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ

  

เช่นเดียวกับ“เลิศวุฒิ อุปนันท์ ผู้สื่อข่าวการเมือง-รัฐสภา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายคุมสื่อฉบับที่ สปท. เตรียมพิจารณา เพราะมีเนื้อหาให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาต และกรณีที่ให้มีกรรมการเพื่อควบคุมจริยธรรม มองว่าไม่สามารถปฏิรูปสื่อได้ และเสี่ยงที่จะกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์เพราะมีโควต้าคนนอก ขณะที่โควต้าจากสื่อเองยังไม่มีหลักประกันของการไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนการทำกิจกรรมครั้งนี้ คงหยุดการปลูกถ่ายความไม่ฉลาดผ่านกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ เพราะด้วยนิสัยของผู้มีอำนาจที่ชอบยึด

  

 ส่วน “นักข่าวสายองค์กรอิสระ - ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์ สังกัดหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์” มองว่าการออกกฎหมายเพื่อคุมมาตรฐานหรือจริยธรรมสื่อมวลชน ควรรับฟังความเห็นจากนักข่าวภาคสนาม หรือ ความคิดใหม่ นอกจากตัวแทนขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่สะท้อนมุมมองของการทำงานภาคสนาม และถูกสังคมมองว่าเป็นการทำหน้าที่ที่ขัดต่อจริยธรรม

 

ขณะที่ “ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ผู้นำขององค์กรนักข่าว เชื่อว่ากิจกรรมเปลี่ยนรูปประจำตัวบนสื่อสังคมโซเชียลมีเดียนั้น จะสามารถสื่อสารไปยังผู้มีอำนาจและสังคมให้ตระหนักถึงอันตรายที่อำนาจรัฐจะเข้ามาครอบงำเสรีภาพของนักข่าว และสกัดข้อมูลที่จะสื่อถึงประชาชนอย่างรอบด้าน แม้การเปลี่ยนรูปประจัวจะถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ มีสัญญาณ การเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนเพื่อสื่อถึงสังคมแล้วว่า ร่างกฎหมายนี้มีภัยต่อสังคม และถือเป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วย

“เราไม่ได้คัดค้านการมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ แต่สภาวิชาชีพนั้น ต้องเป็นกลไกที่กำกับกันเอง โดยไม่มีอำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง หรือครอบงำ แต่เนื้อหาของร่างกฎหมายที่ออกมา ไม่ใช่การปฏิรูปสื่อ แต่เป็นการปิดปาก ปิดมือ และเปิดทางให้รัฐมาแทรกแซงได้ทั้งหมด” ปราเมศ ระบุ

ทั้งนี้ “นายกสมาคมนักข่าวฯ” ย้ำด้วยว่าสำหรับการเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนเพื่อต่อต้านกฎหมาย ที่ขอตั้งฉายาว่า “กฎหมายคุมสื่อฯ” จะไม่หวั่นไหวแม้จะมีธงนำ หรือใบสั่งจากผู้มีอำนาจฝ่ายใด สิ่งที่สื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชนต้องร่วมมือกันหลังจากนี้ คือ การชี้แจงให้ประชาชนรับทราบถึงรายละเอียดว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำให้รัฐบาลไม่ถูกตรวจสอบ แม้จะนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ในโครงการที่ส่อว่าจะทุจริต และทำความเข้าใจกับรัฐ เพื่อให้ทำกฎหมายที่เป็นกฎหมายเพื่อการปฏิรูปสื่อมวลชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อควบคุมหรือปิดกั้น.

นั่นก็เป็นความเคลื่อนไหวทั้งหมด ของ “ตัวแทนสื่อมวลชน” ต่อการยืนหยัดเพื่อคัดค้านกฎหมายคุมสื่อมวลชน ที่เป็นผลไม้พิษของประชาชนในอนาคต หากมีการบังคับใช้จริง

 

--

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ