คอลัมนิสต์

เส้นทางวิบาก 29 เดือน ก่อนคลอดรัฐธรรมนูญ 2560

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กว่าจะมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ระหว่างทางต้องเจอกับอะไรบ้าง

หลังจากที่ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” เข้าสู่กระบวนการปกครองของประเทศไทย เป้าหมายสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน คือ การจัดทำกติกาสูงสุดฉบับใหม่ที่ใช้บังคับถาวร แทน “รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557"

 

ซึ่งต้องยอมรับว่าในยุคสมัยของการบริหารของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.” ใช้เวลาดำเนินการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมเวลาประมาณ 29 เดือน (6 พ.ย.2557 – 6 เม.ย.2560 ) 

และผ่านมือการยกร่างเนื้อหา ของเซียนกฎหมาย ถึง 2 ชุดทำงาน คือ ชุดของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ในชื่อของ “กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ” และ ชุดของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ในชื่อ “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ”

 

นั่นทำให้แสดงให้เห็นว่าเส้นทางของ “รัฐธรรมนูญไทย ฉบับที่ 20” ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่หมายถึงการวางกิ่งหนามและก้อนหินที่แหลมคมให้เบี่ยงหลบกระแสตลอดทาง

 

เส้นทางสายแรก ของ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 20 กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เริ่มนับ1 เมื่อมีการแต่งตั้ง “กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ” เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2557 และคณะได้นัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2557 เพื่อวางกรอบการยกร่างเนื้อหา ภายใน 120 วันหลังจากรับความเห็นและข้อเสนอแนะจาก “สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)” โดยตามปฏิทินการทำงานจริงๆ จะเริ่มต้นยกร่างบทบัญญัติจากความเห็นและกรอบของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 35 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2557

 

ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนด ว่า เมื่อ “กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ” จัดทำร่างฉบับแรกแล้วเสร็จ ต้องส่งเนื้อหาเพื่อให้ สปช., คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช. ให้ความเห็นและข้อเสนอแก้ไข โดยช่วง 20 -26 เม.ย. มีการประชุมสปช. เพื่อชำแหละรายมาตราและรายประเด็นสำคัญ

 

ทั้งนี้ภายใต้กระบวนการทำงาน “กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ” พยายามรับฟังความเห็นจากหลายๆ ภาคส่วน และใช้พลังพร้อมความเห็นของประชาชนเป็นกำแพงพิงหลัง หากจะเกิดการปะทะกับ “ฝ่ายการเมือง หรือ ผู้มากบารมีในคสช.” จนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ ถูกขนานามจากผู้ที่เห็นด้วย ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป” ด้วยโจทย์สำคัญ คือ สร้างพลเมืองเป็นใหญ่, การเมืองใสสะอาดและสมดุล, หนุนสังคมให้เป็นธรรม, นำชาติสู่สันติสุข พ่วงด้วยแนวทางปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม 8 เรื่องใหญ่

โดยระหว่างทางนั้นมีการเรียกร้องให้ “ประชาชน” ร่วมออกเสียงประชามติ ตัดสินรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของตนเอง

ซึ่งผลลัพท์ก็คือ “ครม.” เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ให้มีประชามติ และคำถามพ่วง แต่มีเงื่อนไข คือ ต้องผ่านการกลั่นกรองเนื้อหาและลงมติยินยอมจาก “สปช.” ก่อน

 

แต่ด้วยโจทย์ใหญ่ของฝ่ายการเมืองที่มองว่าภาพสะท้อนทางการเมือง ยังไม่เอื้อต่อสถานการณ์ ทำให้ “รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป” ไม่ผ่านด่าน “สปช.” จากผลลงมติ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.58 สปช. เสียงข้างมาก 135 เสียงลงมติไม่เห็นชอบ ขณะที่สปช. 105 เสียงซึ่งน้อยกว่า ลงมติให้ผ่าน และการประชามติก็ไม่เกิดขึ้น

ทำให้ “กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ” ทั้งคณะต้องสิ้นสภาพ รวมถึง สถานะภาพของสมาชิก สปช. ด้วย

ในห้วงหลังจากครั้งนั้น “ครม.” ต้องเสนอแก้ไข รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) อีกครั้งเพื่อเปิดทางให้มีการตั้งคณะทำร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่

 

ต่อจากนั้นจึงเกิดเป็นกระบวนการตั้ง “คณะจัดทำรัฐธรรมนูญร่างสอง” เมื่อวันที่ 5 ต.ค.58 “พล.อ.ประยุทธ์” จรดปากกาตั้ง “มีชัย ฤชุพันธุ์" ทำหน้าที่หัวหน้าทัพทำรัฐธรรมนูญ” ร่วมกับคณะ อีก 20 คน และกำหนดระยะเวลาทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน

โดยเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ “มีชัย” นั้น เรียกได้ว่า แตกต่างอย่างมากจาก ฉบับของบวรศักดิ์ จนถูกภาคประชาชนขนานามว่า เป็นฉบับที่ทำให้เกิดรัฐราชการเป็นใหญ่ เพราะมอบอำนาจและให้ความสำคัญกับฝ่ายราชการ มากกว่าการส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชน ซึ่งถูกนำไปเป็นประเด็นโต้แย้งของฝ่ายต่างๆ ในการรณรงค์ออกเสียงประชามติ วันที่ 7 ส.ค. 59

 

แต่ด้วยคำอธิบายของ “กรธ.” ที่สามารถหักล้างในประเด็นโต้แย้งของฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ่วงกับ กลไกของภาครัฐที่ยังคุมได้เบ็ดเสร็จ ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ผ่านประชามติ ด้วยเสียง 16.8 ล้านสียง คิดเป็นร้อยละ 61.35

อย่างไรก็ดีในการออกเสียงประชามติรอบนั้น มีคำถามพ่วง 1 คำถาม ประเด็นภายใน 5 ปีแรก ที่ให้สิทธิ ส.ว. ลงกับ ส.ส. ลงมติเห็นชอบ บุคคลที่จะดำรงตำแหน่ง นายกฯ ซึ่งได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากเช่นกัน

 

ทั้งนี้ตามกติกาที่ปรับใหม่ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดให้เมื่อคำถามพ่วงถูกเห็นชอบ “กรธ.” ต้องกลับมาแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง จากนั้นให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจบรู๊ฟ

ผลการวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” รอบนั้น ชี้ว่าสิ่งที่ “กรธ.” แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่สอดรับกับผลประชามติ ต่อประเด็น “ห้วงเวลา 5 ปี” ที่ให้สิทธิ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ กับส.ส. ทำให้ต้องยืดเวลาแก้ไข และการทูลทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงปรมาภิไธย ออกไป เป็นวันที่ 8 พ.ย. 59

 

ในภาวะเดียวกันที่ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะเศร้าสลด เพราะการเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช เมื่อ 13 ต.ค. 59 ทำให้จังหวะของ “รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20” ต้องใช้เวลามากกว่าฉบับอื่นๆ ที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ดี เมื่อประเทศไทย มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ และร่างเนื้อหาของกติกาสูงสุดของประเทศผ่านพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว มีบทบัญญัติบางประเด็นที่ต้องกลับมาแก้ไขให้สอดคล้งเหมาะสมกับสถานการณ์

 

แต่ด้วยที่ “นายกฯ” ทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญไปแล้วเมื่อเดือน พ.ย. 59 จึงทำให้กลไกต้องย้อนมาที่ “รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยแก้ไขเนื้อหาให้ “มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นายกฯ ทูลเกล้าฯ ได้ กรรีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใด ภายใน 30วัน และแก้ไขคำปรารภของรัฐธรรมนูญให้สอดคล้อง ก่อนนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่”

 

และในวันที่ 6 เม.ย. นี้เอง เวลา 15.00 น. จะมีพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

 

-------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ