คอลัมนิสต์

“แชร์ลอตเตอรี่”เริ่มที่โลภกับโลภมาเจอกลลวง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย

     ถึงวันนี้มีคนจำนวนมากถูกหลอกด้วยกลลวงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแชร์ลูกโซ่ ที่กำลังได้รับความนิยมจากมิจฉาชีพ และมีเหยื่อที่ถูกหลอกออกมาเปิดเผยชนิดรายวัน 

     และกับกรณีล่าสุด ที่ดำเนินการโดยคนที่มีต้นทุนทางสังคมอย่าง รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา อดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตกเป็นผู้ต้องหาคดีต้มตุ๋น  และถูกระบุว่า วิธีการที่ใช้ต้มตุ๋นนั้น เรียกกันว่า “แชร์ลอตเตอรี่”

     กลวิธีในการ “ดูด” ทรัพย์จากเหยื่อ น่าจะเป็นอีกหนึ่งบทเรียนเพื่อไม่ให้มีใครถูกหลอกอีก

รูปแบบแชร์ลอตเตอรี่นั้น คือการที่ไปหลอกลวงว่า ได้โควตาจำหน่ายสลากพิเศษมาจากรัฐบาล  โดยให้ผู้ที่ถูกหลอกมาร่วมลงทุนเพื่อซื้อสลากไปจำหน่าย และจะได้ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจทุกๆ 15 วัน ซึ่งผู้ที่หลอกระบุว่าแค่เพียงลงเงินเท่านั้นก็จะได้ค่าตอบแทน ส่วนเรื่องไปรับหรือนำไปจำหน่ายเขาจะเป็นธุระเอง

     เรื่องนี้  ปิยะศิริ  วัฒนวรางกูร รองผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 1   ระบุว่า จากการสืบสวนสอบสวนแชร์ลอตเตอรี่ในหลายจังหวัด  ไม่เคยมีโควตาลอตเตอรี่ตามที่คนร้ายนำมากล่าวอ้าง แต่เป็นการแอบอ้างของคนร้ายว่าได้รับโควตาพิเศษ

     ทั้งนี้ ยืนยันได้ว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่เคยเพิ่มโควตาลอตเตอรี่ โควตามีเท่าเดิม จำนวนผู้ที่ได้รับโควตาและจำนวนสลากก็มีประกาศชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ตามปกติ ดังนั้นรูปแบบในการกระทำความผิดจึงไม่มีอะไรสลับซับซ้อน แตกต่างกันตรงสัญญาจูงใจในการจ่ายผลตอบแทนว่าจะเป็น 8% หรือ 10% 

     “ส่วนรูปแบบจะเป็นการหลอกลวงว่ามีโควตา พร้อมจ่ายปันผล 10% ของยอดเงินลงทุน ทุกๆ 15 วัน หรือตามรอบการออกรางวัลเดือนละ 2 ครั้ง วิธีการง่ายๆ คือ หาผู้ลงทุนให้ได้ 5 ราย แล้วในเดือนแรกก็หมุนจ่ายปันผล 5 รายแรก เมื่อมีการจ่ายจริงจะมีการบอกต่ออาจทำให้หาสมาชิกได้เพิ่มอีก 10 ราย ก็เอาเงินจาก 10 คนหลัง มาใช้จ่ายส่วนตัวและหมุนจ่าย 5 คนแรก ทำในลักษณะนี้ไม่เกิน 3 เดือน แชร์ล้ม เมื่อไม่มีเงินหมุนจ่ายปันผล ก็ไปต่อไม่ได้”

     “กรณีแชร์ลอตเตอรี่ระยะหลัง พบว่าผู้เสียหายไม่ใช่ผู้ลงทุนอิสระ แต่เป็นยี่ปั๊วขายลอตเตอรี่ระดับจังหวัด ซึ่งไปหลงเชื่อนำเงินมาลงทุนเพราะคิดว่าจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่าซื้อกับผู้ค้าส่งรายเดิม สุดท้ายโดนกันทั้งจังหวัด เพราะต่างฝ่ายต่างปกปิดแหล่งโควตา กลัวคู่แข่งจะรู้ จนกระทั่งตกเป็นผู้เสียหายแล้วจึงรวมตัวกันเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี”

     เมื่อถามว่า เหตุใดสหกรณ์ต่างๆ จึงเข้ามาเกี่ยวพันกับแชร์ลอตเตอรี่จำนวนมาก ปิยะศิริกล่าวว่า สหกรณ์จัดตั้งขึ้นเพื่อรับฝากเงินและปล่อยกู้ให้แก่สมาชิก โดยสัญญาจะจ่ายปันผลให้สมาชิกมากกว่าสถาบันการเงิน เช่น ฝากธนาคารได้ดอกเบี้ย 1-2% ขณะที่ฝากเงินกับสหกรณ์ได้ดอกเบี้ย 3-4% ทำให้สหกรณ์ต้องนำเงินไปลงทุนเพื่อให้มีรายได้มาจ่ายปันผลให้แก่สมาชิก การลงทุนระยะยาวอาจนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งการลงทุนในแชร์ต่างๆ เป็นการลงทุนระยะสั้น ได้ผลตอบแทนดีภายในเวลารวดเร็ว บางแห่งกรรมการสหกรณ์ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จึงรับฟังข้อมูลแล้วหลงเชื่อประธานสหกรณ์ จึงอนุมัติให้ลงทุน หรือสหกรณ์บางแห่งมีการบริหารไม่โปร่งใส อาจมีค่าคอมมิชชั่นจ่ายให้ตอบแทนการตัดสินใจลงทุน

       ปิยะศิริ กล่าวอีกว่า ในระยะหลังอธิบดีดีเอสไอสั่งการให้ใช้มาตรการใหม่ในการดำเนินคดีแชร์ลูกโซ่ เพราะขั้นตอนเดิมมีปัญหาทำให้เกิดความล่าช้า โดยมาตรการใหม่ได้ลดขั้นตอนลงไปมาก การสืบสวนจะใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ เมื่อได้หลักฐานแล้วจะสั่งอายัดทรัพย์สินไว้ตรวจสอบ ซึ่งทำให้เหลือทรัพย์มาเฉลี่ยจ่ายคืนให้ผู้เสียหาย แต่คนร้ายก็ปรับเปลี่ยนวิธีการโดยโยกเงินไปซุกไว้ในชื่อบุคคลอื่น เพื่อป้องกันการตรวจสอบและยึดอายัด

     อย่างไรก็ตาม กรณีของอดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หลอกตุ๋นเพื่อนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้นำเงินมาลงทุน โดยอ้างว่าจะจ่ายปันผลสูงถึง 12% เป็นคดีที่ผู้เสียหายรวมตัวเข้อร้องทุกข์กล่าวโทษที่กองบังคับการกองปราบปราม  เบื้องต้นพบว่าเป็นการหลอกลวงโดยใช้คอนเนกชั่นส่วนตัว ไม่ได้ดำเนินการผ่านสหกรณ์ของมหาวิทยาลัย

     โดย รศ.ดร.สวัสดิ์ คนนี้ เมื่อครั้งบริหารสหกรณ์ เคยนำเงินมาฝากไว้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ปรากฏหลักฐานการฝากถอนเป็นธุรกรรมปกติ ซึ่งในช่วงนั้นสหกรณ์คลองจั่นยังไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินถึงขั้นต้องฟื้นฟูกิจการ

     ทั้งนี้ แชร์ลอตเตอรี่ สรุปง่ายๆ ว่า เป็นการอาศัยความอยากได้ของเหยื่อเข้ามาล้วงเงินในกระเป๋าเหยื่อออกไปได้อย่างเนียนๆ

“แชร์ลอตเตอรี่”เริ่มที่โลภกับโลภมาเจอกลลวง

จากปรมาจารย์สหกรณ์ สู่ผู้ต้องหาตุ๋นพันล้าน

     เมื่อใส่คีย์เวิร์ด “สวัสดิ์ แสงบางปลา” เพื่อการค้นหาผ่านกูเกิล เรื่องราวที่ว่าด้วย ปรมาจารย์แห่งวงการสหกรณ์ออมทรัพย์ไทย ผู้วางรากฐานและพัฒนาสหกรณ์ มักจะอยู่ในลำดับต้นๆ เสมอ

     ยิ่งกว่านั้น รศ.ดร.สวัสดิ์ ที่กำลังตกเป็นผู้ต้องหาล่อลวงเหยื่อ ลงทุนโครงการลอตเตอรี่มูลค่านับพันล้านบาท ยังถูกกล่าวขานในฐานะที่วางรากฐานการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานประมวลผลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     ในวันนี้ รศ.ดร.สวัสดิ์เกษียณอายุไปแล้วกว่า 19 ปี และการบริหารสหกรณ์ซึ่งเป็นนิติบุคคล ไม่ได้ “อันเดอร์” จุฬาฯ ทว่า ก็ยากจะปฏิเสธ เมื่อชื่อของ “ดร.คนดัง” มักถูกพ่วงท้ายด้วยงานที่เขาเคยทำไว้ขณะเป็นอาจารย์จุฬาฯ

     ปี 2503 สวัสดิ์ เรียนจบเกียรตินิยมวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ตรี ที่แผนกวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สอนถึง 19 วิชาในแผนกนี้

     2514 เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหน่วยทะเบียนกลาง หรือสำนักทะเบียนและประมวลผลในปัจจุบัน โดยนำระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยงานทะเบียนนิสิต

     2518 เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนสาขาคอมพิวเตอร์ ระดับปริญญาตรี

     2525-2533 เป็นผู้อำนวยการ และนายทะเบียนคนแรก สำนักทะเบียนและประมวลผล จุฬาฯ

     2525 อนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อใช้เครื่องคอมพิวเตอร์บังคับตามกฎหมายการจราจร

     2525-2526 ประธานอนุกรรมการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยในการรับสมัคร และตรวจกระดาษคำตอบ ทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการใช้ครั้งแรก

     2538 ที่ปรึกษาคณะกรรมการกำกับการศึกษาและโครงการออกแบบจำลอง และระบบฐานข้อมูลจราจร สำนักงานคณะกรรมการจัดระเบียบการจราจรทางบก

     กับข้อสงสัยที่ว่า ทำไม ดร.สวัสดิ์ จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “ปรมาจารย์ด้านสหกรณ์ออมทรัพย์”

มาดูประสบการณ์ของนักวิชาการรายนี้

     นับตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา เขาได้เข้าไปร่วมงานกับชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มต้นด้วยตำแหน่งกรรมการดำเนินการ รองประธานกรรมการดำเนินการ ประธานดำเนินการ ที่ปรึกษา

กับ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ดร.สวัสดิ์เป็นกรรมการดำเนินการตั้งแต่ปี 2531 ถึง 2548 โดยเป็นกรรมการดำเนินการอยู่ 10 ปี รองประธาน และประธานดำเนินการในช่วงปี 2540-2541

     ช่วงปี 2537-2539 เป็นกรรมการบริษัทสหประกันชีวิต(บริษัทของขบวนการสหกรณ์) ก้าวขึ้นเป็นประธานกรรมการเมื่อปี 2541

     ระหว่างนั้น เขารับตำแหน่งต่างๆ เกี่ยวกับสหกรณ์อีกมากมาย อาทิ ประธานกรรมการสมาคมสมาพันธ์สหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตในเอเชีย สมาคมธนาคารสหกรณ์ระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.สหกรณ์(2537/2540) ที่ปรึกษาคณะกรรมธิการการเกษตรและสหกรณ์วุฒิสภา(2543) ฯลฯ

     ดร.สวัสดิ์ เคยได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นด้านไอที จากสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย นักสหกรณ์แห่งชาติ สาขาบริหารและส่งเสริมพัฒนาสหกรณ์ กระทรวงเกษตรฯ

เป็นเกียรติประวัติในอดีต ที่วันนี้อาจถูกลบเลือนลงด้วยข้อกล่าวหา ที่ตรงกันข้ามกับความน่าเชื่อถือที่เคยสรรค์สร้างมาหลายสิบปีของเขา

      [เรื่องที่เกี่ยวข้อง...สัมภาษณ์ปิยะศิริ  วัฒนวรางกูร รองผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ทำอย่างไรไม่ให้เป็นเหยื่อ "แชร์ลูกโซ่" (มีคลิป) ]

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ