คอลัมนิสต์

กัญชาเป็นยา?ประสานเสียง“มาทางไหนกลับไปทางนั้น”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ข้ออ้างที่ระบุว่ากัญชามีสรรพคุณในการรักษาโรคนั้นก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน หากมีผลรับรองทางการแพทย์ชัดเจนก็พร้อมรับไว้พิจารณา/ทีมข่าวคุณภาพชีวิต

     20 เมษายนของทุกปีเป็นวันกัญชาโลก แม้จะมีการเปิดเผยงานวิจัยต่างประเทศหลายชิ้นระบุถึงการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ดังกล่าว อนุญาตให้เพียงการขอเพื่อทำการวิจัยเป็นรายกรณีเท่านั้น

     เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เนื่องจากกัญชาถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่จะดำเนินการเพื่อการวิจัย ซึ่งจะต้องยื่นขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นรายกรณี เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ซึ่งปัจจุบันผู้ที่ยื่นขออนุญาตส่วนใหญ่เป็นสถานศึกษาแต่จำนวนไม่มาก ไม่ถึง 10 กรณี

     “ในอนาคตจะอนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์หรือไม่ต้องดูหลายอย่างประกอบกัน และมียาตัวอื่นทดแทนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศอนุญาตให้ขายภายใต้การกำกับของรัฐ เช่น เนเธอร์แลนด์ และบางรัฐของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น แม้ว่าในต่างประเทศจะมีงานวิจัยระบุว่าสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้หลายด้าน เช่น แก้ปวดบ้าง แก้คลื่นไส้อาเจียนบ้าง ช่วยให้อยากอาหารบ้าง แต่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” เภสัชกรประพนธ์กล่าว

     สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาที่ระบุถึงสรรพคุณที่น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มีไม่น้อย นพ.วีรวฺุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ผลสรุปกัญชากับมะเร็ง เว็บไซต์ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือเอ็นไอเอช แหล่งข้อมูลในโลกออนไลน์ที่ได้รับความน่าเชื่อถือมากที่สุด สรุปว่ามีแค่ผลงานวิจัยในระดับเซลล์และสัตว์ทดลองหรือที่เรียกว่าระดับปรีคลินิก ว่าสารจากกัญชาอาจจะมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะเซลล์มะเร็งตับและมะเร็งสมองได้ และอาจจะสามารถลดขนาดของมะเร็งปอด เต้านม ตับในสัตว์ทดลองได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อเซลล์ปกติ

     ส่วนการศึกษาในระดับคลินิกหรือในคนจริงๆ ยังไม่มีผลงานวิจัยทางคลินิกที่นำสารจากกัญชามาใช้รักษาโรคมะเร็งที่เสร็จสิ้นการวิจัยแล้ว มีแต่งานวิจัยการใช้สารจากกัญชาร่วมกับยาแผนปัจจุบันในการรักษามะเร็งสมองที่กำลังดำเนินการอยู่ ยังไม่ได้บทสรุปแต่อย่างใด ส่วนผลงานวิจัยทางคลินิกด้านการใช้สารจากกัญชามาช่วยลดผลข้างเคียงในการรักษามะเร็ง พบว่าสารจากกัญชาช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการให้ยาเคมีบำบัด ลดอาการปวดจากโรคมะเร็งได้ นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มความอยากอาหาร ลดความเครียดและอาการนอนไม่หลับในผู้ป่วยมะเร็งได้

     ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง และผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า จากการศึกษาคุณประโยชน์ของกัญชาในห้องปฏิบัติการ ของมหาวิทยาลัยฟลอริดา สหรัฐอเมริกา โดยสกัดเอาสารเดลตา 9 ทีเอชซี ซึ่งเป็นสารสำคัญของกัญชาฉีดเข้าไปในเซลล์เอเบตาโปรตีนซึ่งเป็นเซลล์ผลิตสารพิษที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ พบว่าสารเดลตา 9 เข้าไปช่วยยับยั้งเซลล์เอเบตาโปรตีนไม่ให้ผลิตสารพิษ และยับยั้งการทำงานของไมโทคอนเดรีย ซึ่งเป็นตัวสร้างพลังให้เซลล์ผลิตสารพิษดังกล่าว สารเดลตา 9 ในกัญชาจึงสามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ ซึ่งได้มีการตีพิมพ์ผลงานนี้ลงในวารสารอัลไซเมอร์ ขณะนี้คณะผู้วิจัยกำลังการศึกษาเพิ่มเติมในขั้นสัตว์ทดลอง

     “การเสพกัญชาทั่วไปจะให้ผลแบบเดียวกับการทดลองนี้หรือไม่ ไม่ทราบและยังไม่มีการศึกษายืนยัน เพราะในการทดลองในห้องปฏิบัติการนี้ได้สกัดเอารสารเดลตา 9 ในกัญชาออกมาด้วยวิธีการเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากให้ประเทศไทยเปิดโอกาสให้สามารถใช้กัญชาในการรักษาโรคได้เป็นรายบุคคล เช่น รักษาภาวะความเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง เพื่อลดความเกร็งของกล้ามเนื้อที่เกิดจากโรคทางสมองหรือไขสันหลัง เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

     ขณะที่เว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยเผยแพร่บทความเรื่อง กัญชากับการลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งระบุว่า ในสหรัฐอเมริกามีจำนวนผู้สูบกัญชาประมาณ 17.4 ล้านคน ซึ่งประมาณ 4.6 ล้านคนสูบเป็นประจำทุกวัน การศึกษาระบาดวิทยาที่ผ่านมาพบว่าในผู้ที่สูบกัญชามีความชุกของโรคอ้วนและโรคเบาหวานต่ำกว่าคนที่ไม่เคยสูบกัญชา แสดงให้เห็นว่าสาร cannabinoid ที่พบในกัญชาอาจมีความสัมพันธ์กับระบบการเผาพลาญของร่างกาย

     Ms.Penner และคณะทำการศึกษาความสัมพันธ์ของการสูบกัญชากับระดับน้ำตาลในเลือด ในอาสาสมัคร 4657 ราย โดยให้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ยา พบว่า 579 ราย สูบกัญชาในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา 1975 ราย เคยสูบกัญชามาก่อน แต่ในปัจจุบันเลิกแล้ว และ 2103 ราย ไม่เคยสูบกัญชาเลย จากนั้นได้ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหาร 9 ชั่วโมง และประเมินภาวะต้านอินซูลินด้วย HOMA-IR (homeostasis model assessment of insulin resistance) ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่สูบกัญชาในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่เคยสูบกัญชา ร้อยละ 16 ส่วนกลุ่มที่เคยสูบกัญชาแต่เลิกแล้ว ไม่พบว่ามีการลดลงของระดับน้ำตาลเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคยสูบกัญชา จึงสันนิษฐานได้ว่าผลของกัญชาที่มีต่อระดับน้ำตาลในเลือดจะมีผลเฉพาะช่วงที่ใช้กัญชาอยู่เท่านั้น

     ด้าน ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า นโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดในส่วนของผู้ติดและผู้เสพของไทยได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบสาธารณสุขและการบำบัดรักษา ถือว่ามีแนวโน้มในการยอมรับในตัวผู้เสพว่าเป็นผู้ป่วย แต่ไม่ใช่การอนุญาตให้เสพเสรี ประเด็นคือการแยกแยะว่าการใช้สารเสพติดประเภทใดใช้เพื่อรักษาโรคและเป็นวิถีชาวบ้าน ซึ่งต้องยอมรับว่ากัญชาต่างจากกระท่อมที่มีความเป็นวิถีชาวบ้านชัดเจน แต่สำหรับกัญชายังมองไม่เห็นการใช้เพื่อประโยชน์ในวิถีชีวิต ส่วนข้ออ้างที่ระบุว่ากัญชามีสรรพคุณในการรักษาโรคนั้นก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน หากมีผลรับรองทางการแพทย์ชัดเจนก็พร้อมรับไว้พิจารณา ขณะนี้มีเพียงกัญชงที่อนุญาตให้ปลูกภายใต้การควบคุมและอนุญาตเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเท่านั้น

     “ในต่างประเทศที่อนุญาตให้เสพกัญชา ทำภายใต้กฎหมายควบคุมไม่ใช่การเสพเสรี เช่น เนเธอร์แลนด์ ผู้เสพติดขึ้นทะเบียนเป็นผู้ติดยาและอนุญาตให้เสพในสถานที่ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ มีการควบคุมปริมาณชัดเจน สำหรับบางรัฐในสหรัฐอเมริกาก็มีกฎหมายกำหนด แม้จะอนุญาตขายแบบไดรฟ์ทรูแต่คงไม่ใช่การอนุญาตให้เสพระหว่างขับขี่ยานพาหนะ ส่วนการอนุญาตให้เสพกัญชาประเทศแคนาดายังต้องรอดูกฎหมายที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ ร่วมกับบริบทของประชาขนในประเทศแคนาดาด้วย ในทางสากลใช้คำว่าสารเสพติด กาแฟ กาเฟอีน ก็จัดเป็นสารเสพติด ในเยอรมนีช็อกโกแลตก็ถูกจัดเป็นสารเสพติด ในไทยจึงต้องกำหนดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกำหนดอายุผู้ดื่มสุราและผู้สูบบุหรี่ซึ่งต้องไม่ใช่เยาวชน” ปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าว

 

อย่างงี้ก็ได้ด้วยเหรอ 20 เมษา วันกัญชาโลก???

ข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุด ของจุดกำเนิดของ 420 มาจากกลุ่มเด็กวัยรุ่นจากโรงเรียน San Rafael รวมตัวกันเพื่อทำภารกิจลับ ค้นหาไร่กัญชาร้าง ที่ได้รับบอกเล่าจากอาจารย์ในห้องเรียนว่ามีอยู่ในแถบนั้น โดยเด็กกลุ่มนี้ใช่ชื่อกลุ่มว่า Waldos ก่อตั้งขึ้นในปี 1971

กลุ่ม Waldos นัดรวมตัวทำภารกิจตามหาไร่กัญชา โดยนัดรวมตัวกันที่หน้ารูปปั้นของ Louis Pasteur ในโรงเรียนตอนเวลา 04.20 ใช้ชื่อโค้ดลับว่า “420 Louis” และเหลือแค่ “420” ในเวลาต่อมา

ไม่มีใครทราบว่า Waldos ตามหาไร่กัญชาเจอหรือไม่ แต่รหัสลับ “420” ของพวกเขาถูกใช้เป็นรหัสของการสูบกัญชากันอย่างแพร่หลายในแคลิฟอร์เนียและแพร่ไปทั่วสหรัฐอเมริกาในเวลาไม่นาน

เวลาผ่านไป 420 ได้กลายมาเป็นวัน (เดือน 4 วันที่ 20 นับแบบอเมริกันเอาเดือนขึ้นก่อน) และเวลาแห่งการเฉลิมฉลองในการสูบกัญชา ในแถบอเมริกาเหนือ และขยายวงกว้างไปทั่วทวีปอเมริกา

จนเข้าสู่ยุค Green Rush ยุคแห่งการขับเคลื่อนให้กัญชาถูกกฎหมาย จากกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันเฉลิมฉลองในการสูบกัญชาเพียงอย่างเดียว ถูกยกระดับขึ้นมาเป็นการเคลื่อนไหว เรียกร้อง หรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกัญชา และกลายมาเป็นวันกัญชาโลกในที่สุด

หมายเหตุ / ข้อมูลจ่ากอินเทอร์เน็ต

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ