คอลัมนิสต์

ไขข้อข้องใจ “นักบิน” ทิ้ง “หมี” ถูกหรือไม่!?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากเหตุ ฮ.กรมอุทยาน ปลดตะขอทิ้ง "หมีควาย" ที่กำลังนำไปส่งคืนป่าจนเสียชีวิต นำมาซึ่งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ เราจึงไขข้อข้องใจว่า "นักบิน" ทำถูกหรือไม่

จากกรณีที่ นายอดิศร นุชดำรง ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาเปิดเผยถึงผลการสอบสวนกรณีที่ หมีควายตกจากเฮลิคอปเตอร์ระหว่างขนส่งกลับคือสู่ป่า ว่านักบินเป็นผู้ปลดตะขอทิ้งตาข่ายบรรทุกหมีด้วยตัวเอง เนื่องจากระหว่างที่เครื่องกำลังบินผ่านหน้าผาที่เกิดลมแรง และะน้ำหนักของหมีที่หิ้วมาทำให้แรงของเครื่องตก หากไม่ปลดตะขออาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทั้งลำได้

 

“ทีมข่าวคมชัดลึกออนไลน์” จึงได้ไปสอบถามกับผู้เชี่ยวชาญในการขับเฮลิคอปเตอร์ จากศูนย์การบินทหารบก โดยนักบินจากศูนย์การบินทหารบกผู้หนึ่งเปิดเผยกับเราว่า

เฮลิคอปเตอร์สามารถใช้งานได้หลากหลายเนื่องจากมีความคล่องตัวสูง ในส่วนของกองทัพบกนั้น ใช้ในภารกิจดับไฟป่า อาทิ เครื่อง mi17 ที่สามารถหิ้วถังน้ำได้ 1,500 ลิตร เครื่องชีนุค หิ้วถังน้ำได้ 7,000 ลิตร

สำหรับกรณีที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ใช้ในการขนย้ายหมีควายนั้นในต่างประเทศมีการใข้เฮลิคอปเตอร์ขนย้านสัตว์ขนาดใหญ่ ส่วนของไทยจะเป็นครั้งแรกหรือไม่นั้น ไม่แน่ใจ

แต่ หากคำนวนจากน้ำหนักหมีควายประมาณ 70-80 กิโลกรัม ถือว่าเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กมีขนาด 5-6 ที่นั่งสามารถรองรับน้ำหนักได้ เพียงแต่ต้องประเมินสถานการณ์และปัจจัยภายนอกที่จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติการ เช่น ลักษณะภูมิประเทศ

อย่างของไทยเป็นป่าดิบชื้น ต้นไม้ทึบสูงชัน สภาพอากาศแปรปรวนตลอด ที่ผ่านมามีข่าวเฮลิคอปเตอร์ตกหลายครั้ง ซึ่งในส่วนของหมีควายเป็นสิ่งมีชีวิต เมื่อถูกยกขึ้นไปที่สูง โดยธรรมชาติของสัตว์ป่า จะแสดงอาการตกใจ ดิ้นรน สิ่งเหล่านี้ส่วนแต่เป็นผลกระทบที่ต้องคำนึงถึง อย่างไรก็ตามนักบินทุกคน มุ่งปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ แต่ทุกอย่าง

ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนักบิน หากมองว่าไม่สามารถนำเครื่องขึ้นได้ ก็ต้องเลื่อนภารกิจออกไปก่อน หรือแม้แต่นำเครื่องขึ้นไปแล้ว และประสบปัญหาระหว่างบิน นักบินก็ต้องใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง

นักบินผู้นี้ยังระบุอีกว่า การที่นักบินตัดสินใจทิ้งหมีควายลงไปนั้น คงไปวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เพราะเราไม่ทราบเหตุการณ์ในขณะนั้นว่าเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนักบินเอง และเป็นเหตุการณ์ที่ต้องตัดสินใจในเสี้ยววินาที ซึ่งหากมองอีกมุมหนึ่ง ถ้าไม่ทิ้งหมีควายลงไปอาจจะเกิดความสูญเสียมากกว่านั้น

 

“ตอนนี้สังคมสงสารหมีควายที่ต้องมาตาย เลยตั้งคำถามว่า ทำไมก่อนขึ้นบินไม่คำนวนเรื่องน้ำหนักของหมีควาย ซึ่งน้ำหนัก 70-80 กิโลกรัม รองรับได้แน่นอน แต่ปัจจัยภายนอก เช่น สภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ ที่ต้องเจอเป็นปัจจัยหนึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบินได้ เมื่อไปเจอลมแรงๆ สัตว์ก็ดิ้นด้วย อาจทำให้เกิดแรงเหวี่ยง ซึ่งไม่มีนักบินคนไหนอยากทำเช่นนั้น เมื่อขึ้นบินทุกชีวิตที่อยู่บนเครื่องไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ ล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของนักบิน ถ้าหากนักบินไม่ตัดสินใจทิ้งหมีควาย แล้วเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นมา สังคมจะตั้งคำถามอีกหรือไม่ ว่าทำไมไม่ทิ้งหมีควายและรักษาชีวิตคนอีก 5 คนที่อยู่บนเครื่อง”

ส่วนเรื่องลมนั้นเขาได้อธิบายว่า “ลมผา” เป็นลมหมุนในบริเวณภูเขาที่ทำให้เกิดลมหวน หรือกระโชกแรง ก่อให้เกิดอันตรายต่อเฮลิคอปเตอร์ที่กำลังขึ้นหรือร่อนลง

ซึ่ง ลมหมุนในบริเวณภูเขามักเกิดที่ตีนเขา มี 2 ลักษณะ คือ ลมที่พัดหอบขึ้นและลมที่กดลงไปทำให้เฮลิคอปเตอร์เสียการทรงตัวและอาจเกิดอุบัติเหตุได้เป็นอุปสรรคต่อการบินที่นักบินต้องเรียนรู้และศึกษาสภาพภูมิศาสตร์ในพื้นที่

 

ขณะที่ “ลมภูเขา” เป็นลมที่เกิดระหว่างเขา เป็นลมหมุนวนในช่องเขา หรือหุบเขา เป็นลมที่พัดเป็นบางช่วงกับแนวปะทะหน้าเขา มีผลกับการบิน พบมากในทางภาคเหนือต้องบินผ่านภูเขาสูง และทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง ตามที่เป็นข่าว ซึ่งสาเหตุของสภาพอากาศที่ทำให้ทัศนวิสัยในการบินไม่ดีมีหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นได้ เรื่องลมภูเขาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่นักบินควรศึกษาเรื่องของลมและสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

 

อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามผลการสอบสวนต่อไปว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เพราะบางครั้งเรื่องที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้มีแค่ปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดแต่เพียงอย่างเดียว

------

จิตตราภรณ์ เสนวงศ์ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ