คอลัมนิสต์

ผู้สูงอายุไทย อันดับ 2 ในอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อไทยกำลังเผชิญปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นอับดับสองของอาเซียน สถานการณ์เช่นนี้รัฐบาลไทยจะมีหนทางแก้ไขอย่างไร

     ตั้งแต่ปี 2548 ประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงอายุ เนื่องจากมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 10 ของประชากรสูงอายุ  และมีการคาดประมาณว่า ในปี 2564 จะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 และปี 2574 จะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด สัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 28  โดยในปี 2558 ประชากรไทยมีจำนวน 65.1 ล้านคน เป็นประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด “คม ชัด ลึก”  จึงได้ติดตามสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย

     ผู้สูงอายุไทยเรียนจบประถมศึกษาร้อยละ 79.3 จบมัธยมและสูงกว่าประมาณร้อยละ 10 และผู้ที่ไม่เคยเข้าเรียนมีร้อยละ 9.5  สภาพสมรส ร้อยละ 64.61 โสด ร้อยละ 9.2 ม่าย/หย่า/แยก ร้อยละ 30.38 หากเทียบผู้สูงอายุไทยกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน  ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเป็นอันดับ 2 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยที่เข้าเกณฑ์เป็นสังคมสูงวัยแล้ว 3  ประเทศ คือ สิงคโปร์ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 18 ประเทศไทยร้อยละ 16 และเวียดนามร้อยละ 10 ส่วนเมียนมาร์มาเลเซีย ร้อยละ 9  อินโดนีเซีย บรูไน ร้อยละ 8  กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และติมอร์-เลสเต ร้อยละ 7 และลาวร้อยละ 6  ส่วนประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก คือ ญี่ปุ่น  ร้อยละ 33

0 รายได้ไม่เพียงพอ 0

    ในรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย  พ.ศ.2558 ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ โดยในปี 2557 ผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 34.3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน คือ มีรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 31,764 บาทต่อคนต่อปี มีแนวโน้มลดลง เพราะในปี 2545 ผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ร้อยละ 46.5

ผู้สูงอายุไทย อันดับ 2 ในอาเซียน        ผู้สูงอายุไทย อันดับ 2 ในอาเซียน  g6MECbbq.jpg

2PUtMuVK.jpg

    ทั้งนี้ แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุได้จากบุตรมากที่สุด ร้อยละ 37 การทำงาน ร้อยละ 34 เบี้ยยังชีพทางราชการ ร้อยละ 15 และเงินบำเหน็จ บำนาญร้อยละ 5 อย่างไรก็ตาม แหล่งรายได้หลักจากบุตรมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก ปี 2550 ร้อยละ 52 ปี 2554 ร้อยละ 40 ขณะที่รายได้จากการทำงานแนวโน้มสูงขึ้น ปี 2550 ร้อยละ 29 ปี 2554 ร้อยละ 35 เมื่อแยกย่อยตามช่วงอายุ ในปี 2557 อายุ 60-64 ปียังทำงานอยู่ ร้อยละ 59 65-69 ปี ร้อยละ 46  70-74ปี ร้อยละ 25 และ มากกว่า 75 ปีร้อยละ 11

   พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมส.ผส. บอกว่า ลักษณะของงานหลัก เป็นเจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการเอง รองลงมาเป็นลูกจ้างเอกชน  ผู้ปฏิบัติงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ลูกจ้างรัฐบาล/รัฐวิสาหกิจ และสมาชิก/การรวมกลุ่ม ส่วนเหตุผลที่ยังทำงานเพราะต้องการรายได้มากที่สุด ตามด้วยสุขภาพแข็งแรง/ยังมีแรงทำงาน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ช่วยครอบครัวและเป็นอาชีพประจำ ซึ่งความเพียงพอของรายได้ มีความเพียงพอร้อยละ 51.5 ไม่เพียงพอร้อยละ 26.7 เพียงพอบางครั้งร้อยละ 20.1 และเกินพอ 1.7 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนรายได้ที่ไม่พอสูงที่สุด

0 อยู่ลำพังมากขึ้น 0

    ตัวเลขในปี 2557  ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว ร้อยละ 9 แยกเป็นในเขตเทศบาล ร้อยละ 10 และนอกเขตเทศบาล ร้อยละ 8 หากเทียบกับในปีก่อนหน้ามีแนวโน้มสูงขึ้น ปี 2545 ร้อยละ 6 ปี 2550 ร้อยละ 8 ปี 2554 ร้อยละ 9  นอกจากนี้ มีผู้สูงอายุที่ต้องการผู้ดูแลปรนนิบัติในชีวิตประจำวันแต่ไม่มีผู้ดูแล  อายุ 60-69 ปี ร้อยละ 2 แอายุ 70-79 ปี ร้อยละ 3 และอายุ 80 ปีขึ้นไป ร้อยละ 4  โดยกิจกรรมที่ผู้สูงอายุไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ชีวิตประจำวัน เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ กลั้นอุจจาระไม่ได้ ขึ้นลงบันไดเอง 1 ชั้นไม่ได้ เคลื่อนไหวภายในห้องไม่ได้ รับประทานอาหารเองไม่ได้ ลุกนั่งจากเตียงไม่ได้ ใช้ห้องน้ำเองไม่ได้ สวมเสื้อผ้าเองไม่ได้ และอาบน้ำเองไม่ได้ เป็นต้น

    และพบว่าที่อยู่อาศัย ต้องมีการปรับบ้านเดิมให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ  โดยเฉพาะการติดตั้งราวให้ยึดเกาะในห้องน้ำ/ห้องส้วม  ช่วยพยุงตัวและป้องกันการลื่นล้ม  ห้องน้ำให้เป็นส้วมแบบนั่งห้อยเท้า ไม่ใช่แบบส้วมนั่งยอง  ห้องนอนควรอยู่ชั้นล่างของบ้าน ขณะที่พบว่าผู้สูงอายุมากกว่า 1 ใน 4 มีห้องนอนอยู่ชั้นบน 

   พญ.ลัดดา บอกว่า มีผู้สูงอายุที่ต้องใช้บันไดในการขึ้นลงทุกวัน และต้องเดินบนพื้นบ้านที่ลื่น โดยรวมมีถึงร้อยละ 48.8 และร้อยละ 31.7  ซึ่งผู้สูงอายุต้องละเว้นการขึ้น-ลงบันได และปรับพื้นบ้านใช้วัสดุที่ไม่ลื่น

0 ปัญหาสุขภาพ 0

   โรคที่มักพบในผู้สูงอายุ ได้แก่ ข้ออักเสบ ข้อเสื่อม ร้อยละ 23 หลอดเลือดหัวใจตีบ กลามเนื้อหัวใจตาย ร้อยละ 5  อัมพาต ร้อยละ 2 และโรคถุงลมโป่งพอง/หลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง ร้อยละ 2 โดยการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 (พ.ศ.2557) ของสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า ผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) เป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าวัยกลาง (70-79 ปี) และวัยต้น (60-69 ปี) โดยผู้สูงอายุหญิงจะเป็นมากกว่าผู้สูงอายุชาย 

    ส่วนโรคเบาหวานส่วนมากจะพบในผู้สูงอายุวัยต้นและวัยกลาง ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ในวัยปลายสัดส่วนชายและหญิงจะใกล้เคียงกัน  นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมีภาวะอ้วน ร้อยละ 35 ผู้หญิงร้อยละ 43 ผู้ชายร้อยละ 27 รวมทั้งมีปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร โดยเกินครึ่งของผู้สูงอายุวัยกลางและวัยปลายมีฟันไม่ครบ 20 ซี่ 

    การรับรู้ถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย จะนำมาซึ่งการวางแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุในทุกมิติและทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน เพื่อช่วยสร้างสุขให้ผู้สูงวัยไทย 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ