คอลัมนิสต์

เปิดเทอมอย่างหนัก พ่อแม่ลุ้นหลายตลบแลกอนาคตลูก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภายในวันที่ 19 เม.ย.นี้ นักเรียนที่สอบเข้าม. 1ได้ทุกคนจะต้องมอบตัวเสร็จเรียบร้อย ส่วนม.4 มอบตัววันที่ 20 เม.ย.ส่วนคนที่ยังไม่มีที่เรียนให้ยื่นและจัดสรร 23 เม.ย.

       ตามปฎิทินการรับนักเรียนของโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กำหนดให้ม.1 ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ที่รับนักเรียนจากความสามารถพิเศษ หรือ สอบคัดเลือกและใช้คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) นักเรียนในเขตพื้นที่บริการและเงื่อนไขพิเศษ ให้มอบตัวพร้อมกันทั้งหมด วันที่ 19 เมษายน 2560 สำหรับผู้ที่ยังไม่มีที่เรียน ต้องยื่นความจำนงขอจัดที่เรียน ภายในวันที่ 5-20 เมษายน 2560 และประกาศผล พร้อมรายงานตัวในวันที่ 23 เมษายน 2560 

        ส่วนนักเรียนชั้นม.4 ทั้งหมดให้มอบตัวพร้อมกัน ในวันที่ 20 เมษายน 2560 ทั้งนี้ จำนวนรับนักเรียนต่อห้องระดับก่อนประถมศึกษา ห้องละ 30 คน (หากจำเป็นรับเพิ่มไม่เกินห้องละ 40 คน) ป.1, ม.1 และ ม.4 รับห้องละ 40 คน (หากจำเป็นไม่เกินห้องละ 50 คน) โดยจะต้องเสนอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) อนุมัติเสียก่อน

        นั่นหมายถึง เปิดเทอมกลางเดือนพฤษภาคมนี้ เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน!!

        กว่าจะมีที่นั่งเรียน โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ตั้งความหวังให้ลูกเข้าสู่รั้วโรงเรียนดังๆ พ่อแม่และเด็กก็ต้องลุ้นกัน ใจหายใจคว่ำอยู่หลายยก แต่การเข้าเรียนก็มีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การเปิดรับนักเรียนผ่านห้องเรียนพิเศษ เช่น ห้องเรียนพิเศษอีพี (อิงลิชโปรแกรม) ห้อง gifted ซึ่งตรงนี้จะเปิดสอบคัดเลือกก่อนการรับนักเรียนปกติและมีค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนเรียกเก็บจากผู้ปกครองเพื่อเป็นค่าบำรุงการศึกษาเพิ่มเติม ภายใต้หลักเกณฑ์การเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษา สังกัด สพฐ. เพราะเป็นการจัดการศึกษานอกเหนือไปจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เปิดเทอมอย่างหนัก พ่อแม่ลุ้นหลายตลบแลกอนาคตลูก

        ยังมีการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีเงื่อนไขที่ผูกพันกับโรงเรียน ยกตัวอย่างเป็นบุตรผู้ทำคุณประโยชน์ เป็นไปตามข้อตกลงการจัดตั้งโรงเรียน เป็นต้น โดยกลุ่มนี้จำนวนจะขึ้นอยู่กับโรงเรียน แต่มีเงื่อนไขดำเนินการว่าโรงเรียนจะต้องประกาศจำนวนและรายชื่อนักเรียนให้ชัดเจนด้วย เมื่อกระบวนการเหล่านี้เสร็จสิ้น ก็จะไปสู่กระบวนการปกติตามปฏิทินที่กำหนดไว้

     อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีช่องทางอื่นที่บรรดาพ่อๆ แม่ๆ ทั้งหลาย พร้อมใจ”ควักกระเป๋าจ่ายเพื่อเป็นค่า “บำรุงการศึกษา”  ที่อยู่คู่กับระบบการศึกษาไทยอย่างแยกไม่ออก

        เงินอุดหนุน...ที่พ่อแม่ยื่นไป จึงไม่ต่างจากใบสมัครเข้าเรียนที่การันตีว่าลูกของตนได้ที่เรียนชัวร์ สำคัญด้วยค่านิยมว่า ต้องโรงเรียนดัง ระดับท็อปทำให้มูลค่ายอดเงินอุดหนุนการศึกษาทะยานสูงขึ้นทุกที อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้มีโรงเรียนเด่นดังที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการให้ลูกเข้าเรียนก็เหมือนๆทุกๆปี และกระบวนการรับนักเรียนด้วยวิธีการต่างๆก็จะดำเนินไปตามครรลอง เว้นแต่ในกรณีสุดท้ายที่เป็นช่องทางที่ทำได้และเป็นที่ยอมรับของฝ่ายพ่อแม่และทางโรงเรียน สำคัญก็คือผลการสอบของเด็กก็อยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่สร้างปัญหาให้กับตัวเด็กเองในอนาคต สรุปว่าการรับเด็กทุกปีก็ยังวิน-วิน ระหว่างบ้านกับโรงเรียน

     เท่าที่รวบรวมโรงเรียนดังติดอันดับยอดนิยมของพ่อแม่ ผู้ปกครองทั้งโรงเรียนรัฐ โรงเรียนสาธิต และโรงเรียนเอกชน อาทิ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ร.ร.เทพศิรินทร์ ร.ร.สามเสนวิทยาลัย ร.ร.สตรีวิทยา ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ร.ร.โยธินบูรณะ ร.ร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายประถม) ร.ร.แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร.ร.อัสสัมชัญ ร.ร.เซนต์คาเบรียล ร.ร.มาแตร์เดอีวิทยาลัย และร.ร.เซนต์โยเซฟคอนเวนต์

เปิดเทอมอย่างหนัก พ่อแม่ลุ้นหลายตลบแลกอนาคตลูก

        อย่างไรก็ดี ตามมาตรา 58 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ระบุว่า ให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุนด้านงบประมาณ การเงิน และทรัพย์สิน ทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน เอกชน องค์กรเอกชนองค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ สถาบันสังคมอื่นและต่างประเทศมาใช้จัดการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ.เปิดทางให้สถานศึกษาสามารถระดมทรัพยากรได้ ภายใต้แนวปฏิบัติการระดมทรัพยากรของสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ที่กำหนดให้การระดมทรัพยากรต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ มีคณะกรรมการระดมทรัพยากรของสถานศึกษา มีแผนงานและโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การใช้จ่ายเป็นไปตามแผนงาน และสถานศึกษาต้องรายงานผลด้วย การดำเนินงานตามโครงการระดมทรัพยากรต่อคณะกรรมการสถานศึกษา

         ทั้งนี้ แม้จะประกาศชัดเจนว่าโรงเรียนสามารถระดมทรัพยากรได้ แต่สพฐ.ก็มีนโยบายชัดเจนเช่นกันว่าการระดมทรัพยากรนั้นจะต้องดำเนินการก่อนช่วงเวลาที่จะมีการรับนักเรียนเกิดขึ้น และต้องไม่ใช้เรื่องการระดมทรัพยากรเป็นเงื่อนไขเพื่อแลกกับที่นั่งเรียน

         แต่ก็นั่นแหละ...อย่างไรเสียก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าการเปิดให้ระดมทรัพยากรทางการศึกษาของสถานศึกษานั้น เงินเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวช่วยสุดท้ายในการทำให้เด็กนักเรียนได้ที่นั่งเรียนแบบสมใจพ่อแม่ผู้ปกครอง 

แนวปฏิบัติการระดมทรัพยากรของสถานศึกษาสังกัด สพฐ.

       1.สถานศึกษาสามารถระดมทรัพยากรได้ตามมาตรา 58 แห่งพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

       2.การระดมทรัพยากรต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ตามความเหมาะสมและความจำเป็น

       3.สถานศึกษาต้องแต่งตั้งคณะกรรมการระดมทรัพยากรของสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมและให้แรงจูงใจในการระดมทรัพยากรจากบุคคล ครอบครัว ชุมชนองค์กร เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรวิชาชีพสถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น

       4.สถานศึกษาต้องเสนอแผนและโครงการในการระดมทรัพยากรเพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

       5.การใช้จ่ายทรัพย์สินและทรัพยากรอื่นที่ได้รับจากการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาต้องสอดคล้องกับโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

      6.สถานศึกษาต้องรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการระดมทรัพยากรต่อคณะกรรมการสถานศึกษา

     ๐ ทีมข่าวการศึกษา ๐
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ