คอลัมนิสต์

ปากบารา : บนทางสองแพร่ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แนวทางพัฒนาของรัฐที่เน้นตัวเลขจีดีพี เน้นอุตสาหกรรม ผลปรากฏว่าก่อให้เกิดผลกระทบและเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำลายวิถีชุมชนเพิ่มเหลื่อมล้ำทางสังคม

ปากบารา

บนทางสองแพร่ง

    ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะเกิดขึ้นหรือไม่ คงจะถึงบทสรุปได้ไม่ยาก ถ้าหากมาตรฐานของการวัด “มูลค่า” กับ “คุณค่า” ไม่ใช่เรื่องที่มักเดินสวนทางกันอยู่เสมอ นั่นจึงเป็นคำตอบข้อสงสัยลำดับต้นๆ ที่ว่า เหตุใดโครงการคุ้นหูชาวบ้านโครงการนี้จึงเป็นได้แค่พิมพ์เขียวเก่าเก็บ ผลุบๆ โผล่ๆ

    ว่าด้วย “คุณค่า” ของท่าเรือปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ที่นี่คือท่าเรืออันเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางออกทะเลอันดามันของนักท่องเที่ยว ซึ่งมีหมุดหมายปลายทางเกาะตะรุเตา หมู่เกาะอาดังราวี หรือเกาะหลีเป๊ะ และลึกเข้ามาในผืนแผ่นดินที่แลนด์บริดจ์ หรือสะพานเศรษฐกิจ จะตัดผ่าน จะกลืนกินอาณาบริเวณเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ต.ปากน้ำ

    ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวคำนวณไว้ที่ประมาณปีละนับพันล้านบาท

ปากบารา : บนทางสองแพร่ง

    ถึงจะรู้สึกว่ามาก สำหรับตัวเลขที่ได้จากอาคันตุกะผู้มาเยือน หากแต่ย่อมจะเทียบกับ “มูลค่า” ที่จะได้รับจากการร่นระยะทางเดินเรือทะเลจากอันดามันไปอ่าวไทยโดยไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา

    ทางรถไฟขนส่งสินค้าระยะทาง 142 กิโลเมตร ที่จะตัดผ่านป่าเขาลำเนาไพรตามโครงการ คือแลนด์บริดจ์ที่จะเนรมิตรายได้ตามคาดการณ์ของกรมเจ้าท่า เจ้าของโครงการ คือผลประโยชน์ต่อปี จากรายได้จากสินค้าที่มาใช้ท่าเรือ 10,631 ล้านบาท ประหยัดค่าขนส่งสินค้า 9,375 ล้านบาท

     ประหยัดเวลา 5,708 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มที่ดิน 4,081 ล้านบาท และการจ้างแรงงาน 13,288 รวมเบ็ดเสร็จ 43,084 ล้าน

     หรือประมาณ 43 กว่าเท่าของรายได้จากการท่องเที่ยว!

     แต่มันคือตัวเลขของ “มูลค่า” ที่ไม่อาจเทียบได้กับ “คุณค่า” ที่อยู่ในหลักพันล้านบาท ที่แม้จะเป็นตัวเลขน้อยนิด แต่ก็ยังรักษาไว้ในสิ่งซึ่งฝ่ายคัดค้านโครงการเห็นว่า ไม่ควรจะต้องเสียไปในสิ่งที่ยากจะเรียกคืน

     ระหว่างทางของการดำเนินตามแผนงานของกรมเจ้าท่า จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยกระแสคลื่นต่อต้านสาดซัดเป็นระลอก

ปากบารา : บนทางสองแพร่ง

     “เวทีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล” ที่จัดขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม จึงเป็นเป้าหมายของกลุ่มเห็นต่างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่รวมพลังหยุดยั้งให้ได้

     “หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา ถามว่าพวกเราเกี่ยวอะไรด้วยและเกี่ยวอะไรมั้ย ท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะใช้หินที่จะมีการระเบิดภูเขา 8 ลูก เราในฐานะที่เป็นผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำเหมืองหินและการดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการนี้ จึงต้องการให้รัฐบาลหยุดการจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา” เอกชัย อิสระทะ จากสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ประกาศเจตนา

     ส่วน บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย บอกว่า แนวทางการพัฒนาของรัฐรูปแบบนี้ที่เน้นตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และการพัฒนาที่เน้นความเจริญด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในช่วง 5 ทศวรรษ ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลปรากฏชัดเจนว่า ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำลายวิถีชีวิตชุมชน ภาคการเกษตร และเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นอย่างมาก

     “บรรจง” เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการดำเนินการโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล โครงการท่าเรือน้ำลึก การให้สัมปทานแร่หินอุตสาหกรรมก่อสร้าง และให้รัฐบาลปฏิบัติตามกรอบ “ข้อตกลงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่ได้ร่วมลงนามกับ 189 ประเทศในการประชุมองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558

     โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำปากบาราในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อ.ละงู จ.สตูล กินอาณาบริเวณ 4,000 ไร่ เป็นหนึ่งในโครงการใหญ่เซาเทิร์นซีบอร์ด ทำนองเดียวกับอีสเทิร์นซีบอร์ด คือการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีท่าเทียบเรือและ “แลนด์บริดจ์” สะพานบนแผ่นดินที่จะเชื่อมสองฝั่งทะเลอันดามันกับอ่าวไทย และใช้การขนส่งโดยรถไฟเพื่อให้เรือขนส่งสินค้าไม่จำเป็นต้องอ้อมช่องแคบมะละกาอีกต่อไป

ปากบารา : บนทางสองแพร่ง

     โครงการแบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 นั้น รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2552 โดยมีผู้พัฒนาโครงการคือกรมเจ้าท่า และเข้าสู่กระบวนการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ