คอลัมนิสต์

“รับโอนบ้าน-รถ-ที่ดิน” ระวังถูกโยงค้ายา!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“การทำธุรกรรมการเงินแปลกๆ จากคนแปลกหน้า มักแฝงไปด้วยอันตราย และปัญหาที่อาจตามมาได้เสมอ และอาจทำให้เราเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่ของเครือข่ายยาเสพติด"

     “เปรียบ นายไซซะนะ เป็นผลไม้มีพิษ คนที่กินผลไม้เข้าไปย่อมได้รับพิษเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับใครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายไซซะนะหรือรับทรัพย์สินมา ย่อมได้รับพิษหรือถูกดำเนินคดี”

     เป็นคำยืนยันของ พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) ที่อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการทลายเครือข่ายค้ายาของ นายไซซะนะ แก้วพิมพา ไฮโซสัญชาติลาว ว่าเหตุใดจึงมีคนที่ต้องเดือดร้อน ทั้งถูกดำเนินคดี หรือแม้แต่ถูกออกหมายเรียกให้มาชี้แจงที่มาของทรัพย์สิน ไม่เว้นแม้กระทั่งคนที่มีชื่อเสียงในสังคมอย่าง เบนซ์ เรซซิ่ง หรือดาราสาว"แพท" ณปภา ตันตระกูล

     เรียกได้ว่า แม้สุดท้ายจะไม่มีความผิด ไม่ถูกแจ้งข้อหา แต่ก็ต้องเสียเงิน เสียเวลา และเสียความรู้สึก หากเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับขบวนการค้ายาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของทรัพย์สิน

     สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดของไทยมีความเข้มข้นมากในระดับต้นๆ ของโลก เพื่อหวังจัดการปัญหายาเสพติดให้สิ้นซาก โดยนอกจากจะมี “พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ”เป็นเหมือนกฎหมายแม่แล้ว ยังมี “พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534” ตามเช็กบิลคนในเครือข่ายและผู้สนับสนุนด้วย แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้มีส่วนร่วมสัมผัสยาเสพติดเลยก็ตาม

     กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อดำเนินการผู้ที่มีพฤติกรรมช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกให้แก่เครือข่ายค้ายาเสพติด โดยระบุพฤติกรรมที่เข้าข่ายไว้อย่างน้อย 6 ประการ ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการซื้อตั๋วเครื่องบินให้แก่เครือข่ายค้ายาเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ การเช่ารถเพื่อใช้ในการส่งมอบยาเสพติด หรือแม้แต่การซื้อบ้าน หรือซื้อรถหรูราคาแพงในชื่อของคนอื่น รวมทั้งการถือครองทรัพย์สินแทนคนในขบวนการค้ายา ก็ล้วนเข้าข่ายการสนับสนุน และอาจถูกตีความว่าเป็นการสมคบกันค้ายาด้วยเช่นกัน

     มาตรา 29 และ 30 ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ยังให้อำนาจพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้ริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้ โดยผู้ที่ถือครองทรัพย์สินนั้น หากจะขอคืน ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือต้องแสดงให้เห็นว่าตนเป็นผู้รับโอน หรือผู้รับประโยชน์ และได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนเท่านั้น

     อธิบายง่ายๆ ก็คือ ผู้ใดที่ถือครองทรัพย์สินที่ถูกยึดจากเครือข่ายค้ายาเสพติด ผู้นั้นมีภาระต้องชี้แจงต่อศาลเอง

     พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ ยังโยงไปถึงกฎหมายฟอกเงิน เพราะถือเป็นความผิดมูลฐานข้อแรกที่เข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน จากทั้งหมด 21 ความผิดมูลฐาน และหากโดนยึดอายัดทรัพย์ฐานสนับสนุนหรือสมคบกันค้ายาเสพติดแล้ว (ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ) ก็จะโดนมาตรการตามกฎหมายฟอกเงินซ้ำอีกทั้งทางแพ่งและอาญา

     โดยในทางแพ่ง จะถูกศาลสั่งยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนในทางอาญา หากเจ้าหน้าที่พิสูจน์ได้ว่ามีส่วนรู้เห็นกับขบวนการค้ายา ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือสมคบกัน ก็จะโดนดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินอีกกระทงหนึ่งด้วย

     พล.ต.ต.ชาตรี ไพศาลศิลป์ รอง ผบช.ปส.บอกด้วยว่า อยากให้คดีเครือข่ายไซซะนะเป็นคดีตัวอย่างแก่สังคม เพราะการทำธุรกรรมการเงินแปลกๆ จากคนแปลกหน้าซึ่งไม่ใช่ญาติพี่น้อง มักแฝงไปด้วยอันตราย และปัญหาที่อาจตามมาได้เสมอ และอาจทำให้เราเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่ของเครือข่ายยาเสพติดได้ไม่ยาก

     “อะไรที่มันแปลกๆ อะไรที่มันไม่มีเหตุไม่มีผล เช่น มาขอให้เราเปิดบัญชีธนาคาร แล้วก็เอาบัตรเอทีเอ็ม เอาสมุดบัญชีของเราไป หรือให้เราทำเทเลโฟน แบงกิ้ง กับธนาคาร หรือแม้แต่ให้เงินเราช่วยซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน ซื้อรถ ทั้งที่ไม่ใช่บิดามารดา ไม่ได้เป็นบุตรหรือเป็นสามีภรรยากัน อยากเตือนว่า สิ่งเหล่านี้ต้องระวัง เพราะอาจนำความผิดมาสู่ท่านได้ อย่าไปเห็นแก่รายได้ที่ไม่มีที่มาที่ไป และขอฝากไปยังประชาชนทั่วไปว่า อย่าโลภ เพราะความโลภจะนำมาซึ่งปัญหาอย่างแน่นอน” รองผบช.ปส.ระบุ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ