คอลัมนิสต์

รู้ทัน “แชร์ลูกโซ่” ก่อนถูก “ตุ๋น” เปื่อย...

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ “แชร์ลูกโซ่” มีวิวัฒนาการไปถึงไหนแล้ว ทำความรู้จัก...ก่อนถูก “ตุ๋น” เปื่อย : ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย ทีมข่าวคมชัดลึกออนไลน์

 

             “แชร์ลูกโซ่” ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นการหลอกลวงที่มีคู่สังคมไทย มาช้านาน โด่งดังเป็นตำนานคงเป็น แชร์ชม้อย แชร์ชาร์เตอร์ โดยรูปแบบการกำหนดแผนการตลาดให้เป็นเชื้อไฟล่อแมงเม่า จะแตกต่างกันไปตามยุคสมัย มีทั้งแชร์ปุ๋ย แชร์เครื่องอุปโภคบริโภค แชร์ก๊วยเตี๋ยว แชร์ตะเกียงน้ำมันหอมระเหย แชร์น้ำมันกฤษณา แชร์ตู้เติมเงินออนไลน์

             พ...พเยาว์ ทองเสน ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 เปิดเผยว่า รูปแบบของแชร์ลูกโซ่มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ปัจจุบันแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบการขยายฐานสมาชิกเพื่อขายตรง ลดน้อยลงจนแทบไม่หลงเหลืออยู่เลย เพราะคนส่วนใหญ่รู้ทันว่าเป็นแชร์ลูกโซ่จึงไม่เสี่ยงลงทุน แต่รูปแบบที่กำลังแพร่หลายและสร้างปัญหากระจายไปทั่วประเทศ คือ อันดับ 1 คือแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบฌาปนกิจสงเคราะห์ ช่วงแรกๆจะจ่ายให้เห็นจริง นำเงินใส่ซองไปจ่ายให้ที่หน้างานศพแล้วโพสต์รูปในโซเซียลมีเดีย ซึ่งแชร์รูปแบบนี้กว่าผู้ออมเงินจะรู้ตัวว่าโดนหลอกก็ต่อเมื่อมีสมาชิกในชุมชนเสียชีวิตแล้วไม่ได้รับเงินตามสัญญา

             ดังนั้นก่อนตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคระห์ต้องตรวจสอบใน 4 จุดสังเกต ว่า

             1. เป็นสมาคมที่จดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ ถ้าจดทะเบียนถูกต้องก็เบาใจไป 1 เปราะ

             2. ถ้าไม่ใช่สมาคมจดทะเบียนต้องถามไปที่สคบ.ถึงแผนการตลาดว่าตรงกับการชี้ชวนหรือไม่

             3. การกำหนดให้จ่ายเงินสมทบรายเดือนต้องไม่ใช่การกำหนดตายตัว คงที่ เช่น จ่ายทุกเดือนๆละ 200 บาท แบบนี้ให้สันนิษฐานว่าหลอกลวง เพราะการฌาปนกิจที่แท้จริงจะจ่ายสมทบตามยอดการเสียชีวิตของสมาชิก เช่น เดือนมี..มีสมาชิกตาย 20 ศพ ในเดือนเม..จะเรียกเก็บค่าฌาปนกิจศพละ 20 บาท รวมยอดจ่าย 400 บาท ต่อมาเดือนพ..มีคนตาย 10 ศพ ศพละ 20 บาท ยอดเรียกเก็บคือ 200 บาท ดังนั้นการจ่ายสมทบแบบคงที่จึงไม่ใช่รูปแบบของฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ถูกต้อง

             4. มีข้อกำหนดให้เชิญชวนหาสมาชิกเพิ่มหรือไม่ ถ้ามีก็จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะฌาปนกิจสงเคราะห์ ห้ามโฆษณาชักชวนคนมาเป็นสมาชิก ห้ามจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในการเชิญชวนขยายฐานสมาชิก

             อันดับที่ 2 ฉ้อโกงทัวร์ท่องเที่ยว ตั๋วเครื่องบิน กรณีซินแสโชกุน หรือ นางสาวพสิษฐ์ อริญชญ์ลาภิศ เป็นการขายสินค้าผิดกฎหมายตรงที่ไม่จดทะเบียนขายตรง และการฉ้อโกงประชาชน แต่การแฝงทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศเพื่อจูงใจให้มีการลงทุนซื้อสินค้าจำนวนมากๆเพื่อสะสมแต้ม อาจไม่เข้าข่ายความผิดการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ เพราะไม่ได้ตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินพึงจ่ายได้ สันนิษฐานว่ากลุ่มผู้กระทำความผิดคงได้รับคำแนะนำถึงช่องว่างของกฎหมายมาก่อนกำหนดแผนการตลาด ทำให้รู้ว่าการฉ้อโกงประชาชนในรูปแบบซื้อสินค้าแลกทัวร์ท่องเที่ยวหรือตั๋วเครื่องบิน จะมีอัตราโทษน้อยกว่าแชร์ลูกโซ่

             อันดับ 3 แชร์เทรดเงิน เทรดทองคำ เป็นอีกรูปแบบที่กำลังมาแรงในโซเซียลมีเดีย เป็นการลงทุนซื้อขายทองคำหรือสกุลเงินล่วงหน้า ชักชวนให้เปิดบัญชีค้ำประกัน เช่น 1 ล้านบาทเพื่อเทรดทองคำหรือเงินดอลลาร์ เช่น เทรดทองคำ 20 บาท ส่งมอบทองคำตั้งแต่ 7-30 วัน เป็น T+7 หรือ T+30 เมื่อครบกำหนดจะไม่ใช้วิธีส่งมอบทองคำแต่ชะใช้วิธีหักเงินและจ่ายเพิ่มกำไรส่วนต่าง ซึ่งรูปแบบนี้สำหรับทองคำไม่เข้าข่ายความผิดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ยกเว้นการสั่งซื้อสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งมีกฎหมายควบคุมเข้มงวดกว่า

       รู้ทัน “แชร์ลูกโซ่” ก่อนถูก “ตุ๋น” เปื่อย...

             “ในการสอบสวนคดีแชร์ลูกโซ่หรือการฉ้อโกงประชาชน ส่วนใหญ่ไม่ใช่การหลอกลวง ผู้ลงทุนรู้ดีว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ แต่ตัดสินใจร่วมทุน เพราะพ่ายแพ้ให้กับแรงจูงใจของผลประโยชน์ตอบแทน โดยผู้ที่มาชักชวนมักเป็นเครือญาติหรือเพื่อน ถามว่าเขามาหลอกหรือเปล่า คำตอบคือไม่ เพราะพวกเขาได้ผลตอบแทนจริง ในระยะสั้น 7 วันลงทุน 10,000 บาท ได้คืน 15,000 บาท จึงลงทุนเพิ่มเป็น 30,000 บาท ได้คืน 45,000 บาท คืนทุนเร็วแบบนี้เขาจึงบอกต่อ ชวนคนใกล้ชิดให้มาร่วมลงทุน บางคนถึงกับไปกู้เงินมาลงทุน สุดท้ายก็ถูกหลอก”

             “จุดสังเกตง่ายๆ ว่าเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ คือ สัญญาจะจ่ายผลประโยชน์สูงเกินจริง การชักชวนให้ร่วมลงทุนโดยไม่มีสถานประกอบการจริง ถ้าใช่ 2 ข้อนี้ ขอแนะนำให้ถอยมาห่างๆ โดยเฉพาะในยุคโซเซียลมีเดีย ที่ทำให้การแพร่สะพัดของแชร์ลูกโซ่กระจายไปแทบทุกจังหวัด ความเสียหายทั่วประเทศ ในอดีตการบอกต่อ "ปากต่อปาก" เต็มที่ได้แค่จังหวัดใกล้เคียง แต่เมื่อพ่วงเข้ากับโซเซียลมีเดีย ทำให้มีผู้เสียหายทั่วทุกภาค”

             ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ กล่าวต่อว่า เพื่อระงับความเสียหายไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง อยากเสนอให้อนุกรรมการป้องกันเงินนอกระบบจังหวัด ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อพบเบาะแสหรือพฤติการณ์เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ควรส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเพื่อปรามให้หยุดหรือเลิกพฤติการณ์ ไม่ต้องรอให้เป็นคดีมีผู้เสียหายแล้วค่อยส่งเรื่องมาให้ดีเอสไอสอบสวน

             นอกจากนี้ พ...พเยาว์ ยังตั้งเป็นคำถามไว้ด้วยว่า สมควรเพิ่มอัตราโทษสำหรับคดีแชร์ลูกโซ่ฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เพราะในคดีที่ผู้เสียหายจำนวนมาก หลายคดีศาลพิพากษาจำคุกเป็นพันปี หรือหมื่นปี แต่ลงโทษจริงได้เต็มที่ไม่เกิน 20 ปี เช่นนี้ทำให้คนร้ายไม่หวาดกลัวกับโทษทัณฑ์หรือไม่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ