คอลัมนิสต์

“โหน่ง วงศ์ทนง” จาก ‘a day’ สู่ ‘The Standard’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หากเปรียบเทียบกันระหว่าง “a day” กับผู้ก่อตั้ง คือ “โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” ดูเหมือนวันนี้จะเป็นไปทิศทางตรงกันข้าม : สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ คมชัดลึกออนไลน์

 

               หากเปรียบเทียบกันระหว่าง “a day” กับผู้ก่อตั้ง คือ “โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” ดูเหมือนวันนี้จะเป็นไปทิศทางตรงกันข้าม

               ขณะที่ "ผู้ก่อตั้ง" กำลังเริ่มต้นสู่หนทางใหม่ “a day” เหมือนกับกำลังอยู่ในภาวะ “นับถอยหลัง”

               “a day” หรือ ชื่อทางการ บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด เป็นบริษัทที่เริ่มต้นมาจากการทำนิตยสาร “a day” ซึ่งชัดเจนว่าเป็นหนังสือที่ถูกใจคุณรุ่นใหม่ ขณะที่ “วงศ์ทนง” ได้ชื่อว่าเป็นไอดอลของ “เด็กแนว”

               "วงศ์ทนง" เคยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำ “a day” เมื่อ 17 ปีที่แล้ว ว่า “ผมอยากทำนิตยสารแบบที่ชอบ ทำนิตยสารที่ให้คนรุ่นใหม่อ่าน นิตยสารที่ว่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ ให้แรงบันดาลใจ ตั้งชื่อว่านิตยสาร “a day”

               แต่ปรากฏว่าพอเอาไปเสนอทุกที่กลับไม่มีใครสนใจ สุดท้าย “วงศ์ทนง” จึงใช้วิธีชวนคนอ่านที่ชอบหนังสือที่เขาเคยทำมาร่วมลงขัน

 

“โหน่ง วงศ์ทนง” จาก ‘a day’ สู่ ‘The Standard’

               “วงศ์ทนง” ประสบความสำเร็จในการทำหนังสืออย่างมาก จากบริษัทที่เกิดจากการร่วมลงขันของผู้อ่าน ขยายธุรกิจสื่อไปอีกหลายรูปแบบ ทั้งนิตยสารแจกฟรี a day BULLETIN, Hamburger , สำนักพิมพ์ a book ไปจนถึงการผลิตรายการโทรทัศน์ เช่น The Idol คนบันดาลใจ, ไทยเท่ การจัดอีเวนต์ และล่าสุดคือสื่อออนไลน์ The Momentum

               จุดพลิกผันของ “a day” เริ่มต้นเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว เมื่อบริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน)หรือPOLARจะเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทเดย์โพเอทส์ และในเดือนกุมภาพันธ์ นายวงศ์ทนง ได้ออกมาแถลงจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยกับดีลนี้ และประกาศว่า “ถ้าดีลนี้เกิดขึ้น ผมลาออกแน่นอน” และในที่สุดในวันที่ 17กุมภาพันธ์ เขาก็ประกาศลาออก

               การออกมาแสดงจุดยืนช้า ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าขายอุดมการณ์เพื่อแลกเงินนั้น ซึ่งวงศ์ทนง อธิบายทำนองว่าที่ตอนแรกไม่ได้สนใจ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องทางธุรกิจซึ่งเขาไม่ถนัด แต่ต่อมาเริ่มได้รับข้อมูลที่ทำให้ไม่สบายใจ จึงต้องออกมา

               นอกจาก “วงศ์ทนง” และ นิติพัฒน์ สุขสวย ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอีกคนที่ลาออกมาพร้อมกัน ต่อมาทีมงานของเขายังลาออกตามมาอีกจำนวนมาก ล่าสุดทีม บก. The Momentumประกาศผ่านหน้าเฟซบุ๊คยกทีมลาออก รวมไปถึงกอง บก.Hamburgerและบางส่วนของกอง บก.a day BULLETINซึ่งรวมถึง “วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม” บก.ด้วย (อ่าน "โหน่ง วงศ์ทนง" ยกทีมลุยสื่อใหม่ ) 

               ทั้งนี้เดิมพนักงานของบริษัทเดย์ โพเอทส์ จำกัด มีทั้งหมด ประมาณ 140คน ลาออกมาอยู่บริษัทใหม่ของนายวงศ์ทนงประมาณ70คน อีกประมาณ30คนลาออกไปทำอย่างอื่น เหลือพนักงานอยู่ที่เดิมประมาณ40คน โดยบริษัทใหม่ของนายวงศ์ทนง จะเปิดตัวในเดือนมิถุนายนนี้

“โหน่ง วงศ์ทนง” จาก ‘a day’ สู่ ‘The Standard’

               แน่นอนการ “ยกทีม” ลาออกส่งผลโดยตรงต่อการทำสื่อของเดย์ โพเอทส์ ในอนาคต

               ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม บริษัทโพลาริสฯ ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่ายกเลิกการซื้อหุ้นของบริษัทเดย์ โพเอทส์ จำกัด โดยมีการระบุถึงเหตุผลที่สำคัญคือ การที่บริษัทประสงค์จะเข้าไปลงทุนในบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด เพราะเชื่อมั่นในประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจของผู้ก่อตั้งและผู้บริหารหลักคือ นายวงศ์ทนง และ นายนิติพัฒน์ สุขสวย แต่ต่อมาทั้ง 2 คนนี้ได้ลาออกจากบริษัทเดย์ โพเอทส์ จำกัด

               คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่า หากนายวงศ์ทนงและนายนิติพัฒน์ ไม่ได้บริหารงานให้กับบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด แล้วอาจจะส่งผลให้บริษัทฯ ไม่ได้รับผลตอบแทนตามแผนการลงทุนที่บริษัทฯ ได้วิเคราะห์ไว้ กรรมการบริษัทจึงได้ร่วมกันตัดสินใจยกเลิกการเข้าลงทุนในบริษัท เดย์ โพเอท จำกัด (อ่าน 'POLAR' ล้มดีล!! ซื้อ 'A DAY' )

“โหน่ง วงศ์ทนง” จาก ‘a day’ สู่ ‘The Standard’

               “วงศ์ทนง” เปิดใจกับ “คมชัดลึก” (อ่าน EXCLUSIVE!! เปิดใจ “โหน่ง วงศ์ทนง”ภายหลังทราบข่าวการยกเลิกเข้าซื้อหุ้นดังกล่าว โดยเมื่อคำถามตรงๆ ว่า วันนี้ดูเหมือน “a day” กำลังจะตาย ในฐานะผู้ก่อตั้งมีความรู้สึกอย่างไร

               “ข่าวการล้มดีลซื้อหุ้น a Day พอผมได้รับรู้แล้ว... คิดว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผมตัดสินใจประกาศลาออก ผมพูดชัดแล้วว่าเหตุผลของผมคือ หนึ่งยืนยันว่าผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดีลนี้ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับดีลนี้ 2.ผมไม่เห็นด้วยกับดีลนี้ โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนของที่มาที่ไปของดีล และตอบคำถามสังคมไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมต้องยืนยันจุดยืนของตัวเองด้วยการประกาศลาออก เพราะฉะนั้นผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเดย์โพเอทส์แล้ว การที่ทาง POLAR ล้มดีลก็เป็นครรลองของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ผมไม่มีความเห็นอะไรในเรื่องนี้”

               อย่างไรก็ตาม “วงศ์ทนง” ได้เปิดเผยว่า ก่อนตัดสินใจลาออกเขาได้ขอเจรจาขอซื้อบริษัทเดย์โพเอทส์จากผู้ถือหุ้นใหญ่ “แต่ด้วยจำนวนตัวเลขที่เขาเสนอสูงจนผมไม่สามารถซื้อบริษัทคืนได้ เพราะฉะนั้นผมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากออกมาตัวเปล่า”

“โหน่ง วงศ์ทนง” จาก ‘a day’ สู่ ‘The Standard’

               “วงศ์ทนง” บอกว่า สิ่งที่เขาพอทำได้คือ พาพนักงานส่วนหนึ่งออกมาทำงานด้วยกันในบริษัทใหม่ที่กำลังจะตั้งขึ้น แต่จากจำนวนคนในเดย์โพเอทส์ ที่มีอยู่ประมาณ 140 คน ขณะที่บริษัทใหม่สามารถรองรับพนักงานได้ประมาณครึ่งหนึ่งคือ 70 คน พนักงานที่เหลือส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจลาออกไปทำงานตามที่สนใจ และอีกส่วนตัดสินใจอยู่ทำงานต่อในเดย์โพเอทส์

               "ส่วนหนึ่งรู้สึกสบายใจว่าแม้เขาจะลาออกจากบริษัทแต่ในส่วนพนักงานไม่มีใครตกงานแม้แต่คนเดียว ทุกคนได้ทำตามเส้นทางที่เลือก แต่เข้าใจว่าสิ่งที่ มีคนเรียกว่า “วงศ์ทนงเอฟเฟค” (Wongthanong Effect) ก็ส่งผลกระทบกับคนทำงาน a Day, a Day Bulletin รวมไปถึงสื่อในเครือ"

               “วงศ์ทนง” ยอมรับว่า จริงๆก็ไม่สบายใจนัก โดยเฉพาะกังวลเรื่องน้องๆพนักงานที่ยังอยู่ที่เดย์ โพเอทส์ จึงกำลังคิดอยู่ว่าถ้าช่วยเหลือสนับสนุนอะไรได้ก็จะทำ และยังมีความหวังลึกๆว่า ผู้อ่าน แฟนๆ ที่ติดตาม a Day, a Day Bulletin และสื่อในเครือ ยังคงจะให้การสนับสนุนสื่อดีๆเหล่านี้อยู่

               สุดท้าย “วงศ์ทนง” เปิดเผยถึงชื่อแบรนด์ใหม่ของเขาว่า ชื่อ “The Standard" 

               "เรามีคอนเซปท์ "วันแบรนด์ วันสแตนดาร์ด" (One brand, One standard) ที่มาของชื่อนี้มาจากสถานการณ์ และการตัดสินใจของผมในการลาออกจากบริษัทคือการสร้างมาตรฐานจริยธรรมของคนทำงาน และเป็นโอกาสดีที่ผมจะมาตั้งบริษัทผลิตสื่อที่เรามุ่งหวังจะสร้างมาตรฐานใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนทำงาน จนกระทั่งมาตรฐานในแง่คุณภาพของผลงาน" (อ่าน ชื่อใหม่ "วงศ์ทนง" "โหน่ง THE STANDARD")

              นี่คืออนาคตที่ดูเหมือนจะสวนทางกัน ของ “a day” และ “วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” 

“โหน่ง วงศ์ทนง” จาก ‘a day’ สู่ ‘The Standard’

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ