คอลัมนิสต์

“หมอหนิ่ง”หนึ่งใจดวงนี้ แก่“ออมสิน”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ยังมีอีกหยดน้ำตาของคนที่ใกล้ชิดและรับรู้ถึงความเจ็บปวดของ “เจ้าออมสิน” จนลมหายใจสุดท้าย รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ เธอคือใคร"

     หยดน้ำตาของคนไทยยังคงหลั่งรินให้กับการจากไปของ "เจ้าออมสิน" เต่าตนุเพศเมีย วัย 25 ปี ภายหลังการผ่าตัดนำเหรียญออกจากช่องท้องแต่ต้องจากไปด้วยภาวะเลือดเป็นพิษจากโลหะหนัก

     แต่ยังมีอีกหยดน้ำตาของคนที่ใกล้ชิดและรับรู้ถึงความเจ็บปวดของ “เจ้าออมสิน” จนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย

     คือ หมอหนิ่ง รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้นำทีมแพทย์ที่ช่วยกันดูแลรักษาและผ่าตัดเจ้าออมสินมาตั้งแต่วันแรกที่รับตัวมาจากโรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ จ.ชลบุรี กระทั่งลมหายใจสุดท้ายของเจ้าออมสินที่หมดไปเมื่อวันอังคารที่ 21 มีนาคม เวลา 10.10 น.

     ถามว่า รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ หรือหนิ่ง คนนี้เป็นใคร

     หมอหนิ่งเป็นบุตรสาวของ รศ.นสพ.ดร.รท.ประสิทธิ์ โพธิปักษ์ อดีตคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ทันตแพทย์หญิง มนูญ (กปิตถัย)

     หมอหนิ่ง เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2504 ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ และรองศาสตราจารย์ระดับ 9 ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสัตว์น้ำเพื่อการอนุรักษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้ช่วยคณบดีด้านประชาสัมพันธ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช.อีกด้วย

     ในด้านชีวิตส่วนตัว หมอหนิ่งเป็นภรรยาของนพ.เอกวรรณ ชันซื่อ บุตรชายคนโตของวรรณ ชันซื่อ อดีตประธานรัฐสภา มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 4 คน เป็นหญิง 3 ชาย 1 คือ วรรณิกา, วรรณฤทัย, วรรณวลี และวรรณรัฐ ชันซื่อ

     หมอหนิ่งคนนี้เรียกว่าลูกไม้ใต้ต้นของจริงเพราะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีระดับเกียรตินิยมจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

      แต่ใครจะรู้ว่าตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย สอบครั้งแรกได้คณะวิทยาศาสตร์ แถมยังเรียนตกมาก ได้คะแนน 1.57 สุดท้ายกลับไปเอนทรานซ์ใหม่จนได้เรียนคณะสัตวแพทย์ และทำได้ดีมากถึงขนาดสอบได้ที่ 1 และคว้าเกียรตินิยมมาได้

     เมื่อเรียนจบแล้วแรกเริ่มก็ทำงานรักษาสุนัขและแมวเหมือนคนอื่นๆ แต่เพียงปีเดียวก็ไปสอบสัมภาษณ์เพื่อเป็นเลขาฯ ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)

     โดยได้คำแนะนำจากพ่อว่า “ไปทำงานกับคนเก่งเราจะได้เก่งด้วย" และด้วยสายงานจึงหันไปศึกษาปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

     แต่เมื่อกลุ่มบริษัทซีพี มีแนวความคิดที่จะทำธุรกิจด้านสัตว์น้ำมากกว่าสัตว์บก ผ่านไป 1 ปี จึงไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านสัตว์น้ำโดยเฉพาะที่ The College of William & Mary รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี

      และกลับมาทำงานสัตวแพทย์ตามที่ใจรักอีกครั้งจนได้ชื่อว่ามีความเชี่ยวชาญเรื่องโรคสัตว์น้ำ มีงานวิจัยต่างๆ มากมาย เป็นคอลัมนิสต์ที่มีผลงานประจำตอบปัญหาหรือเขียนบทความลงในนิตยสารสัตว์เลี้ยงและปลาสวยงามหลายเล่ม ในชื่อของ “หมอหนิ่ง”

     ทั้งยังทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหลายโครงการ เช่น การจัดตั้งชมรมอนุรักษ์เต่าร่วมกับกลุ่มบริษัทซีพี รณรงค์และให้ความรู้เรื่องการปล่อยเต่าคืนสู่ธรรมชาติอย่างถูกต้องตามหลักสายพันธุ์

     เคยเข้าอบรมหลักสูตรซีเอสไอ โดยเอฟบีไอ สหรัฐ ศึกษาด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อหาความสัมพันธ์ของคดีที่มีสัตว์เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือการที่หลงใหลในปลากระเบนราหูน้ำจืด จนทำให้หมอหนิ่งศึกษาเพิ่มเติมจนถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปลากระเบนรายแรกของโลก

      เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเป็นสัตว์แพทย์ว่ามาจากพ่อที่ให้คำแนะนำ

     “ความอิ่มเอิบใจในการที่เราได้ช่วยเหลือชีวิตอื่นๆ เป็นรางวัลที่เงินซื้อไม่ได้ ได้เรียนรู้ยิ่งกว่าการรักษาสัตว์ แต่เป็นการเคารพต่อชีวิตของสัตว์”

     น่าแปลกที่ความฝันแรกของหมอหนิ่ง คือเป็นสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านม้า แต่เพราะเคยถูกม้าเตะซี่โครงหักจึงล้มเลิก แต่หันมาสนใจเรื่องสัตว์น้ำแทน โดยมีแรงบันดาลใจตอนที่เคยฝึกดำน้ำ และเคยสอนดำน้ำอยู่ถึง 13 ปี (นอกเหนือจากความสามารถทางด้านกีฬายิงปืนที่เคยเป็นตัวแทนทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันยิงปืนในระดับนานาชาติมาแล้วในหลายประเทศ)

     แต่ด้วยความไม่ชอบรักษาสัตว์ที่เป็นอาหารจึงหันมารักษาสัตว์สวยงามกับสัตว์อนุรักษ์ เพราะไม่ว่าอาการหนักเท่าไรก็ต้องรักษา

     อย่าง “เต่า” หมอหนิ่งเคยเล่าว่า เต่าเป็นสัตว์ที่น่าสงสาร เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีตำราเต่า จึงใช้ตำราสัตว์เล็กมาปรับใช้กับความรู้ทั่วไป ทดลองรักษามาเรื่อยๆ จนกลายเป็น “หมอเต่า” ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเต่าอย่างมาก

     ความภูมิใจที่สุดครั้งหนึ่งคือการตั้งโรงพยาบาลสัตว์น้ำเมื่อหลายสิบปีก่อน สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นมาทำข่าวว่าเป็นโรงพยาบาลสัตว์น้ำแบบเต็มตัวแห่งแรกของโลก

     แต่ก็มีอุปสรรคอยู่มาก หลังจากนั้นจึงกลายเป็นหน่วยงานอิสระ โดยเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ล้วนได้รับบริจาคจากบริษัทเอกชน

     หากถามว่าหมอหนิ่งรักษาสัตว์น้ำมาแล้วกี่ตัว คงตอบว่า “มากจนจำไม่ได้” แต่หากถามว่าได้อะไรจากการรักษาสัตว์เหล่านั้น คำตอบคือ เรื่องของความรู้สึกนึกคิดและจิตใจ

     หมอหนิ่งเล่าว่า เคยรักษาวาฬเพชฌฆาตแคระ 2 ตัวที่ป่วยหนักมากที่ จ.เพชรบุรี ตัวแรกเจาะเลือดไปแล้ว แต่อีกตัวดิ้นไม่ยอม แต่พอเอาอีกตัวเข้ามาใกล้ๆ มันก็ยอม หรือตอนไปรักษาโลมามีตัวหนึ่งป่วยอีกตัวหนึ่งพยุงให้ขึ้นมาหายใจ

    และได้เรียนรู้ว่ามนุษย์อาจมีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย แต่สัตว์ไม่คิดฆ่าตัวตาย เขารักชีวิต เช่น เต่าถูกไฟไหม้ หรือขนาดบาดเจ็บอวัยวะข้างในไหลออกมาก็ยังอยากมีชีวิตอยู่ มีหลายๆ ตัวทำให้เกิดความมหัศจรรย์ฟื้นตัวเองได้

     ส่วนวันนี้กับการรักษาเจ้าออมสิน แม้จะไม่มีปาฏิหาริย์ แต่ก็ถือเป็นจุดดึงสติคนไทยให้ฉุกคิดเรื่อง “บาปในรอยบุญ”

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ