คอลัมนิสต์

ไขปม:คาดเบลท์-เบี้ยวใบสั่งต่อภาษีไม่ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คำสั่ง หน.คสช.ที่ใช้ ม.44 กำหนด ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง-เบี้ยวใบสั่งต่อภาษีไม่ได้ กำลังเป็นที่วิจารณ์ว่า จะสร้างปัญหาให้ประชาชนหรือไม่

   

          กรณีที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับ การที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกใบสั่งเพราะถูกกล่าวหาว่าทำผิด พ.ร.บ.จราจร ข้อหาใดข้อหาหนึ่ง แล้วไม่จ่ายค่าปรับตามใบสั่งของตำรวจจราจร จะไม่สามารถได้รับ 'เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี' จากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งใช้ติดหน้ารถหรือบริเวณตัวรถ และอีกประเด็นคือ การกำหนดให้รถยนต์ต้องมีเข็มขัดนิรภัย(เบลท์ )ครบทุกที่นั่ง  ซึ่งเป็นวิจารณ์อย่างมากอยู่ในขณะนี้นั้น

         ไขปม:คาดเบลท์-เบี้ยวใบสั่งต่อภาษีไม่ได้

          จากการสอบถามจากนายกมล บูรณพงศ์  รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก  ได้ความว่า ในกรณีที่เจ้าของรถที่ถูกใบสั่งจากตำรวจจราจร มาติดต่อขอชำระภาษีประจำปีกับกรมการขนส่งทางบก หากไม่ยอมจ่ายค่าปรับตามใบสั่งก็สามารถทำข้อโต้แย้งต่อเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกได้ และเจ้าของรถสามารถชำระภาษีประจำปีได้ เพียงแต่ว่า ยังไม่ได้ ' เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี'  โดยกรมการขนส่งทางบก จะออก'หลักฐานชั่วคราว'แทนการออกเครื่องหมายแสดงการเสียประจำปี ซึ่งใช้ติดหน้ารถได้ โดย'หลักฐานชั่วคราว' มีอายุใช้ได้ 30 วัน โดยในช่วงเวลา 30 วัน เจ้าของรถก็ต้องจ่ายค่าปรับตามใบสั่งต่อเจ้าพนักงาน แล้วนำหลักฐานการจ่ายค่าปรับมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก เจ้าหน้าที่ก็จะออก 'เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี' ให้    

       ' แต่ถ้าพ้น 30 วันไปแล้วเจ้าของรถ ไม่ยอมเสียค่าปรับตามใบสั่ง ก็ไม่มีสิทธิได้ 'เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี'จากกรมการขนส่งทางบก หรืออีกนัยหนึ่งจนกว่าจะมีการชำระค่าปรับหรือถูกปรับหรือศาลยกฟ้องในคดีที่ถูกใบสั่ง ทั้งนี้อายุความตามใบสั่งมีอายุความ 1 ปี เท่านั้น ดังนั้นเมื่อครบ 1ปี  ก็สามารถได้รับ' เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี' เมื่อมาชำระภาษีประจำปีตามปกติ  แต่คุณจะยอมเสี่ยงกับการใช้รถที่ไม่มี 'เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี' ตลอด 1 ปี หรือไม่ เพราะข้อหาไม่แสดงเครื่องหมายการเสียภาษี ต่อเจ้าพนักงาน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000บาท แล้วใน 1 ปี คุณอาจจะโดนปรับหลายครั้ง '

      ส่วนประเด็นที่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งนั้น รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก บอกว่า ใช้บังคับกับรถยนต์ส่วนบุคคลที่จดทะเบียนตั้งแต่ปี  2554 เป็นต้นไปต้องมีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลที่จดทะเบียนตั้งแต่ปี 2531-2553 บังคับเฉพาะที่นั่งส่วนหน้า แต่รถกระบะที่มีแค็ป ในส่วนของแค็ปถือว่าเป็นที่วางของสัมภาระไม่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย คือ มีเข็มขัดนิรภัยเฉพาะที่นั่งด้านหน้า ส่วนรถโดยสารที่วิ่งระหว่างจังหวัด(ที่ไม่ใช่รถตู้) ซึ่งจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2557 ต้องมีเข็ดขัดนิรภัยทุกที่นั่ง,ส่วนรถตู้ที่จดทะเบียนตั้งแต่ 1 เมษายน 2555ต้องมีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งไม่ว่าจะวิ่งในจังหวัดหรือข้ามจังหวัด, รถบรรทุก มีเข็มขัดนิรภัยเฉพาะที่นั่งด้านหน้า ,รถเมล์ที่วิ่งใน กทม. ไม่ต้องมีเข็ดขัดนิรภัยยกเว้นคนขับต้องรัดเข็มขัด ,รถสองแถว ก็ไม่ต้องมีเข็มขัดนิรภัย  ,ส่วนรถเท็กซี่ ที่จดทะเบียน ตั้งแต่ปี 2554 ต้องมีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง

        ไขปม:คาดเบลท์-เบี้ยวใบสั่งต่อภาษีไม่ได้

     แต่สำหรับ นายเจษฎา อนุจารี  ทนายความผู้คร่ำหวอด กลับมองว่า ประกาศของหัวหน้าคสช. ฉบับนี้ ออกมาเพียงเพื่อบังคับให้มาจ่ายค่าปรับตามใบสั่ง เพราะถ้าไม่จ่ายค่าปรับ ก็จะไม่ได้ เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี ทั้งที่วิธีการแบบเดิมหากไม่ยอมจ่ายค่าปรับตามใบสั่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถออกหมายเรียกให้มาจ่ายค่าปรับได้อยู่แล้ว หากไม่มาตามหมายเรียกมีโทษทางอาญา และถ้าในที่สุดไม่ยอมจ่ายค่าปรับ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำสำนวนส่งฟ้องศาลสั่งให้จ่ายค่าปรับได้ 

      ' วิธีการแบบเดิม สามารถลงโทษปรับผู้กระทำผิดได้ตรงตัว โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ขับขี่กับเจ้าของรถยนต์เป็นคนละคนกัน  ผู้ขับขี่ ทำผิดก็ลงโทษปรับผู้ขับขี่ เจ้าของรถทำผิดก็ปรับเจ้าของรถยนต์  แต่ตามประกาศที่ใช้ ม.44 ฉบับนี้ กรณีที่ผู้ขับขี่ เป็นคนทำผิด เช่น ไม่ได้ให้คนโดยสารในรถรัดเข็มขัด  เจ้าของรถยนต์ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยไม่ได้ร่วมทำผิด แต่เจ้าของรถยนต์ต้องเดือดร้อน ไม่สามารถได้เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีมาติดหน้ารถยนต์หากไม่ยอมจ่ายค่าปรับ และทำให้ไม่สามารถใช้รถยนต์ขับไปไหนมาไหนได้เป็นปี ทั้งที่ซื้อรถยนต์มาเป็นแสน' 

   เจษฎา ยังตั้งข้อสังเกตว่า ตามประกาศหัวหน้า คสช.  ผู้ขับขี่รถยนต์ ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยและต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์รัดร่างกายไว้กับที่นั่ง   ดังนั้นเมื่อใช้คำว่า 'รถยนต์' ก็ต้องมาดูนิยามตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ซึ่งให้คำนิยามว่า รถยนต์  หมายรถที่มี 3 ล้อขึ้นไป และมีเครื่องยนต์  ดังนั้น ไม่ว่า รถบรรทุก ,รถสองแถว ,รถเมล์ ,รถสามล้อ ก็ต้องมีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งทั้งสิ้น ดังนั้นการที่มีการไปแบ่งประเภทว่า รถประเภทไหนต้องมีเข็มขัดนิรภัยหรือไม่มี เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ 

       อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ประกาศของหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ ไม่ได้เข้าข่าย 'ย้อนหลังเป็นโทษ' ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรมแต่อย่างใด เพราะบังคับกับ 'คน'ว่า ผู้ขับรถยนต์ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยและจัดให้คนโดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัยด้วย ดังนั้น รถยนต์ที่ไม่มีผู้โดยสารนั่งมาด้านหลังรถ ไม่มีเข็มขัดนิรภัยก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีคนนั่งมาในส่วนด้านหลังรถต้องรัดเข็มขัดด้วยเท่านั้น  แต่ถ้าประกาศฉบับนี้ เขียนบังคับกับ 'รถยนต์'ว่าต้องมีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง อย่างนี้ถึงจะย้อนหลังเป็นโทษซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรม    

 

 

  

          

 

                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                        

 

 

 

 

 

 

         

 

 

 สส                    

                                                                                                                                                                      

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ