คอลัมนิสต์

โมโตจีพี บุรีรัมย์ แข่งรถแข่งได้ อย่าริแข่งบุญวาสนากับ เนวิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"คนที่คัดค้านคือคนที่ไม่เคยดูโมโตจีพี...."

    อาณาจักรกีฬาของ เนวิน ชิดชอบ มิได้มีแค่สนามฟุตบอลไอ-โมบายสเตเดี้ยม และสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

     เมื่อปี 2556 “เนวิน” ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัททำธุรกิจกีฬาขึ้นมาใหม่ อย่างน้อย 2 แห่ง รวมเม็ดเงินลงทุนจดทะเบียนกว่า 200 ล้าน โดยปรากฏชื่อเนวิน ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย คือ บริษัท เค. มอเตอร์สปอร์ต จำกัด และบริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จำกัด

     บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ได้ดำเนินการก่อสร้างสนามแข่งขันรถทางเรียบในมาตรฐานระดับโลก ซึ่งแยกส่วนกับสินทรัพย์ของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ออกจากกัน

ปลายปี 2557 “เนวิน” เปิดสนามแข่งขันรถ โดยมีชื่อที่เรียกตามสปอนเซอร์ว่า “ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต”

     “เนวิน” รับบทประธานที่ปรึกษาสนามแข่งขันรถช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต และมอบให้ กนกศักดิ์ ปิ่นแสง เป็นประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต และ ตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ เป็นกรรมการและผู้อำนวยการบริษัท

      ที่ผ่านมา มีการจัดการแข่งขันทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ระดับน้อง ๆ รายการระดับโลกมาบ้างแล้ว อย่างเวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ แต่ความฝันของเนวินในการสร้างสนามแข่งรถคือ ต้องการขยับไปถึงรายการแข่งรถระดับโลกอย่างฟอร์มูล่า-วัน และโมโตจีพี 

     ฝันนั้นไม่ง่าย เหมือนประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ ก็มีการจัดการแข่งขันประเภทนี้อยู่ เพราะการได้สิทธิ์จัดการแข่งขันระดับโลกอย่างนี้ ต้องเป็นเรื่องระดับรัฐบาล

      อย่างไรก็ตาม เนวินไม่หยุดฝัน เพราะมีสนามแข่งรถอยู่แล้ว เพียงแต่ให้รัฐบาลออกหน้าในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ และร่วมกันรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง การแข่งขันรถโมโตจีพีก็เกิดขึ้นได้ในเมืองไทย

      แล้วความฝันของอดีตนักการเมืองบุรีรัมย์ ก็กลายเป็นจริง เมื่อตุลาคม 2559 กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เดินหน้าเรื่องแผนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลกหรือ “โมโตจีพี 2018” ต่อคณะรัฐมนตรี

      ด้วยงบประมาณในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 347 ล้านบาท แยกเป็น ค่าเซ็นสัญญา 300 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี และค่าเตรียมความพร้อมด้านอื่น ๆ โดยรัฐจะช่วยออกค่าใช้จ่าย 170 ล้านบาท ภาคเอกชน 100 ล้านบาท และรายได้จากการจำหน่ายตั๋ว 80 ล้านบาท

      เชื่อกันว่า มีการล็อบบี้ฝ่ายการเมืองบางระดับ โดยมีข้อเสนอที่ว่า เนวินมีสนามแข่งรถอยู่แล้ว เพียงแต่ให้รัฐบาลออกหน้าในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ และร่วมกันรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง ก็จะสร้างประวัติศาสตร์การแข่งรถทางเรียบระดับโลกได้โดยพลัน

      พลันที่มีข่าวภาครัฐจัดแข่งรถโมโตจีพี เผยแพร่ออกไป “เสธ.ยอด” พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ประธานสหพันธ์สมาคมกีฬาชาติ หรือ “ฟอนซา" ได้ออกมาท้วงติงว่า การจัดแข่งขันโมโตจีพี ที่มีการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นเจ้าของโครงการ งบฯ ลงทุนที่จะนำมาใช้ เพื่อสิทธิในการเป็นเจ้าภาพต้องมีความชัดเจน กับแหล่งงบประมาณ ที่สำคัญต้องไม่เอางบประมาณ จากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติไปใช้ เพราะผิดวัตถุประสงค์ 

       “เสธ.ยอด” บอกว่า  โมโตจีพี คือ อีเว้นท์กีฬา ไม่ใช่การพัฒนากีฬาอาชีพ ที่สำคัญอยากให้พิจารณาให้รอบคอบ เพราะหลายครั้ง ที่การจัดกิจกรรมกีฬาในไทย ล้มเหลวทั้งผู้ชม ทั้งรายได้ ที่เห็นได้ชัดคือเอเชี่ยนบีชเกมส์ ที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

      เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ “มาดามน้อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะประธาน บอร์ด กกท. ได้หารือในกรณีดังกล่าวแล้ว ซึ่ง บอร์ด กกท.เห็นชอบในหลักการในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโมโตจีพี ให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนากีฬาเพื่อการท่องเที่ยว แต่จะต้องหาแหล่งงบประมาณใหม่ 

      เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อระเบียบ และกฎหมายการใช้จ่ายเงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งกกท.จะได้หารือกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางต่อไป

     ฉับพลันทันใด พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ขานรับด้วยความยินดีที่จะให้การสนับสนุนการจัดแข่งขันรายการนี้ แต่เมื่อไม่สามารถใช้เงินจากกองทุนได้ จึงขอให้สำนักงบประมาณกลั่นกรองเพื่อหาทางออกว่า จะใช้เงินจากส่วนไหนของรัฐบาลมาร่วมจัดโมโตจีพีแล้วไม่ผิดกฎหมายบ้าง

      รวดเร็วราวปาฏิหาริย์ วันอังคารที่ผ่านมา (21 มี.ค. 2560) กอบกาญจน์ วัฒวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติงบประมาณในการขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก (โมโตจีพี) โดยรัฐบาลจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์การขอเป็นเจ้าภาพปีละ 100 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวม 300 ล้านบาท ระหว่างปี 2561-2563 ในส่วนค่าใช้จ่ายการจัดการแข่งขันทั้งหมดรัฐบาลจะหารือกับภาคเอกชน เพื่อระดมทุนในการดำเนินการทั้งหมด โดยสนามแข่งที่มีความพร้อมในประเทศไทย มีเพียงสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ แห่งเดียว

     ท่ามกลางเสียงกังขาของผู้คนทั่วไปว่า ทำไมรัฐบาลจึงประเคนงบฯ กลาง 300 ล้านบาท ไปเพื่อการนี้

     เนวิน ชิดชอบ เคยแสดงความคิดเห็นในเรื่องงบประมาณที่ติดขัดว่า การลงทุนปีละ 100 ล้านบาทของรัฐบาล คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของเงินทั้งหมด แต่จะสามารถดึงเอาเม็ดเงินกลับเข้าประเทศได้กว่าหมื่นล้านบาท รวมทั้งสามารถสร้างแบรนด์ในเรื่องมอเตอร์สปอร์ตให้แก่ประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

     "คนที่คัดค้านคือคนที่ไม่เคยดูโมโตจีพี ถึงแม้ว่าบุรีรัมย์จะไม่มีที่พักเพียงพอรับรองคนจำนวนมหาศาล แต่จังหวัดรอบๆ ก็ยังมี แสดงให้เห็นว่าประโยชน์ที่ได้เป็นวงกว้าง ได้ทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่บุรีรัมย์ แล้วยังส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยได้ด้วย” เนวินกล่าว

      หลัง ครม.ไฟเขียวอนุมัติให้จัดการแข่งขัน พร้อมกับเรื่องงบฯ เนวิน ในฐานะประธานที่ปรึกษาสนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต กล่าวว่า หลังจากที่ ครม.ได้อนุมัติให้จัดการแข่งขัน เราก็ต้องเตรียมหาเงินมาทั้งหมด 900 ล้านบาท เพื่อให้ได้ใช้ในสามปี และทางฝั่งซีอีโอของสนามช้างฯ ก็กำลังเตรียมดำเนินการเดินทางไปพูดคุยกับ “ดอร์นา สปอร์ต” เจ้าของลิขสิทธิ์ น่าจะภายในวันที่ 23-24 มีนาคมนี้ และจะได้บทสรุปทุกอย่างในเดือนเมษายน

     ว่ากันว่า เนวินทุ่มทุนสร้างสนามแข่งขันรถยนต์มาตรฐานระดับโลก ใช้จัดการแข่งขันระดับนานาชาติ และพยายามผลักดันให้ประเทศไทยจัดการแข่งขันระดับฟอร์มูล่า-วัน แต่ด้วยงบประมาณที่สูง เป้าหมายจึงลดลงมาเหลือระดับโมโตจีพีแทน

      แต่ก็ไม่ง่ายนัก หากว่า รัฐบาลที่จะพิจารณาอนุมัติงบฯ 300 ล้านบาทจัดแข่งโมโตพีจี ไม่ใช่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

     เหตุผลที่รัฐบาลประยุทธ์เห็นด้วย ก็คือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาประเทศไทย

      ถามว่าคุ้มค่ากับการลงทุนมั้ย? เพราะคนที่จะได้มากที่สุดนั่นคือ เจ้าของสนามแข่งรถ เพราะการได้สิทธิ์จัดการแข่งขันระดับโลกอย่างนี้ต้องเป็นเรื่องระดับรัฐบาล หากวันใดที่ประเทศไทยหลุดจากผังนี้ไป เจ้าของสนามก็สามารถที่จะต่อยอดจัดการแข่งขันรายการอื่น ๆ จากเครดิตในครั้งนี้ได้ ซึ่งจะทำให้ยอดในการใช้สนามแข่งรถที่บุรีรัมย์มีอย่างต่อเนื่อง

      เรียกว่างานนี้ เนวินขาขึ้นทางธุรกิจ เนื่องจากมีปัจจัยหนุน โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับ “บิ๊กทหาร” ในรัฐบาลประยุทธ์ การผลักดันโครงการต่างๆ ทางธุรกิจจึงเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย

“เนวิน-กนกศักดิ์-วิชัย”

วัดสุวรรณภูมิฯ คอนเนกชั่น

     ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ชื่อ กนกศักดิ์ ปิ่นแสง

     “กนกศักดิ์” เป็นเพื่อนรักของ เนวิน ชิดชอบ, วิชัย ศรีวัฒนประภา และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง

นอกเหนือจากคอนเนกชั่นทางธุรกิจ พวกเขาหลอมรวมหัวใจกันด้วย “กีฬา” 

     “กนกศักดิ์” ร่วมกับ วิชัย ศรีวัฒนประภา่ หรือ “วิชัย คิงเพาเวอร์” ก่อตั้งสมาคมขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทยมาแต่ปี 2547 และวันนี้ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย

     สำหรับกนกศักดิ์ มิใช่มีเพียงขี่ม้าโปโล มีกีฬาอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งตอนแรกเขารู้สึกเฉย ๆ แต่ในปัจจุบันได้กลายเป็นชนิดกีฬาที่ต้องติดตามแบบไม่มีขาด นั่นคือ “ฟุตบอล” 

     จุดเริ่มต้นของการหลงใหลฟุตบอล เพราะเพื่อนรัก เนวิน ชิดชอบ ชวนทำทีมสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ พีอีเอ ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย

     ครั้งหนึ่ง กนกศักดิ์มีโอกาสเดินทางไปประเทศอินเดียครั้งแรกกับคณะของเนวิน ชิดชอบ ในปี 2541 ได้ไปกราบพระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทธ์ วีรยุทโธ) ฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์ ได้ร่วมปฏิบัติธรรมมาโดยตลอด 

    นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ กนกศักดิ์ไปอินเดียมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง เกิดความผูกพัน จนเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ได้มาร่วมกับเพื่อนๆ สร้าง “วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี” อยู่ใกล้ๆ สนามบินสุวรรณภูมิ

     ชั่วโมงนี้ ไม่มีคอนเนกชั่นไหน แข็งแกร่งเท่ากับ “เนวิน-กนกศักดิ์-วิชัย” เพราะปึ้กด้วยพลังทุน และพลังอำนาจทางการเมือง รวมถึง “พลังบุญ”

     คอการเมืองทราบดีว่า “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั้น มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ “กลุ่มลูกศิษย์วัดสุวรรณภูมิฯ” มากแค่ไหน?

    ฉะนั้น เรื่องกระทรวงของ “มาดามน้อง” ขอเป็นแม่งานจัดโมโตจีพี โดยใช้สนามแข่งของเนวิน ก็เป็นเรื่องเล็กๆ ที่ตัดสินใจไม่ยากของคณะรัฐมนตรี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ