คอลัมนิสต์

“รถยนต์ไฟฟ้า” ยานยนต์แห่งอนาคต ตัวจักรขับเคลื่อนอีอีซี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“รถยนต์ไฟฟ้า” ยานยนต์แห่งอนาคต ตัวจักรขับเคลื่อนอีอีซี

                 ในที่สุดการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ก็อนุมัติในหลักการการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เสนอ หลังรมว.คลัง "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมสรรพสามิต เพื่อกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดให้เป็นแพ็กเกจเดียวกัน จนได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากมองว่าการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) นั้น ถือเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ลดมลพิษและสอดคล้องกับนโยบายสหประชาชาติ (ยูเอ็น) 

                    ทว่าหากวาดสายตาไปรอบๆ บ้านจะเห็นได้ว่าหลายประเทศเริ่มดึงผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ หากรัฐบาลล่าช้าและไม่มีมาตรการเงื่อนไขที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดนักลงทุนเหล่านี้ก็อาจถูกแย่งเค้กชิ้นใหญ่ไปก็อาจเป็นได้ เห็นได้จากที่ “หิรัญญา สุจินัย” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกมาระบุว่า ในภาพรวมขณะนี้บริษัทรถยนต์ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยมีความพร้อมในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหมดแล้วเหลือเพียงบริษัทเทสลา (Tesla) ที่อยู่ระหว่างการเจรจาให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งทราบว่าทางการมาเลเซียก็พร้อมเสนอเงื่อนไขจูงใจให้บริษัทเทสลาไปตั้งฐานการผลิตเช่นกัน แต่ก็มั่นใจว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนของไทยจะสามารถแข่งขันกับมาเลเซียได้ 

              แม้มาตรการที่บอร์ดบีโอไออนุมัติจะเป็นส่วนส่งเสริมเท่านั้น แต่ทั้งแพ็กเกจส่งเสริมจะมีทั้งมาตรการของกรมสรรพสามิต รวมถึงมาตรการที่จะจูงใจให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เช่น การกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมกำหนดพื้นที่ให้ใช้โดยมุ่งไปยังพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นการนำร่อง โดยการส่งเสริมตามมติบอร์ดบีโอไอนั้น เป็นการส่งเสริมแบบครบห่วงโซ่อุปทาน ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริดและแบบแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งเปิดทางให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยสามารถยื่นขอรับส่งเสริมกิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ได้อีกด้วย

               เรียกได้ว่าส่งเสริมกันทุกองคาพยพของธุรกิจที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายตั้งแต่ระดับหมื่นล้านแสนล้านใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจนถึงระดับหลักหมื่นหลักแสนหลัก หรือจำพวกธุกิจเอสเอ็มอีทั้งหลายจะได้เกิดเสียที หากมาตรการกระตุ้นเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งคาดว่าไทยจะมีศักยภาพที่จะชักจูงนักลงทุนให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในระดับภูมิภาค คาดว่าภายใน 5 ปี จะมีรถยนต์ไฟฟ้าเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นและในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 30% ของยอดขายรถทั้งหมด 

                สำหรับการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า 3 แบบ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle: HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) โดยให้ส่งเสริมการผลิตทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะ และรถโดยสาร และให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ที่แตกต่างกันตามระดับเทคโนโลยีในการผลิต โดยแต่ละแบบจะเปิดให้ผู้ประกอบการยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2561 ตามเกณฑ์ผู้ประกอบการจะต้องลงทุนภายใน 3 ปี จึงคาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบในไทยภายใน 5 ปี 

               ทั้งนี้การส่งเสริมกิจกรรมทั้ง 3 แบบก็จะได้สิทธิและประโยชน์ที่แตกต่างกัน โดยรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 31 ธันวาคม  โดยเสนอเป็นแผนงานรวม ประกอบด้วยโครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญๆ ส่วนสิทธิและประโยชน์จะได้รับเฉพาะยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร  รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก เสนอเป็นแผนงานรวม ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี หากผลิตชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ เสนอเป็นแผนงานรวมเช่นกัน ยื่นคำขอรับส่งเสริมลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี หากมีการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 10 ปี  

              นอกจากนี้ยังมีมาตรการส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าด้วย ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย และสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียานยนต์ของโลก โดยกิจการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า ได้เพิ่มชิ้นส่วนอีก 10 รายการที่จะให้การส่งเสริมให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากตั้งโครงการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และยื่นขอรับส่งเสริมภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2560 จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี 

                 ส่วนกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จะต้องเสนอแผนการจัดหาอุปกรณ์และชิ้นส่วนและแผนพัฒนาระบบอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Smart Charging System) โดยจะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร  

               ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีการแก้ไขกฎระเบียบให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างรถไฟฟ้าได้และการกำหนดพื้นที่ปลอดมลพิษในพื้นที่ของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยให้ใช้รถไฟฟ้าเป็นหลัก รวมถึงการสนับสนุนการจัดตั้งสถานี Charging Station ที่จะมีการให้สิทธิประโยชน์กับภาคเอกชน  รวมถึงการดูแลซากแบตเตอรี่ในอนาคตด้วย 

               อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าถือเป็น 1 ใน 2 อุตสาหกรรมหลักของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ประกอบด้วย รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ไบโออีโคโนมี เมดิคอลฮับและอุตสาหกรรมการบิน

               "ขณะนี้มีนักลงทุนทั้งจากญี่ปุ่นและเยอรมนีสนใจในธุรกิจอีวี เรื่องหุ่นยนต์ ขณะที่เมดิคอลฮับ ทางเอกชนญี่ปุ่นก็สนใจเช่นกัน ส่วนไบโออีโคโนมี มีกลุ่มปตท.เข้ามาลงทุน 

 การบินก็ใช้สนามบินอู่ตะเภา โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 5 กลุ่ม เราจะทำเป็นแพคเกจลงทุนเพื่อดึงนักลงทุนเข้ามา"คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซีเผย

               ไม่เพียงเท่านั้นยังเสนอร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาและคาดว่าจะมีผลบังคับใช้กลางปี 2560 นี้ ทั้งนี้ในวันที่ 5 เมษายน คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ก็จะลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ของโครงการด้วย  

                จึงไม่แปลกใจว่าทำไมช่วงครึ่งปีแรก 2560 รัฐบาลได้พยายามเร่งดำเนินการโครงการสำคัญๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ภาคตะวันออกให้แล้วเสร็จโดยเร็ว  ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงภาคตะวันออก เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ที่มีการปรับเส้นทางผ่านสนามบินอู่ตะเภาเพื่อให้เชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ  โครงการขยายสนามบินอู่ตะเภา โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ รวมทั้งโครงการพัฒนาเมืองใหม่ก็เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมหลักทั้ง 5 กลุ่มที่บรรดาผู้ประกอบการจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่ถือเป็นผลงานโบแดงชิ้นสำคัญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทรโอชาที่ฝากไว้ก่อนอำลาไปตามโรดแม็พ

                                                                ...........................................................

 “EV Charger” ตอบโจทย์ทุกมิติเทคโนฯ รถยนต์ไฟฟ้า 

             เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหลักจากแบตเตอรี่เพียงแหล่งเดียว จึงต้องมีการชาร์จไฟแบตเตอรี่ผ่านเครื่องชาร์จไฟ (EV Charger) ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าปกติจะมีปลั๊ก 2 ประเภท คือปลั๊ก AC Charge เพื่อชาร์จกับ Slow Charger และปลั๊ก DC Charge ไว้ใช้ชาร์จกับเครื่อง Medium Charger & Fast Charger โดยปกติการชาร์จแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ประมาณ 150 กิโลเมตร สำหรับตู้ชาร์จแบบ Medium Charger & Fast Charger มีลักษณะพิเศษที่หัวจ่ายจะต้องมีมาตรฐานที่จะ Plug in เข้ากับรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละชนิดได้ โดยทั่วโลกจะมีหัวมาตรฐานที่เชื่อมต่ออยู่ 3-4 มาตรฐาน แต่ที่นิยมจะเป็นของยุโรป (หัวแบบคอมโบ) และของญี่ปุ่น (ชาร์จเดโมะ) เพื่อรองรับรถค่ายยุโรปกับญี่ปุ่น ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องชาร์จของเอบีบีตัวหนึ่งจะมีหัวจ่ายมาตรฐาน 2-3 หัว สามารถรองรับทั้งรถญี่ปุ่นและยุโรปเช่นกัน  

     ความจริงแล้วการใช้รถ EV และ EV Charger เป็นอีกทางเลือกที่ดี แทนการใช้แก๊สหรือน้ำมันที่ก่อให้เกิดมลพิษค่อนข้างมาก ก็เปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าแทน เป็นพลังงานสะอาดช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ได้มาจากหลายแหล่ง รวมทั้งพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ หรือน้ำ เป็นการช่วยลดการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งนับวันจะมีปริมาณลดลงและมีราคาสูงขึ้น 

 เจาะความเคลื่อนไหวยานยนต์แห่งอนาคต

           ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝันอีกต่อไปสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยปัจจุบันเริ่มมีการนำมาวิ่งบนท้องถนนแล้ว เห็นได้จากผลงานการวิจัยและพัฒนาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้วิจัยรถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้าต้นแบบจนประสบความสำเร็จ ซึ่งขณะนี้ได้นำออกมาวิ่งบนท้องถนนแล้ว โดยรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 100% กับแบตเตอร์รี่ สามารถทำความเร็วได้ถึง 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถวิ่งได้นานถึง 140 กิโลเมตรหากคงระดับความเร็วที่ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและใช้เวลาชาร์จเพียง 8 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1.3 ล้าน  

            ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ไทย โดยบริษัทวีราออโตโมทีฟก็เปิดตัว “VERA V1” อย่างเป็นทางการ สมรรถนะเทียบเท่าเครื่องยนต์ 1,500 ซีซี วิ่งได้ไกลสุด 180 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้งที่ความเร็วคงที่ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 50-70 สตางค์ต่อกิโลเมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคาะราคา 9.45 แสน รับประกัน 2 ปี 5 หมื่นโล เซอร์วิสผ่านบีควิกและแอค โฟกัสลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ใช้แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LiFePO4) คุณสมบัติเด่นในเรื่องความจุที่สูง  ปลอดภัย ไหม้หรือระเบิดได้ยาก และมีความทนทานสูง อายุงานเฉลี่ยประมาณ 10 ปี  

            ส่วนค่ายเทสลา(Tesla) ผู้นำผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าระดับโลกก็ได้เวลา "เทสลา โมเดล 3" รถไฟฟ้า "คอมแพ็กต์ ซาลูน” ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แจ้งว่าหลังจากเทสลาได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว 2 โมเดล ล่าสุดได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าคอมแพ็กต์ ซาลูน รถเก๋งขนาดกะทัดรัด เหมาะกับการใช้งานทั่วไป ราคาไม่แพงมาก ถือเป็นเทสลา โมเดล 3 ที่มีข่าวมาอย่างต่อเนื่องว่าจะเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าที่สั่งจองได้ภายในปีนี้ โดยเทสลายืนยันแล้วว่าจะเริ่มผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ และส่งมอบให้ลูกค้าได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อย่างแน่นอน 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ