คอลัมนิสต์

เด็ดขาด“วินัยจราจร”เดี๋ยวก็รู้พี่ไทย“ดื้อยา”หรือเปล่า     

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ประเด็นใหญ่วันนี้คือเรื่องการไม่จ่ายค่าปรับ แล้วให้ทางขนส่งงดการต่อภาษีประจำปี เนื้อหาหลักๆ ในประเด็นนี้เป็นการเน้นย้ำให้ตำรวจมีอำนาจมากขึ้น "

     เมื่อเทศกาลงานบุญของคนไทย ยิ่งนานวันก็ดูเหมือนกำลังกลายเป็น “มหกรรมนับศพ” เข้าไปทุกที ด้วยสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เก็บได้ในแต่ละคราวล้วนส่อไปในทางที่ว่ารณรงค์กันมากเท่าไร จำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายจากอุบัติเหตุกลับเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว 

     คนที่ออกปากขอร้องให้ยึดกฎจราจร ลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความสูญเสีย จึงเหมือนบอกไปแล้ว “ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ” 

     ยาสามัญประจำบ้าน ของรัฐบาลนายกฯ ลุงตู่ ที่มีฉลากข้างขวดเขียนไว้ว่า “มาตรา 44” จึงถูกนำมาใช้รักษาอาการเรื้อรัง อย่างน้อยที่สุดผู้ให้ยาย่อมหวังเอาไว้ว่าสงกรานต์ปีนี้ที่กำลังจะมาถึงคนเจ็บ คนตาย น่าจะต้องลดลง

     ส่วนผลลัพธ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น เรื่องนี้ต้องดูกันยาวๆ เพราะมาตรการที่ออกมาใช่ว่าจะมีคนเห็นด้วย และก็ใช่ว่าจะไม่มีคนแข็งขืน ดื้อแพ่ง

    เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 14/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ณ วันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2560) อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557  ให้มีการปรับปรุงและแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2538 ในหลายมาตรา สรุปสาระสำคัญประมาณนี้ 

         “ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะขับขี่รถยนต์ และต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์รัดร่างกายไว้กับที่นั่งด้วยเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสารรถยนต์ และคนโดยสารรถยนต์ดังกล่าวต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะโดยสารรถยนต์ด้วย” 

          เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างมากและสร้างความหวั่นวิตกในหมู่ “ชาวบ้านตาดำๆ” ตาสีตาสี ชาวนาชาวไร่ กระทั่งพ่อค้าแม่ขายแบบ “หาเช้ากินค่ำ” ที่ส่วนใหญ่ใช้รถยนต์รุ่นเก่า..ถึงเก่ามา เป็นพาหนะในการประกอบอาชีพ แน่นอนว่ายานยนต์ของพวกเขาเหล่านั้นย่อมไม่มีอุปกรณ์ไม่มีเข็ดขัดนิรภัยด้านเบาะหลัง

     หนำซ้ำหรือบางครั้งยังบรรทุกผู้โดยสารเกินกำหนด เพราะมี “ความจำเป็น” ในการทำงาน และความจำเป็นนี้ก็มีมากพอๆ กับที่ต้องใช้ถนนสายหลัก จึงโจษขานกันว่า ยิ่งรัฐบาลให้ยาแรงเท่าไรก็เท่ากับถ่างช่องว่างอ้าซ่า ให้พี่หมวด พี่จ่า น้าดาบ บางคน เห็นหนทางหาเศษหาเลยเข้ากระเป๋าตัวเอง

        “ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพหาเช้ากินค่ำ เกษตรกรชาวไร่ชาวนา กลุ่มคนพวกนี้มีแต่รถกระบะเก่าๆ ที่ใช้ในการทำงาน น้อยมากจะมีเข็มขัดนิรภัยเบาะหลัง หรือบางครั้งก็นั่งแออัดกันมาหลายคน  แต่เขาจำเป็นต้องใช้เส้นทางหลักในการเดินทาง ถามว่าจะให้เขาทำยังไง ยิ่งต่างจังหวัดมีด่านตำรวจอยู่เกือบทุกหัวมุนถนน เจอไปวันละด่านสองด่าน โดนปรับด่าน 500 แค่นี้ชาวบ้านก็ตายแล้วถือเป็นการซ้ำเติมพี่น้องเกษตรกร ขอฝากรัฐบาลในประเด็นนี้ด้วย”

          วโรชา จันทโชติ ปราชญ์ชาวบ้านและเกษตรกร ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ให้มุมมองกฎหมายจราจรฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่ตามคำสั่งมาตรา 44 คสช.ในบางมาตรา โดยเห็นด้วยอย่างยิ่งหากมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำผิดกฎจราจรซ้ำซาก   

         ขณะที่ รณณรงค์ แก้วเพ็ชร เจ้าของสำนักงานทนายความและเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “ทนายคู่ใจ” มองถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากคำสั่งของคสช.ที่ 14/2560 ฉบับนี้ โดยแจงรายละเอียดออกมาเป็นข้อๆ  โดยเฉพาะประเด็นการรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะโดยสารรถยนต์ ซึ่งเมื่อก่อนการรัดเข็มขัดมีกฎหมายระบุไว้เฉพาะคนนั่งหน้ากับคนขับปัจจุบัน แต่ฉบับแก้ไขนี้จะกำหนดให้คนนั่งเบาะหลังก็ต้องรัดเข็มขัดเช่นกัน ถ้าไม่รัดเข็มขัดทั้งเบาะหน้าและเบาะหลังมีความผิด ปรับ 500 ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 148  นั่นก็คือรถยนต์เก่าที่ไม่มีเข็มขัดเบาะหลัง เจ้าของจำเป็นต้องไปหามาติดตั้ง ถ้าไม่ติดทุกครั้งที่โดนด่านตรวจเรียกก็ต้องจ่ายค่าปรับ เพราะไม่คาดเข็มขัดคนนั่งเบาะหลัง 

        “ประเด็นใหญ่วันนี้คือเรื่องการไม่จ่ายค่าปรับ แล้วให้ทางขนส่งงดการต่อภาษีประจำปี เนื้อหาหลักๆ ในประเด็นนี้เป็นการเน้นย้ำให้ตำรวจมีอำนาจมากขึ้น อย่างกรณีส่งหนังสือแจ้งชำระค่าปรับภายใน 15 วัน หากพ้นกำหนด 15 วัน ถือว่าเจ้าของรถรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว กรณีไม่ชำระค่าปรับตำรวจก็จะส่งเรื่องไปขนส่งให้นายทะเบียนตรวจสอบข้อมูลและแจ้งให้ผู้มาติดต่อขอชําระภาษีประจําปีสําหรับรถคันนั้นทราบ เพื่อไปชําระค่าปรับที่ค้างชําระภายใน 30 วัน นำหลักฐานมายื่นขอเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปีสําหรับรถคันนั้นจากขนส่งต่อไป”

       เจ้าของเพจ “ทนายคู่ใจ” ย้ำด้วยว่าแม้ขนส่งจะรับชำระค่าปรับจราจร โดยไม่จำเป็นต้องตามไปจ่ายที่โรงพักอีกต่อไป  บางกรณีที่ตำรวจยึดใบขับขี่ไว้แต่ผู้กระทำผิดโต้แย้งก็ให้โอกาสทำหนังสือชี้แจงว่าภายใน 15 วันก่อนที่ตำรวจพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีในชั้นศาลต่อไป ซึ่งตรงนี้เองที่มีการแอบซ่อนเนื้อหาให้ตำรวจยึดใบขับขี่เพื่อบังคับให้จ่ายค่าปรับแทนการถูกสั่งฟ้องศาล  

        “เรื่องรีดไถถ้าตำรวจนอกแถวมันจะไถมันก็ไถ ถึงกฎหมายจะดีแค่ไหน แต่กฎหมายที่ดีไม่ควรเปิดช่องว่างให้เจ้าพนักงานของรัฐทุจริต เมื่อก่อนพอเราท้วงติงเรื่องยึดใบขับขี่เขาก็อ้างว่าเพื่อให้ประชาชนมาชำระค่าปรับ ตอนนี้กฎหมายแก้แล้ว ให้ชำระค่าปรับที่ขนส่งได้ ถ้าไม่จ่ายงดต่อภาษี แล้วทำไมต้องให้ตำรวจยึดใบขับขี่ด้วย ใครไม่จ่ายค่าปรับยังไงก็ต้องไปจ่ายที่ขนส่งอยู่ดี” ทนายคนเดินกล่าวย้ำ

         ด้าน พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธุ์ ผู้ช่วยผบ.ตร.ดูแลงานด้านจราจร แถลงถึงกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 โดยระบุว่ามีสาระสำคัญทั้งหมด 3 เรื่อง ประกอบไปด้วย การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการยกรถที่กีดขวางการจราจร หรือกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าพนักงานสามารถยกรถไปเก็บรักษาไว้ได้ทันทีและให้ผู้ที่ถูกยกรถรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 

        ประเด็นถัดมาคือ การบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยของทุกที่นั่ง เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน และเป็นไปตามมาตรฐานสากล และประเด็นสุดท้าย หากผู้ใดที่ไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งที่เจ้าหน้าที่ออกให้หลังวันที่ 21 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป เจ้าพนักงานจะไม่ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีให้ ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้เจ้าของรถสามารถชำระค่าปรับได้ที่นายทะเบียน หรือสามารถกลับไปจ่ายกับพนักงานสอบสวนได้ภายใน 30 วัน แต่หากเจ้าของรถยืนยันว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดตามใบสั่ง สามารถทำหนังสือโต้แย้งชี้แจงภายใน 15 วัน หลังไปแจ้งต่อนายทะเบียนแล้ว 

        ส่วนการบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยของทุกที่นั่ง สิ่งไหนที่ทำได้ก่อนก็สามารถดำเนินการไปก่อน อย่างเช่นกรณีรถตู้โดยสารที่มีที่คาดเข็มขัดนิรภัยอยู่แล้วก็ต้องดำเนินการทีทัน หลังจากมีคำสั่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ส่วนกรณีรถสองแถว หรือรถโดยประจำทางหรือรถปิกอัพที่แค็บหลังไม่มีที่คาดเข็มขัดนิรภัยก็ให้เป็นอำนาจของกรมขนส่งทางบกไปดำเนินการว่าจะทำอย่างไร ซึ่งมาตรการเหล่านี้เชื่อว่าใช้เป็นเครื่องมือในการลดอุบัติเหตุช่วงเทศสงกรานต์ในปีนี้ด้วย 

     ก็อย่างที่กล่าวมา ระยะสั้นต้องดูที่ตัวเลขสถิติที่จะปรากฏในอีกไม่เกิน 1 เดือนข้างหน้านี้ ส่วนระยะยาวจะเป็นอย่างไรนั้น ตัวเลขที่ออกมาจะบ่งบอกได้ว่า “ความเด็ดขาด” กับ “ระเบียบวินัย” ของคนไทยนั้น มันใช่งูกับเชือกกล้วยจริงหรือไม่

      ลองกันไปก่อน หลังสงกรานต์ค่อยมาว่ากันอีกที ก็น่าจะได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ