คอลัมนิสต์

เสริมเขี้ยวลูกประดู่ เรือดำน้ำจีนประจำการ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยจะมีเรือดำน้ำ เพราะกองทัพเรือเคยมีเรือดำน้ำมาแล้ว เป็นชาติแรกในอาเซียน และชาติที่ 2 ในเอเชีย"

     ชัดเจนแล้วว่า อีกไม่นานวัน กองทัพเรือของไทยจะมีเรือดำน้ำเข้าประจำการจำนวน 3 ลำ โดยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องมียุทโธปกรณ์หนักชนิดนี้เข้าประจำกองทัพไทย และนายกรัฐมนตรียังเผยด้วยว่า เรือดำน้ำกองนี้จะซิื้อจากประเทศจีน

     มาทำความรู้จัก(กันอีกครั้ง) ว่า เรือดำน้ำที่ว่านี้ มีที่มาอย่างไร รวมทั้งมีข้อดีข้อด้วยประการใดไปพร้อมกัน 

     กองทัพเรือได้ผลักดันโครงการจัดหาเรือดำน้ำมาอย่างยาวนาน อย่างน้อยๆ ลูกประดู่ก็ต้องรอคอยมากว่า 20 ปี

     ที่ผ่านมามีประเทศที่เสนอตัวเข้าประกวดราคาขายเรือดำน้ำให้แก่กองทัพเรือไทยจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ เยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน รัสเซีย และจีน ซึ่งสุดท้ายไทยตัดสินใจเลือกจีน

     โดยเรือดำน้ำที่อยู่ในกระบวนการตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อจัดหาอยู่นี้ เป็นรุ่น Yuan Class S26T โดยจัดซื้อทั้งโครงการจำนวน 3 ลำ ราคารวม 3.6 หมื่นล้านบาท

     เรือดำน้ำรุ่น S26T เป็นรุ่นพิเศษที่จีนต่อขึ้นสำหรับประเทศไทยเท่านั้น พัฒนาจาก Yuan Class Type 039A ตัวเรือมีขนาดยาว 77.70 เมตร กว้าง 8.60 เมตร ระวางขับน้ำขณะดำ 3,200 ตันเครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้า

     การจัดซื้อจัดหาที่ใช้งบประมาณสูงถึง 3.6 หมื่นล้านบาท จึงไม่ได้มีแค่ตัวเรือเท่านั้น แต่สิ่งที่จะได้ควบคู่กันมาก็คือการฝึก การสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ ซึ่งจีนรับปากว่าจะเพิ่มให้ รวมทั้งอุปกรณ์ท่าเรือ

     ส่วนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่จะติดตั้งมาด้วยเป็น “ส่วนควบ” นับว่าน่าสนใจ เพราะมีทั้งตอร์ปิโด, อาวุธปล่อยนำวิถี และขีปนาวุธต่อต้านเรือ หรือ ASM ที่หมายถึง Anti-Ship missile ซึ่งเรือดำน้ำที่ประจำการอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเราหลายประเทศไม่มีมิสไซล์แบบนี้

     นอกจากนั้นยังมีระบบที่เรียกว่า AIP หรือ Air Independent Propulsion system ซึ่งเป็นระบบขับเคลื่อนโดยปราศจากอากาศเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ทำให้เรืออยู่ใต้น้ำได้ต่อเนื่องถึง 21 วัน โดยไม่ต้องขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อชาร์จไฟ นับว่าเป็นรุ่นที่อยู่ใต้น้ำได้นานที่สุดของเรือดำน้ำที่ไม่ได้ใช้ระบบนิวเคลียร์เป็นพลังงาน ขณะที่เรือดำน้ำปกติจะดำน้ำได้นาน 7-10 วันเท่านั้น

     นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยจะมีเรือดำน้ำ เพราะกองทัพเรือเคยมีเรือดำน้ำมาแล้ว เป็นชาติแรกในอาเซียน และชาติที่ 2 ในเอเชีย

     เรือดำน้ำที่เคยเข้าประจำการในกองทัพเรือไทยตั้งแต่ปี 2480 ต่อโดยบริษัทญี่ปุ่น มีจำนวน 4 ลำด้วยกัน คือ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล

     โดยปฏิบัติการในอ่าวไทยหลายครั้ง กระทั่งปลดประจำการทุกลำในปี 2494 เนื่องจากปัญหาขาดแคลนอะไหล่ และญี่ปุ่นแพ้สงคราม

     หลังจากนั้นก็ไม่มีเรือดำน้ำเข้าประจำการในกองทัพอีกเลยนานเกือบ 70 ปี ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเกือบทุกประเทศพากันจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการกันอย่างคึกคัก 

     เมื่อปี 2556 กองทัพเรือได้ก่อสร้างอาคารกองเรือดำน้ำ และศูนย์ฝึกยุทธการเรือดำน้ำ รวมทั้งเครื่องจำลองการฝึกเรือดำน้ำ มูลค่ารวมเกือบ 1,000 ล้านบาท ที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี กระทั่งสำเร็จเสร็จสิ้นและเปิดใช้งานเมื่อปี 2557

     ปัจจุบัน กองเรือดำน้ำ ขึ้นบังคับบัญชากับกองเรือยุทธการ มีคำขวัญว่า “อำนาจใต้สมุทร พลังยุทธ์ที่วางใจได้” โดยวันที่ 4 กันยายน ของทุกปี ถือเป็น “วันเรือดำน้ำไทย” อันเป็นวันที่เรือดำน้ำ 2 ลำแรกต่อเสร็จ และขึ้นประจำการเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2480 นั่นเอง

     ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปี 2538 กองทัพเรือไทยมีโครงการจัดหาเรือดำน้ำ โดยได้รับข้อเสนอน่าสนใจจากหลายประเทศ ทั้งเยอรมนี สวีเดน ฝรั่งเศส และรัสเซีย แต่โครงการนี้ไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะติดทั้งเรื่องงบประมาณและปัญหาการเมือง

     ในปี 2553 มีการตั้งเป้าว่าจะจัดซื้อเรือดำน้ำ 6 ลำ จากเยอรมนี เป็นเรือดำน้ำมือสองที่ผ่านการปรับปรุงสมรรถนะแล้ว แต่โครงการก็พับไป จนมาถึงปี 2557 มีการปรับแผนใหม่ โดยเปลี่ยนมาเป็นการซื้อเรือดำน้ำใหม่เอี่ยม 1 ลำ ตัวเลือกคือเรือที่ต่อในเยอรมนีหรือเกาหลีใต้ แต่สุดท้ายโครงการก็พับไปอีกเช่นกัน

     ข้อมูลเปิดจากกองทัพเรือยืนยันว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนครั้งนี้ได้ผ่านการศึกษามาเป็นอย่างดี ตรวจสอบบริษัทผู้ผลิตเรือดำน้ำจากทั่วโลก การตัดสินใจเลือกเรือดำน้ำจากจีนตอบโจทย์ทั้งเรื่องงบประมาณ, สเปก, ความมั่นคง และเศรษฐกิจ ยืนยันว่าได้พิจารณาทุกมิติ และคุ้มค่าการลงทุนอย่างแน่นอน

     นับจากนี้ลูกประดู่จึงน่าจะใจชื้นได้ว่า จะไม่มีีเหตุการณ์พลิกผันเปลี่ยนแปลงอีก เพราะทหารบกก็มีรถถังรุ่นใหม่ๆ ไว้ป้องกันข้าศึก, ทหารอากาศก็มีเครื่องบินขับไล่ทันสมัย เหลือเพียงกองทัพเรือที่มีแค่กองเรือดำน้ำ แต่ไม่มีเรือดำน้ำของจริงให้ได้ใช้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ