คอลัมนิสต์

ก.ม.เปิดช่อง...“รีดส่วย รปภ.” 4 แสนคน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทีมข่าวรายงานพิเศษ

     ในอดีต “ยาม” คือผู้ช่วยเฝ้าบ้าน เฝ้าโรงงาน ดูแลความปลอดภัยให้พวกเรา การคัดเลือกว่าจ้างเป็นไปตามอัธยาศัย ไม่ต้องมีเครื่องแบบหรือยูนิฟอร์ม ...แต่ช่วง 20–30 ปีที่ผ่าน ใครเผลอเรียกคนโบกรถว่า “ยาม” จะถูกค้อนหรือถลึงตาเข้าใส่ ต้องเรียกว่า “คุณ รปภ.” ตัวย่อของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ส่วนใหญ่สังกัดบริษัทใหญ่โต มีชุดเครื่องแบบขึงขังเลียนแบบดัดแปลงจากชุดทหาร-ตำรวจ..

     ในวันนี้มีการร้องเรียนให้จัดระเบียบและเพิ่มคุณภาพ “รปภ.” อย่างจริงจัง เพราะถือเป็นบุคลากรสำคัญ เป็นผู้มีอำนาจสิทธิพิเศษควบคุมสถานที่ หรือบุคคลสำคัญ จึงไม่ควรปล่อยให้ “ใครก็ได้” มาสมัครเป็น “รปภ.”

       ข้อมูลกระทรวงแรงงานประเมินว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยอย่างน้อย  4 พันแห่ง จำนวน “รปภ.” ไม่ต่ำกว่า 3.5-4แสนคน ทั่วประเทศ ดังนั้นควรมีกฎหมายมารองรับและจัดระเบียบอย่างจริงจัง

     ในที่สุดรัฐบาลคสช. เร่งรัดออก “พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558”  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่มีนาคม 2559 โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้มี 5 ประการ ได้แก่

       1.มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป 2.มีการศึกษาระดับมัธยมต้น หรือม.3 เป็นอย่างน้อย 3.ไม่มีประวัติอาชญากรรมร้ายแรง 4. เจ้าของธุรกิจและเจ้าหน้าที่ รปภ. ต้องลงทะเบียน 5.ผ่านการอบรมหลักสูตรพิเศษ

     ปรากฏว่าหลังบังคับใช้กฎหมายมากว่า 1 ปี เครือข่ายบริษัท รปภ. เริ่มเคลื่อนไหวต่อรองขอผ่อนปรนข้อบังคับสำคัญทั้ง 5 ประการ โดยมีเหตุผลประกอบดังนี้

  1.การกำหนด “สัญชาติไทยเท่านั้น” ทำให้นักสิทธิมนุษยชนมองว่าเป็นการกีดกันเพื่อนบ้าน ชาวพม่า ชาวลาว ชาวกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในไทย เพราะหากพวกเขาสามารถผ่านการทดสอบคุณสมบัติต่างๆ พูดอ่านเขียนภาษาไทยได้คล่องแคล่ว ผ่านการอบรม ไปขึ้นทะเบียนแรงงานถูกกฎหมาย ก็ไม่ควรจะปิดหนทางในการทำมาหากิน โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่มักว่าจ้าง รปภ.หนุ่มพม่าหน่วยก้านดูดี สุภาพเรียบร้อย ค่าแรงสมเหตุสมผล ทำงานขยันขันแข็ง แต่ในวันนี้พวกเขาทั้งหมดต้องลาออกไปหางานอื่นทำ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน รปภ. ประเมินกันว่าธุรกิจด้านนี้ยังต้องการพนักงานเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20

      2.“กำหนดวุฒิการศึกษา”  จากผลสำรวจกระทรวงแรงงานพบตัวเลข รปภ.ผู้ไม่มีวุฒิการศึกษาม.3 ประมาณ 2.7 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 84 รัฐบาลคสช. เริ่มตระหนักถึงความยากลำบากในการหา รปภ.ที่จบระดับมัธยมต้น จึงออก “ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 28/2559” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดให้ รปภ.มีโอกาสได้เรียนหนังสือเพิ่มเติมเพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี และเป็นการเรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

       ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ รปภ.ส่วนใหญ่อายุ 40-50 ปีขึ้นไป ว่างเว้นจากการท่องหนังสือหรืออ่านหนังสือสอบมาเนิ่นนาน จึงเลือกขอลาออกไปทำอาชีพอื่นทำแทนการอ่านหนังสือสอบ

      3.“ไม่มีประวัติอาชญากรรมร้ายแรง” รวมถึงไม่เป็นผู้ติดสุรายาเสพติด และไม่เคยจำคุกคดีเกี่ยวกับ “เพศ ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์ การพนัน ยาเสพติด” ยกเว้นได้รับถูกจำคุกไปเรียบร้อยแล้ว พ้นโทษออกมาใช้ชีวิตปกติไม่น้อยกว่า 3 ปี แต่สำหรับผู้ทำผิดคดีเกี่ยวกับ “เพศ” จะไม่ได้รับการยกเว้น 

       ปัญหาพิสูจน์ว่าใครติดสุราหรือไม่ กลายเป็นภาระของบริษัทที่ต้องพิสูจน์โดยให้แพทย์ออกใบรับรองให้ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ยิ่งไปกว่านั้นมีการตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายข้อนี้ถือเป็นการกีดกัน “การทำงาน” หรือไม่ เนื่องจากผู้ที่รับโทษจำคุกมาแล้วควรได้รับโอกาสในการกลับคืนสู่สังคมโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

     4.การขึ้นทะเบียน "ธุรกิจ รปภ.” และ “เจ้าหน้าที่ รปภ.”

     จากนี้ไปผู้ที่เป็นรปภ.ต้องมีบัตรประจำตัว หากใครไม่มีอาจโดนทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ 5 พันบาท สำหรับบริษัทถ้าไม่มีใบอนุญาตจะโดนปรับ 2 หมื่นบาท หรือโทษจำคุก 1 ปีการขึ้นทะเบียนมีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้อยากทำธุรกิจนี้ฉบับละ 5 หมื่นบาท ต่ออายุทุก 4 ปี ส่วนเจ้าหน้าที่ รปภ. เสียค่าธรรมเนียมบัตรประจำตัวใบละ 1 พันบาท ต่ออายุทุก 3 ปี

     หน่วยงานที่มีหน้าที่ขึ้นทะเบียนคือ “ตำรวจ” ผู้บังคับการตำรวจภูธรทั้ง 76 จังหวัด มีหน้าที่อำนวยความสะดวกและพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติคดีความย้อนหลัง ว่าเคยต้องโทษจำคุกเกิน 3 ปีหรือไม่ แม้ว่าเส้นตายของการขึ้นทะเบียน รปภ. 4 แสนคนถูกกำหนดให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 26 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ปรากฏว่า ณ วันนี้ คนที่ไปลงทะเบียนเมื่อหลายเดือนที่แล้วยังไม่ได้รับและยังไม่เคยเห็น “บัตรประจำตัวรปภ.” ได้แต่รอลุ้นว่าเมื่อไรจะได้มาติดหน้าอกโชว์เสียที

     5.ผ่านการอบรม “หลักสูตรการรักษาความปลอดภัย”  จนถึงวันนี้กฎหมายลูกหรือระเบียบปฏิบัติยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัด สถานที่ฝึกอบรมต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด

     ดร.วัชรพล บุษมงคล นายกสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย เปิดอกระบายความในใจให้ฟังว่า ขณะนี้ ผู้จะมาสมัครทำงาน “รปภ.” กำลังเฝ้ารอระเบียบใหม่ เพราะต้องมีทั้งบัตรประจำตัวที่ผ่านการลงทะเบียนของตำรวจและมีใบรับรองผ่านการฝึกอบรม แต่ว่ายังไม่มีกฎหมายลูกออกมาในรายละเอียดเรื่องพวกนี้ ทำให้ทุกฝ่ายได้แต่ “รอๆๆๆ”

     “ขอเสนอให้ใช้ศูนย์ฝึกอาชีพของกระทรวงแรงงานที่มีอยู่ทุกจังหวัดมาเป็นสถานฝึกอบรม รปภ. ระหว่างที่ตำรวจยังไม่หาสถานที่และครูฝึกอบรมไม่ได้ เพราะระเบียบกำหนดให้รุ่นละไม่เกิน 40 คน ต้องเปิดหลายรุ่นพร้อมๆ กัน รวมถึง รปภ.คนเก่าก็ต้องทยอยไปฝึกด้วย รัฐให้เวลาผ่อนผัน 3 ปี ตอนนี้ผ่านไปปีกว่าแล้ว ถ้ากระทรวงแรงงานไม่พร้อม อาจใช้วิธีเปิดให้เอกชนทำคอร์สฝึกอบรมโดยมีตำรวจเข้ามาควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน หรือมาเป็นวิทยากรร่วม เพราะยิ่งล่าช้าก็ยิ่งเปิดโอกาสให้มีการทุจริตหาเงินใต้โต๊ะ เพราะใครๆ ก็อยากส่ง รปภ.ของตนเข้าไปฝึกเป็นรุ่นแรกๆ เพื่อไม่ให้มีปัญหาภายหลัง กลายเป็นช่องทางหากินของคนบางกลุ่ม”

     ดร.วัชรพล กล่าวต่อว่า บริษัท รปภ. ในประเทศไทยมีอยู่กว่า 4 พันแห่งนั้น แบ่งเป็นหลายขนาด ได้แก่ “ระดับนานาชาติ” มีพนักงานหลักหมื่นคนขึ้นไป “ขนาดใหญ่” หลักพันคน “ขนาดกลาง”หลักร้อยคน และ “ขนาดเล็ก” หลักสิบคน ต้นทุนบริหารจัดการธุรกิจจึงแตกต่างกัน เมื่อรัฐบาลสั่งให้ขึ้นทะเบียนและฝึกอบรมทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น บริษัทขนาดใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ขณะที่บริษัทขนาดเล็กอาจต้องปิดกิจการไป เพราะต้นทุนมีน้อย ต้องเสียค่าวิ่งเต้นเพิ่ม หรือค่าใช้จ่ายใต้โต๊ะ รวมถึง รปภ.ขาดแคลน เพราะเป็นช่วงรอยต่อของกฎหมาย คนใหม่ไม่สามารถมาสมัครงานได้ เครือข่ายธุรกิจ รปภ. จึงขอเสนอทางออกของปัญหาในระยะเริ่มแรก คือ 1.ให้เอกชนหรือหน่วยงานรัฐมาช่วยตำรวจเปิดสถานฝึกอบรม 2.ออกกฎหมายผ่อนปรนการขึ้นทะเบียนผู้สมัครใหม่ หรือผู้ไม่เคยเป็นรปภ.มาก่อน โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70-80 ของรปภ.ทั่วประเทศไทย

     แม้การบังคับใช้  “พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย” จะมีจุดมุ่งหมายที่ดี คือการจัดระเบียบ รปภ.4 แสนคนทั่วประเทศ แต่ปรากฏว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่สามารถจัดระบบรองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลายเป็นช่องโหว่ในการคอร์รัปชั่นหรือหาผลประโยชน์ใต้โต๊ะในความหมายว่า “ค่าอำนวยความสะดวก”

       เจ้าของบริษัทรปภ.ขนาดกลางรายหนึ่งวิเคราะห์ให้ฟังว่า กฎหมายฉบับนี้เปิดช่องให้มี “ส่วย รปภ.” หากย้อนไปอดีต 20-30 ปีที่แล้วเจ้าของธุรกิจ รปภ. จะเป็นกลุ่มตำรวจหรือทหาร จนกระทั่งกิจการเริ่มเป็นระบบมีบริษัทต่างประเทศเข้ามาเป็นหุ้นส่วน หรือมีลักษณะเป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่บริหารแบบมืออาชีพมากขึ้น กลุ่มตำรวจกับทหารเริ่มมีบทบาทน้อยลง กลายเป็นหุ้นส่วนเล็กหรือมีตำแหน่งที่ปรึกษาอยู่เบื้องหลัง

     “กำหนดให้ขึ้นทะเบียนและบังคับไปอบรมหลักสูตรพิเศษ มอบหมายให้สำนักงานตำรวจเป็นเจ้าภาพ ก็กลายเป็นช่องทางหาเงินทันที เช่น รับจ้างจดทะเบียน รับจ้างทำบัตรประจำตัว รปภ. หรือ รับจ้างจัดหาคิวฝึกอบรมอย่างเร่งด่วน ตอนนี้สถานที่ฝึกอบรมหลักสูตร รปภ. ของตำรวจยังไม่พร้อม และไม่ได้มีทุกจังหวัดอาจมีแค่ 2-3 แห่งเท่านั้น เช่น ที่โรงเรียนนายสิบ กำหนดให้เรียนห้องละไม่เกิน 40 คน ต้องเรียน 5 วัน ถ้าบริษัทไหนอยากส่ง รปภ.ไปฝึกก็ต้องจ่ายค่าอำนวยความสะดวกหรือค่าวิ่งเต้นจองคิว ตอนนี้มีหลายบริษัทมาเล่าว่า เจอรีดไปหัวละ 500–1000 บาท แล้วแต่จังหวัด เป็นค่าช่วยลงทะเบียน”

     เจ้าของบริษัทรปภ.ข้างต้นอธิบายต่อว่า ปัจจุบันเงินเดือน รปภ.โดยเฉลี่ยประมาณ 2 หมื่นบาทต่อเดือน ไม่รวมค่าเบี้ยขยัน ค่าโอที ค่าวันหยุด ฯลฯ ถ้ารวมแล้วอาจได้ 2 หมื่นกว่าบาท แต่บริษัทจะให้จริงประมาณ 1.7 หมื่นบาท เพราะต้องหักค่าใช้จ่ายไว้ประมาณ 2-3 พันบาทต่อหัว เป็นค่าชุด ค่าอุปกรณ์ ค่าบริหารงานต่างๆ และต่อจากนี้ไปอาจมีค่าต่อทะเบียนหรือค่าใบอนุญาตหัวละ 1 พันบาท ต้องต่ออายุทุก 3 ปี

     “รศ.ดร.เนตร์พัณณา ยาวิราช” ผู้จัดการโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาธุรกิจรักษาความปลอดภัย ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้สัมภาษณ์ “คม ชัด ลึก” ว่า สถานฝึกอบรม รปภ.อาจกลายเป็นแหล่งหาเงินใต้โต๊ะหรือทำให้เกิดคอร์รัปชั่นได้อีกวิธีหนึ่ง เนื่องจากมี รปภ.ทั้งในระบบและนอกระบบไม่ต่ำกว่า 5 แสนคนต้องผ่านการฝึกอบรมตามที่กฎหมายกำหนด แต่ระยะแรกตำรวจไม่สามารถหาสถานที่และบุคลากรได้อย่างเพียงพอ อาจต้องใช้วิธีเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาจัดการ ซึ่งการจะได้รับใบอนุญาตให้เป็นสถานที่ฝึกอบรมก็คือช่องทางวิ่งเต้นจากเงินใต้โต๊ะได้เช่นกัน

     “ตอนนี้มีเว็บไซต์หลายแห่งโฆษณาเปิดฝึกอบรมรปภ. มีตำรวจเป็นหุ้นส่วน หรือตำรวจเป็นครูผู้ฝึกสอนโดยตรง ไม่รู้ว่าเป็นการอ้างชื่อหรือมีตำรวจรับฝึกสอนให้จริง การเสนอความคิดให้เอกชนมาช่วยทำ ก็น่าเป็นห่วงว่าจะได้มาตรฐานจริงหรือไม่ เพราะหลักสูตรที่สอนจะมีเรื่องวิชาป้องกันตัว วิชาอัคคีภัย วิชาการต้อนรับแขกเบื้องต้น ฯลฯ หากผู้สอนไม่ได้มีความเชี่ยวชาญหรือมีความรู้จริง ก็ไม่เกิดประโยชน์แก่รปภ. กลายเป็นว่าขอแค่อบรมให้ได้ใบประกาศเท่านั้น อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลจัดระบบให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ควรมีการพูดคุยระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง” ดร.เนตร์พัณณา กล่าวแนะนำ

      “รปภ.” คือผู้รักษาความปลอดภัยให้ประชาชน เมื่อพวกเขาต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะหรือใช้วิธีทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่อให้ได้ “ใบอนุญาต” พวกเราจะยังรู้สึกปลอดภัยจริงหรือไม่ ?

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ