คอลัมนิสต์

กฎหมายเกษตรพันธสัญญา ปลดล็อก สัญญาทาส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่ผ่านมา เกษตรพันธสัญญา ในไทยทำกันอย่างเสรีปราศจากการควบคุมที่ดีพอ ทำให้ถูกเปรียบเป็นสัญญาทาสที่เกษตรกรต้องทำตาม มาวันนี้มี สนช. ผ่านกฎหมายฉบับใหม่มาควบคุมแล้ว

ย้อยรอยกลับไปหลายสิบปี กฎหมายส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา  หรือ “คอนแทรคท์ฟาร์มมิ่ง”(contract farming) ถูกพับเก็บ แม้จะมีความพยายามจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่จะออกกฎหมายดังกล่าวแต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะถูกนายทุนใหญ่ในวงการเกษตรคัดค้านมาโดยตลอด 

 

ขณะที่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการทำเกษตรพันธ์สัญญาหลายรายต้องสิ้นเนื้อประดาตัว เป็นหนี้สิน บางรายก็ล้มละลาย ทำให้เกิดคำว่า “สัญญาทาส” จนกระทั่งช่วงเดือนพ.ย. 2558 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชานจัดทำ“ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการคุ้มครองเกษตรพันธสัญญา” และนำไปเสนอประธาน สนช.  และล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2560 สนช.ได้เห็นชอบผ่านพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. ...ประกาศบังคับใช้เป็นกฏหมายต่อไป ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปวงการเกษตรกรรมของไทยในยุคนี้

 

การทำเกษตรพันธสัญญาคือ ระบบการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืช ที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกร หรือเจ้าของฟาร์ม กับคู่สัญญา คือ “ผู้รับประกัน” ซึ่งมักเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น เรียกว่า “ราคาประกัน” ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญา

กฎหมายเกษตรพันธสัญญา ปลดล็อก สัญญาทาส

ระบบนี้จะมีข้อดีคือ เกษตรกรมีผลผลิตขายแน่นอน สามารถนำวัตถุดิบป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อย่างสม่ำเสมอ และเป็นการ ประกันรายได้ ประกันราคาสินค้าล่วงหน้า ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีรายละเอียดไม่เหมือนกัน เกษตรกรได้รับความรู้ ทั้งด้านวิชาการ การออกแบบแปลนฟาร์มมาตรฐาน และเทคนิคในการปรับลดต้นทุนในการผลิต พร้อมจัดหาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตต่างๆ อาจรวมไปถึงการสนับสนุนสินเชื่อทางการเงิน ผลผลิตได้มาตรฐานเดียวกับที่ทางบริษัทกำหนด และตรงตามความต้องการของตลาด

 

ส่วนข้อเสียคือ ภาคเอกชนมักจะทำสัญญาในรูปแบบสัญญาเชิงเอาเปรียบเกษตรกร ในเรื่องของผลตอบแทน ความเสี่ยง และความเป็นธรรม เงินลงทุนต่อฟาร์มค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่จะเกิดขึ้น ทำ ขณะที่แหล่งเงินทุนของเกษตรกร มาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ดังนั้น หากบริษัทยกเลิกพันธสัญญากับเกษตรกรในระยะสั้นหรือไม่วางแผนการผลิตให้ เกษตรกรอาจล้มละลายได้ เกษตรกรมีความเสี่ยงสูง และเสี่ยงสูงขึ้นเมื่อได้รับผลกระทบทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง หรือหวัดนก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในการสูญเสียผลผลิตมากขึ้น เมื่อรวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน เช่น ค่าไฟ ค่าปุ๋ย ค่ายา ฯลฯ การที่สัญญาไม่ได้คำนวณรายได้ค่าตอบแทนจากการผลิตที่เป็นขั้นบันไดเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน ทำให้เกษตรกรไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะถึงจุดคุ้มทุน และมีกำไรจากการลงทุนเมื่อไร จึงทำให้เกิดความเสียเปรียบ

 

พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา มองว่าปัจจุบันมีการนำระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้ในกระบวนการผลิต ผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้ระดมความเห็นจากเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรแล้ว ซึ่งเมื่อประกาศบังคับใช้ก็จะมีประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย และเป็นธรรมตามหลักสากลที่จะช่วยสร้างความร่วมมือและพัฒนาศักยภาพในผลิต ผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านรายได้

 

“เกษตรกรจะได้รับทราบรายละเอียดของสัญญาในเบื้องต้นจากเอกสารสำหรับการชี้ชวนการทำสัญญา เพื่อได้รับทราบข้อมูลมีการเตรียมความพร้อมความเข้าใจก่อนทำสัญญา รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ได้รับทราบรายละเอียดสัญญาของคู่สัญญาเพื่อความเป็นธรรมของทั้งสองฝ่าย หากมีข้อขัดแย้งตามร่างกฎหมายจะมีคณะกรรมการไกล่เกลี่ยทั้งระดับอำเภอและจังหวัดเข้ามาไกล่เกลี่ยหากไม่ได้ข้อยุติจึงจะไปสู่การพิจารณาของศาล ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งทางธุรกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้าเสรีได้ “ พล.อ.สิงห์ศึก กล่าว

 

สำหรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ 1.กำหนดคำนิยาม “ระบบเกษตรพันธสัญญา” หมายถึงเฉพาะระบบการผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากสัญญาการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรประเภทเดียวกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรฝ่ายหนึ่งกับบุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม ตั้งแต่สิบ 10 รายขึ้นไป หรือกับองค์กรทางการเกษตรที่มีกฎหมายรองรับ

 

2.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และให้จัดตั้ง“คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา” มี รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดรูปแบบสัญญากลาง และตรวจสอบสัญญา พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาขึ้น มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาต่อครม. กำหนดรูปแบบของสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาและออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ

 

3.ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาหรือเลิกการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาต้องจดแจ้งการประกอบธุรกิจหรือการเลิกประกอบธุรกิจต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเปิดเผยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

 

4. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรต้องทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนให้เกษตรกรทราบเป็นการล่วงหน้าก่อนทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา และ ต้องเปิดเผยเอกสารสัญญา รวมถึงข้อตกลง เงื่อนไข รายละเอียดต่าง ๆ หากเงื่อนไขในสัญญาเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็น ธรรมตามที่กำหนด ให้ถือว่าไม่มีผลใช้บังคับ

 

5. กำหนดให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนจึงจะมีสิทธินำข้อพิพาทเข้าเป็นคดีในศาล โดยห้ามมิให้คู่สัญญาชะลอ ระงับ หรือยุติการปฏิบัติตามสัญญาจนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย กระทำการใด ๆ ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายได้รับความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม ในกรณีที่สัญญาสิ้นสุดลงแล้ว หรือทำข้อตกลงเพิ่มเติมหรือแก้ไขสัญญาเพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับความเสี่ยงภัย รับภาระ หรือมีหน้าที่เพิ่มเติมโดยไม่มีค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม

 

6 . กำหนดโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท สำหรับผู้ “ทำผิดขั้นตอน” หรือ “ทำผิดสัญญา”และมีโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน รวมทั้งในกรณีที่ผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญาใดก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพประชาชน อันเนื่องมาจากการใช้ปัจจัยการผลิตหรือกระบวนการผลิต ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกำหนด ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าผลกระทบนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็นการกระทำของเกษตรกรที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน

 

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ  ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. แสดงความเห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการคุ้มครองระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. ....เป็นกฎหมาย เพื่อส่งเสริมคุ้มครองสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร แม้ว่า เกษตรกรในระบบพันธสัญญาจะสร้างรายได้ และเอื้อประโยชน์หลายประการ แต่จากปัญหาที่สัมผัสได้จริงกับสิ่งที่เกษตรกรถูกกระทำ คือข้อตกลงหรือเงื่อนไขระหว่างบริษัทกับเกษตรกรที่มีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูปกำหนดเงื่อนไขเพียงฝ่ายเดียว เกษตรกรมีสิทธิเพียงจะยอมรับและทำสัญญาหรือไม่เท่านั้น เกษตรกรในระบบพันธสัญญาจึงมีปัญหาความไม่เป็นธรรม เกิดความได้เปรียบกับความเสียเปรียบระหว่างบริษัทกับเกษตรกร แต่เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้จะให้ความคุ้มครอง ดูแลให้เกิดความเป็นธรรม ระหว่างผู้ประกอบการ และเกษตกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสัญญาต้องมีการเปิดเผย มีเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นคนกลางมาช่วยดูแล ขณะที่เมื่อเกิดปัญหาระหว่างบริษัทเอกชน และเกษตรกร ก่อนที่นำปัญหาขึ้นสู่ศาล ก็จะมีมาตราไกล่เกลี่ย โดยมีคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำจังหวัด โดยให้คู่สัญญาเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งตรงนี้ถือว่ามีความก้าวหน้า

 

อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้ก็ยังมีจุดอ่อนในบางประเด็น เช่น เกษตรกรที่ไม่ได้จดทะเทียนเป็นนิติบุคคลกฎหมายก็ไม่ครอบคลุม อีกทั้งยังมีการใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ต้องการ เพราะที่ผ่านมาปัญหาความขัดแย้งเมื่อสู่ระบบอนุญาโตตุลการฝ่ายเกษตรกรจะเสียเปรียบหรือแพ้ แต่ภาพรวมกฎหมายฉบับนี้ถือว่ามีความก้าวหน้ามาก เกษตรกรจะได้การคุ้มครองมากขึ้น เชื่อว่าระยะยาวจะดีขึ้นกว่านี้

 

กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นอีกผลงานหนึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ออกมาบังคับใช้ได้ ซึ่งต้องจับตาต่อไปว่า กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลทำให้เกษตรกรไทยลืมตาอ้าปาก มีอำนาจต่อรองกับนายทุนได้มากน้อยแค่ไหน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ