คอลัมนิสต์

โลกและชีวิต "ระวี ภาวิไล" ฝากไว้ในแผ่นดิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ระวี ภาวิไล ผู้ที่ลมหายใจแห่งชีวิตอาจจบลง ในวัย 92 แต่ลมหายใจแห่งศรัทธาจากคนข้างหลัง จะไม่มีวันหมด

               เขาเกิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2468 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 เป็นคนกรุงเทพมหานคร

               ชีวิตในครอบครัว เขาสมรสกับ อุไรวรรณ ภาวิไล สาวสันกำแพง จ. เชียงใหม่ ที่ได้เจอกันขณะที่ฝ่ายชายไปบรรยายเรื่องอวกาศ และยังเคยเป็นถึงนางงามสามเวที คือนางงามสงกรานต์ รองนางสาวเชียงใหม่ และตามมาด้วยตำแหน่งนางสาวถิ่นไทยงาม

ทั้งคู่มีบุตร 3 คน คือ ภาสุรี ภาวิไล (เอื้อง) พระภาสกร ภูริวฑฺฒโน (ชื่อเดิม นิรันดร์ปัจจุบันบวชเป็นพระและเป็นผู้อำนวยการธรรมสถานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัดฝ่ายหิน) และ อรุณ ภาวิไล หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ “ซูโม่ตุ๋ย”

               ศ.ดร.ระวี ภาวิไล เข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนหุตะวณิช มัธยมศึกษาที่ สวนกุหลาบวิทยาลัย และเตรียมอุดมศึกษาจาก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

               เส้นชีวิตด้านหนึ่ง ศ.ดร.ระวี ภาวิไล มีมันสมองปราดเปรื่องฉายออกมาชัดเจนในทางวิทยาศาสตร์ โดยสำเร็จวิทยาศาสตรบัณฑิต (ฟิสิกส์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2484-2487 จากนั้นสำเร็จปริญญาโท (ฟิสิกส์) มหาวิทยาลัยแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย ปี 2492-2495 และ ปริญญาเอก (ดาราศาสตร์) มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย ปี 2504-2507

               และเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ตั้งแต่อายุเพียง 19 ปี โดยสอนอยู่ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2488 จนได้เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2529 ก่อนเกษียณอายุราชการในปีเดียวกัน

               อย่างไรก็ดี เขายังสนใจเรื่องดวงดาว โดยเป็นนักวิชาการด้าน “ดาราศาสตร์” ที่มีชื่อเสียง และเป็นบุคคลที่บุกเบิกการศึกษาด้านดาราศาสตร์รุ่นแรกๆ ของไทย มีตำราทางโลก และดาราศาสตร์มากมาย เช่น เรื่องโครงสร้างละเอียดของโครโมสเฟียร์, ดวงอาทิตย์, โครงสร้างอาณาจักรบริเวณกัมมันต์บนดวงอาทิตย์ ฯลฯ โดยหลายคนอาจรู้จักเขาดีในช่วงการมาเยือนของดาวหางฮัลเลย์ เมื่อต้นปี 2529

               นอกจากนี้ ยังเคยเป็นกรรมการบริหารโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ, นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย, สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ปี 2516) ทั้งยังสอนธรรมะและเป็นผู้อำนวยการธรรมสถานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขาเป็นผู้ริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2521 อีกด้วย

               แต่ในช่วงชีวิตอีกเส้นหนึ่ง ระวี ภาวิไล ยังมีใจรักในงานวรรณกรรม มีผลงานประพันธ์และงานแปลอีกมากมาย จนในปี 2549 ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ โดยเฉพาะกับงานแปลที่เรารู้จักกันดี คือ วรรณกรรมคลาสสิกเรื่อง “ปรัชญาชีวิต” (The Prophet) และ “ปีกหัก” THE BROKEN WING ของคาลิล ยิบราน หรือ “หิ่งห้อย” (Fireflies) ของ รพินทรนาถ ฐากูร

               คำกล่าวหนึ่งของเขา ที่น่าจะบ่งบอกตัวตนของตนเองได้เป็นอย่างดี ในบทความเรื่อง“โลกและชีวิต” (กรุงเทพธุรกิจช่วงปี 2550) ในขณะที่เวลานั้น ศ.ดร.ระวี ภาวิไล อยู่ในวัย 82 ที่ว่า

               “ผมถือว่าโลกเป็นชีวิต ไม่มีการแบ่งแยก แต่เป็นหนึ่งเดียว ดังนั้นผมจึงแสวงหาความรู้ความเข้าใจด้วยตนเองในทุกเรื่องที่สนใจ เท่าที่สติปัญญาและเวลาจะเอื้ออำนวย”

               “ผมเห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์ความรู้ความเข้าใจของทุกสาขาทุกแขนง ทุกชีวิต และโลกไม่มีการแบ่งแยก”

“เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นศาสนา ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ที่แท้ก็พูดเรื่องเดียวกันว่าเรามามีชีวิต มีทั้งจิตใจ มีทั้งร่างกายที่ศึกษาได้ด้วยวิทยาศาสตร์”

               ดังนั้น ชื่อ “ระวี” ที่มีความหมายว่า “พระอาทิตย์” คนนี้่ ก็ไม่ต่างจากชีวิตของเขาที่การศึกษาทั้งเรื่องของ การกำเนิดจักรวาล ดวงดาว มาจนถึง ปรัชญา ศาสนา ตลอดจนวรรณกรรม ฯลฯ นั่นก็เพราะศาสตร์ทุกแขนงบนโลกนี้ คือดาวเคราะห์ใหญ่น้อยที่รายล้อมเป็นบริวาร

               อย่างไรก็ดี หากถามถึงมุมมองทางด้านวรรณกรรม “ระวี ภาวิไล” ก็เป็นเหมือนเป็นสัญลักษณ์ปรัชญาของ ‘คาลิล ยิบราน’ เจ้าของวรรณกรรมคลาสสิก “ปรัชญาชีวิต” (The Prophet) ที่มีอิทธิพลต่อนักอ่านเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องชีวิตเป็นอันมาก 

               แต่ที่ใครจะรู้ว่างานแปลเล่มนี้เคยขายไม่ออก ในฉบับแปลและพิมพ์ครั้งแรกในปี 2504 ซึ่งกว่าจะขายได้ประมาณปี 2513

               “ในช่วงไม่กี่ปีคนก็เริ่มมีรสนิยม มีพัฒนาการ มีความเข้าใจอะไรขึ้นมา ถ้าไปทบทวนเปิดดู ‘ปรัชญาชีวิต’ ผมไม่ใช้คำอย่างเดิม คำอย่างเดิมเขาใช้คำว่า ‘The Prophet’ แปลว่า ‘ศาสดาพยากรณ์’ คนเขียนเขาเป็นศิลปินเขียนขึ้นมาโดยที่อายุยังไม่มาก โดยเฉพาะปรัชญาเกี่ยวกับความรัก คนชอบกันมาก”

               และน่าจะชอบมาก ด้วยอีกเหตุผลที่ว่า การถอดความของเขา มาจากการเข้าใจความรู้สึกและเจตนาของผู้เขียน เพราะแท้จริงก็คิดอย่างเดียวกัน

               "ความรักในแง่ของความรักหมายความถึงว่าเป็นผู้ให้ ไม่ใช่จะเอา ความรักไม่ครอบครอง และก็ไม่ถูกครอบครองด้วย ทั้งสองฝ่ายต้องเป็นอิสระ ถ้าเห็นแก่ตัวไม่ใช่ความรักแล้ว มันรักตัวเองมากกว่า”

               “...ชีวิต- เป็นสิ่งมหัศจรรย์ มีค่าควรรักษาทะนุถนอม...”

               “...เรามีครูคนแรกที่บ้าน คือ พ่อแม่ และยังจะมีครูอีกมากในชีวิต...”

               “...เพื่อน- เมื่อได้เพื่อนที่ดีแล้วก็ให้รู้จักรักษาไว้ มีน้ำใจ รัก และห่วงใยเพื่อน หากเพื่อนประมาทหันเหไปทางผิด ควรพร้อมจะทัดทาน และช่วยกั้นอันตราย...”

               เหล่านี้ ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า อีกวิญญาณของ คาลิล ยิบราน ปรากฏมาในร่างของ ศ.ดร.ระวี ภาวิไล

และยิ่งมีบทพิสูจน์ให้ชัดเข้าไปอีก เมื่อความเป็นพ่อถูกท้าทายให้ตัดสินใจ ขณะที่บุตรชายคนโตของเขา “ภาสกร” หรือชื่อเดิม “นิรันดร์” ตัดสินใจบวชตลอดชีวิต แต่ผู้พ่อก็มิเคยทัดทาน โดยผู้ลูกเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ ขณะครองผ้าเหลืองว่า

               “โยมพ่อโยมแม่ไม่ได้ทักท้วงอะไร อย่างที่คุณพ่อเคยเขียนเอาไว้ในปรัชญาชีวิตว่า ลูกมาทางเรา แต่ไม่ใช่ของของเรา เราเป็นผู้เหนี่ยวคันศร แต่หลังจากที่เขาออกจากคันศรไปแล้ว เขาจะไปตามเหตุปัจจัยของเขา”

               ถึงตรงนี้ หากถามว่า ยังมีอะไรในโลกนี้ ที่คนอย่าง ศ.ดร.ระวี ภาวิไล ยังไม่เคยเรียนรู้และสัมผัส พวกเราอาจตอบว่า “ไม่น่าจะมี”

               แต่ถ้าถามเจ้าตัว คงตอบอย่างเคยๆ ว่า “ผมยังไม่รู้อะไรอีกเยอะ!”….

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ