คอลัมนิสต์

ชงภาษีสรรพสามิตใหม่..เปิดทางรัฐเก็บภาษีอื้อ!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

งานนี้ไม่เพียงแค่สิงห์อมควันที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาบุหรี่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพวกคอทองแดง ทั้งขาเหล้า เบียร์ และไวน์

     งานนี้ต้องขอบอกว่าสาวกสินค้าภาษีีบาปแดนดินถิ่นสยามแห่งนี้ต้องพบกับความกระอักกระอ่วนใจเป็นแน่ หลังราชกิจจานุเบกษาออกประกาศพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ขึ้นภาษีสินค้าโดยอ้างความเหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน และเป็นการสนับสนุนนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบของรัฐ

     อย่างไรก็ดี หลังกฎหมายประกาศและมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพามิต และเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และมีความเป็นสากลมากขึ้น จึงต้องมีการออกกฎหมายลูก 80 ฉบับมารองรับ รวมถึงอัตราการจัดเก็บภาษีจริง เนื่องจากกฎหมายเป็นกำหนดเพดานจัดเก็บ ซึ่งมีอัตราสูง เพราะบังคับใช้ในอนาคต 20 ปีข้างหน้า

     หลายฝ่ายได้แสดงความเป็นห่วงว่าหลังกฎหมายลงราชกิจจาฯ แล้วจะมีการนำเพดานภาษีไปคูณราคาขายปลีกและนำไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์ จนทำให้เกิดความสับสนเข้าใจกฎหมายแบบผิดๆ หรือมีการกักตุนสินค้ารับราคาใหม่

     ทั้งนี้ สมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ย้ำว่า อัตราการจัดเก็บแท้จริงคงต้องมาดูในรายละเอียดอีกครั้งว่าควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ต้องอยู่ภายใต้มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่กำหนดว่าการกำหนดอัตราภาษีใน พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่ จะต้องไม่สร้างภาระภาษีเพิ่มขึ้นให้แก่ประชาชน

     นอกจากนี้ จะเร่งประชุมชี้แจงกับภาคเอกชน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รวมถึงหอการค้าต่างประเทศในไทย และจะพิมพ์ พ.ร.บ.แจก ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมคำอธิบายเกี่ยวกับภาษีให้เอกชนและผู้สนใจนำไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน


      สำหรับเพดานอัตราภาษีสรรพาสามิตฉบับใหม่ มีสาระสำคัญ เช่น เพิ่มเติมบทนิยามที่สำคัญ เช่น คำว่า “ราคาขายปลีกแนะนำ” “ผลิต” “สุรา” “ยาสูบ” และ "ไพ่”, ปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีจาก จัดเก็บในอัตราตามมูลค่าหรือตามปริมาณ แล้วแต่อัตราใดจะคิดเป็นเงินสูงกว่า เป็น จัดเก็บทั้งตามมูลค่าและตามปริมาณ แต่เมื่อรวมทั้งสองส่วนแล้วจะต้องไม่เกินกว่าที่เคยจัดเก็บด้วยวิธีเดิม คือการจัดเก็บตามมูลค่า หรือปริมาณ โดยส่วนใดสูงกว่าก็เลือกจากส่วนนั้น

      ในส่วนของ อัตราภาษียาสูบ เพดานจัดเก็บอยู่ที่หน่วยละ 5 บาทต่อปริมาณหนึ่งมวน ถ้ามองย้อนกลับไปจาก พ.ศ.2536-2559 หนึ่งในภาษีบาปในส่วนของบุหรี่ได้มีการปรับขึ้นมาแล้วถึง 11 ครั้ง โดยการขึ้นภาษีในช่วงปี 2536-2549 ทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง 4 ล้านคน 60% ของการลดลงเป็นผลจากการขึ้นภาษีบุหรี่ 

     แต่กระนั้นจากการขึ้นภาษีแต่ละครั้งพบว่าอัตราการสูบบุหรี่ลดลง เช่น คนที่เคยสูบวันละซอง ก็จะกลายเป็นสูบไม่กี่มวนแทน หรือในบางรายก็หักดิบเลิกไปเลยด้วยซ้ำ ส่วนข้อกังวลว่าผู้สูบจะไม่ลดลงเนื่องจากจะหันไปซื้อในรูปแบบการแบ่งขายนั้น อย่าลืมว่าอัตราของราคาที่ขายในแต่ละมวนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงไม่ใช่ทางเลือกของนักสูบ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดทุกครั้งที่มีการขึ้นภาษีนั่นคือ คนที่เคยสูบยี่ห้อแพง ก็จะเปลี่ยนมาสูบยี่ห้อที่ถูกลงแทน

    งานนี้ไม่เพียงแค่สิงห์อมควันที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาบุหรี่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพวกคอทองแดง ทั้งขาเหล้า เบียร์ และไวน์ ก็เจอบวกหน่วยละ 3,000 บาทต่อปริมาณหนึ่งลิตร

     คำว่า หน่วยละ 3,000 บาทต่อลิตร ไม่ได้หมายความจะขึ้น 3,000 บาท หากแต่เป็นตัวเลขตามสูตรการคำนวณภาษีของกรมสรรพสามิต ซึ่งคำเต็มๆ มีว่า “3,000 บาทต่อหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์” ซึ่งเป็นตัวเลขหนึ่งที่จะนำไปใช้คูณออกมาเป็นราคา 

    โดยมีค่าที่จะนำไปคำนวณค่อนข้างซับซ้อน คอสุรา ถ้าเจอสูตรเข้าไปเชื่อได้ว่า มีหวังเมาพับกันเป็นแถว

     เช่น ภาษีสุราแช่ชนิดเบียร์ 0.625 ลิตร 5 ดีกรี ราคาขายส่งช่วงสุดท้าย 38 บาท เมื่อเอาไปเข้าสูตรของกรมสรรพสามิตแล้ว จะได้อัตราภาษีออกมา 23.24 บาท นอกจากนี้ ขนาดของดีกรีที่เพิ่มขึ้น จำนวนภาษีก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

     จากข้อมูลของกรมสรรพสามิต ตัวเลข “ภาษีตามมูลค่าร้อยละ” กับ “ปริมาณต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์” จะต้องหารด้วย 100 สำหรับการคำนวณ ฯลฯ 

     เอาเป็นว่า ผู้บริโภค ขอฟังประกาศราคาขายปลีกเมื่อถึงเวลาอันควรจะดีกว่า จะได้ไม่ “มึน”ก่อนกำหนด

      ด้วยเหตุที่ว่า พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ จะเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงานมาเป็นจัดเก็บจากราคาปลีกส่งผลให้ฐานภาษีสูงขึ้น ทำให้คาดการณ์กันว่าเพดานภาษีเบียร์ขยับขึ้น เช่น เบียร์ 3.5 ดีกรี ขนาด 0.62 ลิตร ขยับจากขวดละ 41.60 บาท เป็น 78.50 บาทโดยประมาณ เบียร์ 5 ดีกรี ขนาด 0.62 ลิตร ขยับจากขวดละ 42.10 บาท เป็น 108 บาท เบียร์ 5.8 ดีกรี ขนาด 0.62 ลิตร ขยับจากขวดละ 40.70 บาทเป็น 123 บาท เบียร์ 6 ดีกรี ขนาด 0.50 ลิตร ขยับจากขวดละ 40.20 บาท เป็น 132 บาท และเบียร์ 7 ดีกรี ขยับจากขวดละ 46.50 บาท เป็น 178 บาท

      ขณะที่ ไวน์มีขนาดเดียวคือ 0.75 ลิตร ระดับดีกรีตั้งแต่ 12.5-14.5 ดีกรี อัตราเพดานตํ่าสุดในปัจจุบันขวดละ 225 บาท จะขยับขึ้นเป็นขวดละ 519 บาทและสูงสุดอยู่ที่ขวดละ 1,482 บาท โดยเป็นอัตราเพดานที่ลดลงจาก 2,100 บาท เนื่องจากแจ้งราคาขายส่ง 3,500 บาท

     ส่วนสุราทุกประเภท ได้แก่ สุราขาวชุมชน ขนาด 0.625 ลิตร ดีกรีเริ่มต้นที่ 28 ดีกรี อัตราเพดานปัจจุบันอยู่ที่ขวดละ 98 บาท ปรับเพิ่มเป็นขวดละ 199 บาท ขนาด 35 ดีกรี ปรับเพิ่มจาก 121 บาท เป็น 244 บาท ส่วนสุราขาว 40 ดีกรี แจ้งราคาขายส่ง 75 บาท จากขวดละ 137.50 บาท เป็น 277 บาท และสุรากลั่นอื่นๆ ขนาด 0.70 ลิตร เริ่มจาก 35 ดีกรี แจ้งราคาขายส่ง 125 บาท เพดานขยับเพิ่มจากขวดละ 160 บาท เป็น 312 บาท 35 ดีกรี แจ้งราคาขายส่ง 128 บาท ขยับจากขวดละ 162 บาท เป็น 320 บาท ส่วน 40 ดีกรี 3 ชนิด ขยับจากขวดละ 216-366 บาท เป็น 357-447 บาท 

     เห็นราคาขายที่อาจจะขยับขึ้นเท่าตัวทำเอาสร่างเมาได้เหมือนกัน ไม่เพียงเท่านั้น โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ยังคงคาบเกี่ยวถึงสถานอาบน้ำหน่วยละ 1,000 บาทต่อรอบ กิจการไนต์คลับ 3,000 บาทต่อตารางเมตร รวมถึงเครื่องดื่มเติมน้ำตาล น้ำอัดลม 20 บาทต่อลิตร อีกทั้งน้ำมันเบนซิน ดีเซล 20 บาทต่อลิตร ด้วย 

     การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.59-ก.พ. 60) มีรายได้รวมอยู่ที่ 2.19 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายราว 2 พันล้านบาท เนื่องจากภาพรวมการบริโภคเกิดความซบเซาในช่วงเดือนตุลาคม 2559 ในช่วงสถานการณ์สำคัญของประเทศ อีกทั้งสถานบริการต่างๆ หยุดทำการ 

     อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จะสนับสนุนให้ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณนี้เข้าเป้าหมายที่ 5.55 แสนล้านบาท ซึ่งกรมสรรพาสามิตได้มีการจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีโดยตั้งเป้าหมายเพิ่มการจัดเก็บรายได้ขึ้น 5-10% ด้วย 

     ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังยืนยันชัดเจนมาตลอดถึงอัตราภาษีที่เก็บจริงยังไม่มีการกำหนด และให้คำมั่นว่า ประชาชนต้องไม่เดือดร้อน จากนี้คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า สรรพสามิตจะเคาะอัตราภาษีที่เท่าใดกันแน่ ยังพอจะมีเวลา...!

     ที่แน่ๆ ก็คือ รัฐบาลกำลังต้องการใช้เงินภาษีมาบริหารบ้านเมืองอีกจำนวนมาก ขณะที่ภาษีสุรา เครื่องดองของเมา รวมทั้งบุหรี่ ถูกจัดอยู่ในจำพวกสินค้าบาป

     ขึ้นภาษีไปเท่าไร ก็ไม่มีใครหือ...จะมีก็แต่พ่อค้าเหล้าเบียร์เท่านั้นเอง ที่จะต้องตั้งราคาไม่ให้กระทบยอดขาย

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ