คอลัมนิสต์

เจาะแผนพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนรับอีอีซี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เจาะแผนพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนรับอีอีซี

             ภารกิจของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั้นไม่ได้มีแค่จัดหาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรเท่านั้น แต่ยังต้องสนับสนุนการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออก ถือเป็นพื้นที่ตั้งหลักของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตอบสนองในเรื่องแหล่งน้ำต้นทุนมาขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา กรมชลประทานได้สนับสนุนแหล่งน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในภาคตะวันออกให้แก่โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด 

             พลันที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายผลักดันให้พื้นที่ภาคคตะวันออก ซึ่งประกอบด้วย 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 แสนไร่ มีมูลค่ารวมกว่า 7 แสนล้านบาท และมีโอกาสขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดใกล้เคียงอีกในอนาคต โดยมีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างโครงการ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2560 จนถึง 2564 ซึ่งในปีแรก(2560) มีโครงการสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการจำนวนทั้งสิ้น 48 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเป็นหลัก

            โดยแผนการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้คณะอนุกรรมการฯ ที่มีรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยหน่วยงานจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีกรมชลประทาน เป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย เนื่องจากน้ำ เป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการขับเคลื่อนโครงการ โดยกรมชลประทานจะมีการลงนามเอ็มโอยูกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเร็วๆ นี้ เพื่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุด

            ขณะเดียวกันคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) คณิศ แสงสุพรรณ ก็ได้ออกมายอมรับว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการได้ประสานไปยังกรมชลประทานเป็นระยะๆ เพื่อหารือถึงแหล่งน้ำต้นทุนและปริมาณน้ำที่ใช้ในพื้นที่ภาคตะวันออกโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นความกังวลที่เกิดขึ้นในอนาคตสำหรับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หากมีภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจำนวนมากในอนาคต โดยเบื้องต้นได้มอบหมายกรมชลประทานให้กรอบเวลา 3 เดือนในการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ หรือแผนสำรองน้ำ ระยะสั้น 1 ปี

           “แผนระยะ 1 ปีจะประกอบไปด้วย ระบบการวางท่อ การซ่อมแซมเส้นทางท่อเก่าที่สูบน้ำมาจากแหล่งน้ำต่างๆ รวมถึงเส้นทางท่อหลักที่จะสูบน้ำจากปากแม่น้ำประแสร์ อ.แกลง จ.ระยอง ต่อจากนั้นจึงจะจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาวต่อไป ซึ่งจากการประเมินปริมาณน้ำในภาคตะวันออกขณะนี้ ยังคงเพียงพอกับการใช้ในพื้นที่อีอีซี"           

           ปัจจุบันปริมาณน้ำใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีประมาณ 464 ล้านลบ.ม. โดยจังหวัดที่มีความต้องการใช้น้ำมากที่สุดคือชลบุรี ซึ่งมีความต้องการสูงกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่และแหล่งกักเก็บน้ำมากกว่าอินโฟลว์ที่ไหลเข้าอ่าง ปัจจุบันจึงดึงจากฉะเชิงเทรามา 2 แหล่งประมาณ 80-90% คือ บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ผันทางท่อจากเขื่อนทดน้ำบางปะกง  45 ล้านลบ.ม. และกรมชลประทานดึงน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต 60 ล้านลบ.ม.ไปลงอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี และอีก 70 ล้านลบ.ม.ดึงมาจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง 

             ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ และรองโฆษกกรมชลประทาน เผยต่อ “คม ชัด ลึก” ถึงแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ของรัฐบาล โดยระบุว่า ขณะนี้แหล่งต้นทุนทุกแห่งในภาคตะวันออกพุ่งเป้าไปที่ จ.ชลบุรี เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำหลักอยู่ 2 แห่งคือ อ่างฯ บางพระ และอ่างฯ คลองหลวง ความจุของอ่างเก็บน้ำยังมีอีกมาก โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำบางพระมีความจุ 215 ล้านลบ.ม. แต่ขณะนี้มีน้ำที่ไหลเข้ามาจริงเพียง 130-133 ล้านลบ.ม.เท่านั้น และต้องการพัฒนาอ่างบางพระให้เป็นฮับ(Hub)ของน้ำในพื้นที่ จ.ชลบุรี สำหรับรับน้ำจากลุ่มน้ำบางปะกงและเจ้าพระยา แต่หากยังไม่พอก็จะดึงน้ำจากระยองมาเสริม ในขณะที่ จ.ระยอง อ่างเก็บน้ำมีความจุ 580 ล้าน ลบ.ม. แต่กลับมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมากถึง 652 ล้านลบ.ม. ซึ่งเกินความต้องการที่อ่างฯ จะรับไหว

             “ชลบุรี เราก็พยายามที่จะสร้างและพัฒนาแหล่งน้ำ แต่ต้องยอมรับว่าที่ดินแพงมาก นี่คือปัญหาหลัก  ณ ขณะนี้ ถ้าพูดถึง 3 จังหวัดไม่รวมภาคเกษตร จะเห็นได้ว่าปี 2560 ความต้องการน้ำเราอยู่ที่ประมาณ 362 ล้านลบ.ม. เมื่อดูโปรเจกท์ข้างหน้า 20 ปี ความต้องการน้ำจะเพิ่มมากขึ้นจาก 362 ล้านลบ.ม.เป็น 570 กรณีถ้าไม่มีอีอีซีนะ แต่ถ้าอีอีซีเกิดขึ้น ความต้องการใช้น้ำเป็นเท่าตัว หรือประมาณ 1,000 ล้านลบ.ม.ในปี 2579”

            ดร.สมเกียรติ ยอมรับว่า การเพิ่มปริมาณน้ำอย่างทันท่วงทีคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอ่างฯ ที่มีอยู่เก็บน้ำได้ในปริมาณที่จำกัด การที่จะสร้างอ่างฯ เพิ่มก็คงลำบาก เพราะมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นทางออกที่ทำได้ก่อนในช่วง 3-4 ปีจากนี้ไปคือพยายามเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิมของกรมชลประทาน เช่นอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลเพิ่มความจุอีก 23 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่เพิ่มความจุอีก 10 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำดอกกรายอีก 10 ล้านลบ.ม. รวมทั้งผันน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำคลองสียัดและอ่างเก็บน้ำคลองระบมเข้าสู่ระบบคลองชลประทานที่มีพื้นที่น้ำท่ามาก อีกปีละ 21 ล้านลบ.ม. 

             นอกจากนี้ ยังดำเนินการสูบกลับจากคลองสะพานไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ที่มีการเพิ่มความจุใหม่อีก 47 ล้านลบ.ม. เป็น 295 ล้านลบ.ม.  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าช่วง 5 ปีแรกก็ต้องมีโครงการเล็กๆ ขึ้นมาก่อนจะมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกโดยเฉพาะในอนาคต ดังนั้นในวันนี้กรมชลปะระทานเริ่มต้นด้วยการปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมเพิ่มความจุ พัฒนาแหล่งน้ำและสร้างแหล่งน้ำใหม่ รวมถึงสร้างโครงข่ายน้ำ สูบน้ำ จะเห็นได้ว่าภาคตะวันออกของระยองมีอ่างเก็บน้ำที่เป็นพวงมากมายและชัดเจนดีอยู่แล้ว        

            ไม่เพียงเท่านั้นกรมชลประทานยังได้เตรียมนำโครงการผันน้ำจากแม่น้ำสตึงนัม ประเทศกัมพูชา ประมาณ 800 ล้านลบ.ม. เข้ามาใช้ในฝั่งไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อเดินหน้าโครงการนำน้ำจากต่างประเทศมาสำรองใช้ในภาคตะวันออก เพราะกรมชลประทานประเมินว่าอีกประมาณกว่า 5-10 ปีข้างหน้า ภาคตะวันออกจะมีการเติบโตทั้งภาคเกษตร และอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีน้ำสำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน

              “โครงการผันน้ำจากแม่น้ำสตึงนัมเป็นโครงการต่อเนื่อง จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนัม ที่กระทรวงพลังงานไปเจรจาซื้อน้ำมาผลิตไฟฟ้า ที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกัมพูชากับไทย ซึ่งกรมชลประทานเล็งเห็นน้ำที่เหลือจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อผันเข้ามาทาง จ.จันทบุรี มาเข้าเขื่อนประแสร์ไว้ใช้ในภาคตะวันออก ขณะเดียวกันกรมชลประทานยังได้เตรียมสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ 4 แห่ง ที่ ต.วังโตนด จ.จันทบุรี ซึ่งอ่างฯ ทั้ง 4 แห่งนี้สามารถเก็บน้ำได้ประมาณ 300-400 ล้านลบ.ม. เพียงพอที่จะใช้ในอีก 4-5 ปีข้างหน้าด้วย” ดร.สมเกียรติกล่าวย้ำ

            แม้พื้นที่ภาคตะวันออกจะมีข้อจำกัดในการพัฒนาสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่เพิ่ม แต่ความต้องการใช้น้ำกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ทางออกของกรมชลประทานทุกวันนี้ นอกจากพัฒนาอ่างเก็บน้ำเดิมขยายเพิ่มความจุมากขึ้นและดึงน้ำสำรองจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วยังต้องเร่งก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำประแกด ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้างานก่อสร้างไปแล้ว 90% เก็บน้ำได้ 60.2 ล้านลบ.ม. 

            นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำอีก 3 แห่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ และอ่างเก็บน้ำคลองแก่งหางแมว ซึ่งสองอ่างฯ นี้รวมกันได้ 148.8 ล้านลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดมีความจุ 99.5 ล้านลบ.ม. จึงต้องเร่งศึกษาอีไอเอให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากอ่างเก็บน้ำเหล่านี้ก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะกลายเป็นอ่างพวงเพื่อเก็บน้ำมาเติมที่อ่างฯ ประแสร์ ที่ถือว่าเป็นฮับน้ำภาคตะวันออก จากนั้นส่งต่อมายังอ่างฯ บางพระ เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับป้อนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยปริมาณน้ำดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมต่อไปได้อีกอย่างน้อย 10 ปี 

           นี่คือแผนการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนของกรมชลประทานเพื่อรองรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)อย่างครบวงจร 

กปภ.กับแผนน้ำจัดการประปารับ“อีอีซี”

          การประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) เสนอร่างแผนงานให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) พิจารณาขอจัดสรรงบก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปา 5 โครงการในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ของรัฐบาล โดย เสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการกปภ. เปิดเผยว่า ผลักดันให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดการลงทุนและเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต กปภ.ในฐานะหน่วยงานชั้นนำที่ให้บริการด้านน้ำประปาซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ได้จัดทำแผนงานโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปา จำนวน 5 โครงการ งบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 4 แสนลบ.ม./วัน และขยายเขตจ่ายน้ำในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก รองรับความต้องการใช้น้ำประปาของผู้ใช้น้ำ ที่เพิ่มขึ้นจากการย้ายถิ่นฐาน และการขยายตัวของเอสเอ็มอีประมาณ 4 แสนราย ซึ่งขณะนี้ กปภ.ได้เร่งรัดวางแผนและออกแบบรองรับพื้นที่ดินแล้ว โดยจะจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียดและขออนุญาตการก่อสร้างต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ