คอลัมนิสต์

เล็งแก้กฎหมาย กทม. ยกเลิก ส.ข.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อ สปท. เดินหน้าปฏิรูปประเทศ กทม. ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งขณธนี้มีแนวคิดยุบเลิก ส.ข. หรือ "สภาเขต" โดยให้เหตุผลว่า เอื้อกับการการเมือง

กับข้อเสนอของ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต่อประเด็นการปรับปรุงการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่ คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น เสนอให้แก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ

 

ล่าสุดนั้น “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.)" ตอบรับกับข้อเสนอและส่งร่างกฎหมายที่แก้ไขให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ “กรุงเทพมหานคร” ไปพิจารณาให้ความเห็นเพิ่มเติม

 

สำหรับข้อเสนอนั้นมีประเด็นที่น่าจับตา อยู่ 2 เรื่องใหญ่ คือ 1.กำหนดให้มี “คณะกรรมการยุทธศาสตร์แก้ปัญหาเมืองหลวงและปริมณฑล”  มี “นายกรัฐมนตรี” เป็นประธาน และ 2.ยกเลิก “สภาเขต”และใช้  “คณะกรรมการประชาคมเขต” จำนวน 20 คนต่อเขต มีที่มาจากการคัดเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ 10 คน, กลุ่มอาสามัครในพื้นที่ 6 คนและมาจากผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน ที่ผู้อำนวยการเขต คัดสรร 4 คน

 

โดยหน้าที่สำคัญ ของ คณะกรรมการยุทธศาตร์แก้ปัญหาเมืองหลวงและปริมณฑล ตามร่างกฎหมายระบุว่า ให้ความเห็นชอบต่อแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อป้องกันแก้ปัญหาเมืองหลวงและปริมณฑล และ เห็นชอบแผนปฏิบัติการตามที่กทม. จัดทำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สาระของเนื้อหา “พล.อ.นคร สุขประเสริฐ กมธ.ฯ ปกครองท้องถิ่น” ขยายความว่า จากปัญหาของเมืองหลวงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงบางปัญหา เช่น ปัญหาการระบายน้ำ แก้น้ำท่วมต้องประสานงานกับหลายจังหวัดรอบกทม. ดังนั้นเมื่อกำหนดให้ มีคณะกรรมการยุทธศาตร์ฯ เมืองหลวง โดย “นายกฯ” เป็นประธาน เชื่อว่าจะทำให้การแก้ปัญหาเมืองทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานของรัฐอื่นๆ รวมถึงการทำงานจะมีคุณภาพมากกว่าที่ผ่านมา

 

ดังนั้นองค์ประกอบของ “ซุปเปอร์บอร์ดแก้ปัญหาเมือง” จึงกำหนดให้ “นายกฯ” คุมทีม และมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ ร่วมกับ ผู้ว่าฯกทม. และปลัดกทม.

 

ส่วนประเด็น “ยกเลิก สภาเขต” และให้มี “คณะกรรมการประชาคมเขต” ที่มาจากตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ ที่กำหนดลักษณะว่าต้องเป็นกลุ่มตัวแทนอาชีพ-อาสาสมัคร-ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 20 คนต่อเขต แทนนั้น “พล.อ.นคร” เล่าถึงเจตนารมณ์ที่สำคัญ คือ จากกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 78 และ มาตรา 253 กำหนดบทบาทให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาประเทศ การจัดทำบริการสาธารณะ การตัดสินใจในกิจการที่มีผลกระทบต่อตนเองหรือชุมชม พร้อมเขียนล็อคให้อค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องจัดกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงาน ทำให้ต้องปรับ “พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฉบับปัจจุบัน” ให้สอดคล้อง

 

“เหตุผลสำคัญที่ต้องยกเลิก “สภาเขต” นั้น ด้วยเหตุผลคือ ผลงานของ สมาชิกสภาเขต หรือ ส.ข. ที่ผ่านมาคือ การเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง และใช้บทบาทเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเอง มากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือคุณภาพชีวิตที่ดีที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับ อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของฝ่ายการเมือง เช่น ทำหน้าที่เป็นหัวคะแนน หรือฐานพิทักษ์คะแนนเสียงให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น จึงขาดความเหมาะสมที่จะให้มีอยู่ต่อ อีกทั้งการมีอยู่ของ ส.ข. นั้นยังสร้างปัญหาต่องานบริหารระดับเขต เดิมในหลักปฏิบัติ ผู้อำนวยการเขต จะถูกกำกับโดย ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ถูกตรวจสอบโดยสมาชิกสภากรุงเทพฯ และ ส.ข. อีก ทำให้ขาดความเป็นอิสระในการทำงาน” พล.อ.นคร อธิบายเหตุผล

 

เมื่อตัด “สภาเขต” ออกแล้ว สิ่งที่ต้องมาสานต่อ โดยยึดการมีส่วนร่วมของประชาชน “พล.อ.นคร” บอกว่า กมธ.ฯปกครองท้องถิ่น ออกแบบให้ตัวแทนของภาคประชาชน” เข้ามาทดแทน และใช้ชื่อว่า “กรรมการประชาคมเขต” เพื่อหวังให้เป็นกลไกเชื่อมระหว่างภาคราชการ กับประชาชนในพื้นที่ และอาศัยที่มาลักษณะเดียวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือ เลือกกันเอง เพราะเชื่อว่าวิธีเลือกกันเองจากคนที่สมัครเข้าคัดเลือกจะทำให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติหลากหลายมาทำงาน เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของคนในพื้นที่ แม้วิธีนี้ จะถูกตั้งแง่เรื่องการฮั้วคะแนนเสียง หรือ ฝ่ายการเมืองส่งนอมินีเข้าสู่ระบบ แต่เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ระบบทำงาน ที่ประชาชนในพื้นที่คอยตรวจสอบ คงไม่ง่ายที่จะแสวงประโยชน์เข้าตัวเอง โดยสังคมไม่ได้ประโยชน์อะไรเหมือนที่ผ่านมา

  สำหรับที่มาของ “คณะกรรมการประชาคมเขต” ตามร่างกฎหมายระบุไว้ว่า ให้ ผู้อำนวยการเขต เป็นประธาน และมีกรรมการมาจากตัวแทนประชาชนที่มีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่ ซึ่งแบ่งสัดส่วนมาจากกลุ่มอาชีพ, กลุ่มอาสาสมัคร และ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน รวม 20 คน ให้มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี และห้ามเป็นเกิน 2วาระติดต่อกัน

 

------------

ประสานเสียงค้าน

 นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.  กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า แทนที่จะเปลี่ยนเป็นคณะกกรมการ เราไปเพิ่มอำนาจให้ตัว ส.ข. ดีกว่า เช่นให้มีอำนาจเห็นชอบ ในกรณีที่เขตจะเบิกงบที่ส่วนกลาง เหมือนเป็นสภาย่อย ซึ่งประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็มีลำดับขั้นการดูแลงาน สภาต่างๆก็มีหน้าที่ต่างกันไป เราเองก็กำลังทำให้เป็นแบบนั้น แต่กลับทำไม่สุด ส่วนที่ระบุว่า ส.ข. เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง นั้นต้องขอถามว่าคณะกรรมการประชาคมเขตเป็นตัวแทนของใคร เป็นนอมินีของผอ.เขต หรือไม่เพราะที่มาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เขาก็คำนึงผลประโยชน์ของคนที่แต่งตั้งเขาเข้าไปเป็นคณะกรรมการ แล้วถามว่าเขาจะกล้าเสนออะไรที่ขวาง ผอ.เขต หรือไม่

 

นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ยกเลิก เพราะของเดิมดีอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง และทำงานใกล้ชิดกับประชาชน อำนาจหน้าที่ของ สข. ก็เหมือนเป็นที่ปรึกษาของ ผอ.เขตเท่านั้นเอง ส่วนที่จะใช้สรรหาและแต่งตั้งจะยืนยันได้อย่างไรว่าบริสุทธิ ไม่เล่นพรรคพวก ตนสนับสนุนให้มี ส.ข. อยู่ต่อไป ถ้าไม่ดีจริงเขาคงไม่เลือกมา ขอเสนอว่าหากจะทำจริงก็อยากให้ประชาพิจารณ์เลย

 

นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา อดีตประธานสภากทม. และอดีตสก.เขตบางรัก กล่าวว่า ตามหลักการแล้วผู้แทนท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง อย่างน้อยต้องให้ประชาชนเป็นผู้คัดเลือกจะดีกว่า ประชาชนเขาตัดสินใจได้ ต้องให้ประชาชนเป็นผู้คัดสรร ซึ่งกรณีนี้จะเป็นเรื่องคนใช้ไม่ได้เปลี่ยน คนเปลี่ยนไม่ได้ใช้ จึงต้องสอบถามประชาชนด้วย อย่างน้อยต้องทำการสำรวจความเห็นของประชาชนในเรื่องนี้ว่าประชาชนชอบแบบไหน เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงแสดงความคิดเห็น ก็จะเป็นเรื่องที่ดี แต่หากมีคณะกรรมการประชาคมเขต จะเป็นคนของฝ่ายข้าราชการ คณะกรรมการประชาคมเขตจะลงพื้นที่หรือไม่ จะรับเรื่องจากประชาชนอย่างไร ถ้าเทียบจากผู้ที่มาจากการเลือกตั้งจะรับเรื่องได้จากประชาชนในทางตรง

 

นายอิทธิชัย ไพสินสมบูรณ์ อดีตส.ข.เขตดุสิต พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส.ข.เป็นตำแหน่งที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ถ้าตัดส.ข.ออกไป จะไปตัดช่องทางที่ประชาชนเข้ามาเรียกร้อง จากเดิมที่การดูแลประชาชนของสำนักงานเขตอาจจะไม่ทั่วถึง ส.ข.ทุกเขตกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว เมื่อเทียบกับผู้อำนวยการเขต กลับไม่ใช่คนพื้นที่ เพราะมีการแต่งตั้งโยกย้ายไปมา เมื่อได้รับการแต่งตั้งมาลงที่เขตนี้ ก็ไม่ทราบปัญหาของพื้นที่จริงๆ ไม่ทราบอัตลักษณ์ของพื้นที่ ไม่ทราบความเป็นอยู่ของคนในชุมชน

“พอผู้อำนวยการเขตไม่ทราบพื้นที่ ก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้ เมื่อต้องใช้เวลาเรียนรู้ ก็ทำให้ประชาชนเสียโอากาสในสิ่งที่จะได้รับประโยชน์ ขณะที่เรื่องตัวแทนของคณะกรรมการประชาคมเขต คนที่เป็นตัวแทนก็จะพัฒนาชุมชนตัวเองให้ได้ประโยชน์เป็นอันดับแรกๆ ผิดกับหน้าที่ของส.ข.ที่ต้องมองการพัฒนาพาพรวมทุกชุมชน”นายอิทธิชัย กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ