คอลัมนิสต์

“ILaw” มองรธน.ใหม่ ให้ “เสรีภาพปชช.” แค่ทางทฤษฎี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประชาชน มองอย่างไร กับประเด็น สิทธิ-เสรีภาพ ในรัฐธรรมนูญใหม่ และย่างก้าวต่อไป..

                 

       หลังจาก “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่20” ประกาศใช้เป็นฉบับถาวร เมื่อ 6 เม.ย. 2560 สิ่งที่ถูกจับตาอย่างเป็นไฮไลต์สำคัญ คือ “สิทธิ และ เสรีภาพของประชาชน” ที่ถูกรองรับไว้ในกติกาสูงสุดของประเทศ จะเป็นอย่างไร?
 

       โดยเฉพาะ เสรีภาพด้านการแสดงความเห็นต่อกระบวนการของรัฐ-การวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน ของ “รัฐบาล-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” รวมถึงกลไกที่เกี่ยวข้อง “ประชาชน” จะมีอำนาจเต็ม 100 ตามที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญระบุไว้หรือไม่?
 

          แน่นอน คำตอบของคำถามนี้ คือ “ไม่เต็ม” ตราบใดที่ “ประกาศ-คำสั่ง คสช. หรือ ของหัวหน้าคสช.” ไม่ถูกยกเลิก

          ขยายความกันให้ชัด โดย “ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)” ที่ทำงานตามติดกับประเด็นสิทธิ-เสรีภาพ ว่า คำสั่ง-ประกาศ คสช. ที่ออกตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่เทียบสถานะเท่ากับกฎหมาย มีหลายฉบับที่ริดลอนสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เขียนให้กฎหมายที่ออกโดยคำสั่งเหล่านั้นยังบังคับใช้ได้  รวมถึงการเขียนบทบัญญัติที่สร้างเงื่อนไขของการใช้สิทธิ เสรีภาพ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ต้องเป็นไปภายใต้กรอบการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของรัฐ ศีลธรรมอันดี ดังนั้น ประเด็นนี้ ในทางทฤษฎีจะเขียนไว้ แต่ไม่ทำให้เกิดเสรีภาพที่แท้จริงได้ในทางปฏิบัติ

     “ผมมองว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว สิทธิของประชาชนควรจะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญใหม่เขียนไว้ รวมถึงอำนาจ หน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ควรเป็นไปตามนั้นด้วย ไม่ควรมีอำนาจจากรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว มาซ้อนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และอำนาจพิเศษของคสช. นั้น ไม่ควรมี แต่เมื่อยังมีอยู่ก็ไม่ควรใช้อำนาจนั้นอีก”
 

      ในประเด็นต่อเนื่องกัน ถึงเงื่อนไขของการใช้เสรีภาพ “ผู้จัดการไอลอว์” มองว่าการเขียนเงื่อนไขไว้แบบกว้างๆ นั้น ทำให้รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ความคุ้มครองต่อการใช้สิทธิ เสรีภาพประชานมากนัก

         ด้วยข้อจำกัดที่สะท้อน อาจแปลงเป็นโอกาสดีได้ หาก “ศาลรัฐธรรมนูญ” ฐานะผู้ตีความตัวบท แปลความหมายของคำว่าสงบเรียบร้อย ความมั่นคง ในความหมายแบบแคบ และแปลความ เสรีภาพแบบใหญ่ หากเป็นเช่นนี้ เสรีภาพจะไม่ถูกจำกัดมาก  แต่จากวัฒธรรมของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยเรื่องราวที่ผ่านทำให้สิ่งที่มองแบบโลกสวย กลายเป็นความดำมืดที่น่ากลัวได้

 
        ดังนั้นในทิศทางของ “ไอลอว์” หลังจากที่รัฐธรรมนูญใหมีประกาศใช้ “ยิ่งชีพ” บอกด้วยความมุ่งมั่นว่าจะใช้กระบวนการภาคประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิไว้ คือ รวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่งคสช. และ คำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ รวมถึงให้นำคดีของบุคคลซึ่งถูกดำเนินคดีตามประกาศหรือคำสุ่ง คสช.  ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยมีธงนำคือยึดการวินิจฉัยที่เป็นคุณกับเสรีภาพของประชาชน

 

“ILaw” มองรธน.ใหม่ ให้ “เสรีภาพปชช.” แค่ทางทฤษฎี
               

      นอกจากนั้น ต่อประเด็น “แผนยุทธศาสตร์ชาติ” ที่ ิ ยืนยันว่า ไม่เอา หากขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจากในทัศนะส่วนตัวมองว่า รัฐบาล คสช. ไม่ควรมีอำนาจต่อการวางยุทธศาสตร์หรือแผนระยะยาวที่เกินกว่าวาระของตัวเอ เมื่อ คสช. พ้นไปแล้วสิ่งนั้นควรไปพร้อมกับคสช.


      แต่หากถามสไตล์การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกำหนดชะตา-อนาคตของตนเอง ผ่านแผนระยะยาว-ยุทธศาสตร์ชาติ นั้น “ยิ่งชีพ”  ออกแบบอย่างเบสิค คือ รัฐบาลเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อให้คนทุกฝ่าย ทั้ง คนที่เห็นด้วยกับ คสช. กับคนที่เห็นต่าง สามารถเข้าร่วมได้ และร่วมแบบมีเวลามากพอที่จะพูด โดยความเห็นที่เสนอแม้จะเป็นสิ่งที่เห็นแย้งกับ คสช. ต้องไม่ถูกจับเพื่อดำเนินคดี ขณะเดียวกันบุคคลที่ไม่อยากเข้าร่วมเวทีของรัฐบาล ต้องเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อให้คนกลุ่มนั้นเข้าถึงด้วย เช่น ผ่านพื้นที่สื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อให้คนที่ไม่อยากเข้าร่วมกับ คสช. หรือพูดให้รัฐบาลฟังโดยตรง มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยน ถกเถียงเรื่องนั้นๆ ในสังคม


      “อย่างน้อยต้องเลิกคำสั่งคสช. ที่ห้ามการชุมนุม เพื่อสร้างบรรยากาศให้คนอยากเสนอความเห็น ให้คนรู้สึกว่ายุทธศาสตร์ชาตินั้น ทุกคนมีส่วนร่วมร่าง มาจากสัญญาประชาคมที่คนถกเถียงได้ว่าเรื่อนั้นจะเอา หรือไม่เอาได้ แต่หาก คสช. ไม่สร้างบรรยากาศ ยังคำนึงเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ต่อให้ได้ยุทธศาสตร์ชาติมา ก็จะเป็นยุทธศาสตร์ที่พิการ มีคนเข้าเกียร์ว่าง เกิดความไม่พอดีในสังคม ดีไม่ดีอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ทะเลาะกันระหว่างคนที่นำไปใช้บังคับ กับคนที่ถูกบังคับใช้” ยิ่งชีพ ประเมินปิดท้าย


    อย่างไรก็ตาม....ในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ “รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน” ในมาตรา 65 ยังกำหนดเงื่อนไขต่อกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติไว้ด้วยว่า ต้องมีกฎหมายที่เขียนรับรองสิทธิของประชาชนทุกภาคส่วนต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมจัดทำและรับฟังความเห็นที่ทั่วถึงด้วย ซึ่งรายละเอียดในเรื่องนี้ล่าสุด "คณะรัฐมนตรี" ได้ส่ง ร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ" มาให้ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และ สภาฯ ได้นัดหมายที่จะนำเข้าหารือในที่ประชุม หลังพ้นเทศกาลสงกรานต์นี้
 

      รายละเอียดและเนื้อหาจะเป็นอย่างไร “ทีมข่าวคมชัดลึกออนไลน์” จะนำรายละเอียดมาเสนอต่อ..เร็วๆ นี้

       โปรดติดตาม!!!!!

 

-----------

ขนิษฐา เทพจร 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ