คอลัมนิสต์

เก็บค่าสมาชิกพรรค “สร้างการมีส่วนร่วม” หรือ “จำกัดสิทธิ” !??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อร่างกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้เก็บเงินจากสมาชิกพรรคเป็นรายปี ปีละ 100 บาท จึงทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าสมควรหรือไม่ เราจึงรวบรวมมุมมองเหตุผลของทั้งสองฝ่าย

ขณะนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ สนช. พิจารณาแล้ว ถือเป็นกฎหมายลูกสองฉบับแรกจากจำนวน 10 ฉบับ ที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

  อย่างไรก็ตามในส่วนของร่างกฎหมายพรรคการเมืองนั้น ยังมีหลายประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม ทั้งจากตัวพรรคการเมืองที่จะถูกบังคับใช้ บุคคลภายนอก หรือกระทั่ง สนช. ที่กำลังจะพิจารณาเองก็ตาม

เก็บค่าสมาชิกพรรค “สร้างการมีส่วนร่วม” หรือ “จำกัดสิทธิ” !??

 

ประเด็นหนึ่งซึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากคือการบัญญัติไว้ในมาตรา 15 (15) ที่ระบุถึงของข้อบังคับพรรคการเมือง ต้องกำหนดเรื่อง “รายได้ และอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง ซึ่งต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละ 100 บาท”

 

ซึ่งแปลว่า สมาชิกพรรรคการเมืองต้องจ่ายเงินให้พรรคเป็นค่า “บำรุงพรรค” ปีละ 100 บาท

 

อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองสามารถกำหนดเก็บ “ค่าบำรุงพรรค” แบบตลอดชีพได้ในอัตรา 2,000 บาท ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 15 วรรคสี่

 

และการไม่จ่ายค่าบำรุงพรรคติดกันสองปี ก็เป็นเหตุให้ขาดความเป็นสมาชิกพรรค  ตามที่ มาตรา 27 ระบุไว้ 

เก็บค่าสมาชิกพรรค “สร้างการมีส่วนร่วม” หรือ “จำกัดสิทธิ” !??

 

สำหรับเรื่องนี้   “มีชัย ฤชุพันธ์” ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญระบุถึงเหตุผลว่า เพราะต้องการให้สมาชิกมีส่วนร่วมในพรรค  และสมาชิกพรรคจะมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง มีส่วนร่วมในการคัดเลือกให้ผู้ที่ไปเป็นนายกฯ   จึงถือเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่สร้างสิทธิให้สมาชิกพรรค  เมื่อสมาชิกพรรคจ่าย ก็เท่ากับมีสิทธิเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของพรรคซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้นายทุนเข้ามาครอบงำพรรคเหมือนที่ผ่านมา

 

ขณะที่ “ชาติชาย ณ เชียงใหม่”  โฆษก กรธ. ระบุว่า ก็เพื่อที่จะทำให้สมาชิกพรรคมีปากมีเสียงภายในพรรคได้ ไม่เกิดการกล่าวอ้างได้ว่า ไม่มีส่วนร่วมใดๆในพรรคเลย นอกจากนี้ กรธ.มองเชื่อมโยงกันเป็นระบบ ถึงผลที่จะตามที่จะใช้เป็นเกณฑ์ เป็นเงื่อนไขที่จะได้รับการจัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนาการเมืองที่กำหนดให้แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับด้วย หากพรรคใดได้เงินจากสมาชิก 1 แสนบาทต่อปี กองทุนพัฒนาการเมืองก็จะสมทบให้อีก 1 แสนบาท เป็นต้น ดังนั้น ถ้าพรรคใดมีค่าสมาชิกน้อยก็จะเสียเปรียบในเรื่องนี้

 

ทั้งนี้ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เงิน 100 บาท จะว่ามากก็มาก จะว่าน้อยก็น้อย เชื่อว่า พรรคเก่าๆ ไม่มีปัญหา เขากันเงินที่มีอยู่เดิมมาเป็นทุนประเดิมได้ ขนาดเบียร์ 3 ขวดร้อยกว่าบาท ยังซื้อกินได้ จะทำการเมืองแล้วยังบ่น สละเงินร้อยกว่าบาทไม่ได้ ผมว่าชีวิตอยู่ยากแล้ว เรากำลังร่วมทำให้บ้านเมืองดีขึ้น ไม่ต้องการให้ใครกว้านซื้อชื่อคนมารับเงินกองทุนจาก กต. เหมือนอดีต หัวใจหลักของกฎหมายพรรคการเมือง คือ โปร่งใส มีส่วนร่วม และตรวจสอบได้ ไม่ให้ใครทำไม่ดีเหมือนอดีต ถ้าพรรคการเมืองยังยึดติดเเบบเดิมคงไม่เหมาะสมกับยุคนี้ แบบนั้นเป็นสมัยโบราณ”

 

กล่าวคือ กรธ. ต้องการให้ สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมานั้น มีหลายพรรคการเมืองที่กว้านหาสมาชิกพรรคมาเพื่อให้ครบเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยที่คนที่มีชื่อเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเองนั้นก็ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับพรรคแต่อย่างใด เรียกได้ว่าให้ชื่อแล้วทิ้งไว้อย่างนั้น ซึ่งบางคนก็มีชื่อเป็นสมาชิกพรรคหลายพรรคก็มี

 

นอกจากนั้น ยังเคยเกิดปัญหาว่าด้วยมีบางพรรคการเมืองแอบอ้างชื่อคนมาเป็นสมาชิกทั้งเพื่อให้มีจำนวนครบตามที่กฎหมายระบุและเพื่อนำไปคำนวณเพื่อขอรับเงินสนับสนุนพรรคการเมือง ถึงขนาดว่าที่ผ่านมาเคยมีบางพรรคตั้งขึ้นและหาสมาชิกเพื่อหวังเงินสนับสนุนพรรคการเมือง

 

ซึ่งการกำหนดค่า “บำรุงพรรค” นี้ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเชื่อว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ และที่สำคัญสมาชิพรรคจากนี้จำมีบทบาทค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง

  

อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ต่างแสดงความไม่เห็นด้วย เช่น “สามารถ แก้วมีชัย” คณะทำงานติดตามร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่าไม่น่าจะบัญญัติเอาไว้เพราะ คนมาร่วมกับพรรคด้วยอุดมการณ์ เข้ามาก็ลงแรงลงสมอง ให้กำลังใจ ช่วยป่าวประกาศนโยบาย ซึ่งมีค่ามากกว่าเงิน 100 บาท ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าชาวบ้านชนบทเงิน 100 ก็เป็นภาระ ดังนั้นควรเขียนให้เป็นไปตามกำลังมากกว่า

 

“หากไม่มีเงินแล้วเป็นสมาชิกพรรคไม่ได้ จะผิดมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งพรรคการเมือง และพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยที่มีสมาชิกแสนกว่าคน หรือ พรรคประชาธิปัตย์ที่มีสมาชิก 2 ล้านคนจะไปเก็บเงินอย่างไร เพราะมีข้อที่ระบุว่า คนที่เคยเป็นสมาชิกต้องจ่ายในเวลาที่กำหนดไม่เช่นนั้นจะหมดสมาชิกภาพ”

 

ขณะที่ “องอาจ คล้ามไพบูลย์ ”รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่า การกำหนดเช่นว่าทำให้การจัดตั้งพรรคการเมืองมีข้อจำกัดมากขึ้น และมีเงื่อนไขทางการเงินเพิ่มมากขึ้น จึงอาจมีส่วนทำให้คนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่อยากตั้งพรรคทางเลือก เช่น พรรคกรีน พรรคสิ่งแวดล้อม พรรคคุ้มครองผู้บริโภค มีโอกาสตั้งพรรคยากขึ้น

 

ส่วน“วัชระ เพชรทอง” อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า เป็นการเอาเงินมาเป็นตัวกำหนดในเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมากไป จึงเป็นการกีดกันประชาชนให้ห่างจากพรรคการเมือง เพราะภ้าไม่มีเงินก็เป็นสมาชิกไม่ได้

“ท่านกำลังแบ่งแยกประชาชนที่ไม่มีเงินไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง”

ด้าน “วัลลภ ตังคณานุรักษ์” สนช. ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาผ่านกฎหมายฉบับนี้ ก็แสดงความไม่เห็นด้วยโดยระบุว่า  เรื่องนี้พรรคการเมืองทุกพรรคเห็นตรงกันว่ากฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้มองพรรคการเมืองด้วยสายตาเป็นลบ มุ่งเน้นลงโทษพรรคการเมืองมากกว่าส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง และไม่สมควรกำหนดให้เก็บค่าสมาชิกพรรค กล่าวคือควรให้กลับเป็นเหมือนเดิมคือไม่เสียค่าสมาชิกพรรค

  

สุดท้ายแล้วต้องดูว่าในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. จะเปลี่ยนแปลงข้อบัญญัตินี้  หรือ กรธ. จะยอมถอยเอง   หลักการแบบไหนที่จะถูกนำมาบังคับใช้กับ

-------

อรรถยุทธ  บุตรศรีภูมิ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ