คอลัมนิสต์

“ส่องภารกิจ ยธ."ช่วยแพะ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภารกิจช่วย "แพะ" ของ ยธ.โดดเด่นขึ้นตามลำดับ ไม่เพียง"คดีครูจอมทรัพย์ " เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายคดี

 

          ส่องภารกิจช่วย “แพะ” หรือการให้ความช่วยเหลือผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในคดีอาญาของ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นงานปิดทองหลังพระที่ทำต่อเนื่องมา 7-8 ปี แม้จะถูกมองว่าไม่ใช่ผลงานเด่นดัง แต่ก็เป็นงานสร้างความสุขทางใจ โดยเริ่มต้นจาก “พีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค” ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ส่งสำนวนมาให้ตรวจสอบเพื่อให้การช่วยเหลือนางจารุพรรณ วุ่นสุวรรณ ซึ่งถูกจำคุกในคดีจ้างวานฆ่าสามี ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรื้อฟื้นคดี

           ต่อจากนั้นเป็น คดี “ปุ๊วอร์มอัพ” ดีเจในผับชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ต้องคดีฆ่าแฟนสาว ซึ่งมีหลักฐานกล้องวงจรปิดและดีเอ็นเอในการช่วยหักล้างพยานในชั้นสอบสวน จนกระทั่ง “ปุ๊วอร์มอัพ” ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ

           เมื่อช่วยสำเร็จ  คดีอื่นๆจึงตามมาแบบอัตโนมัติ ทั้งเข้าร้องเรียนที่สำนักงานรองปลัด ทุกวันจันทร์ของสัปดาห์, ร้องเรียนผ่านศูนย์บริการร่วม, ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ส่งผลให้มีคดีรอการตรวจสอบอยู่อีกจำนวนมากถึง 250 เรื่อง

        **วิธีทำงาน**

         ที่ผ่านมาการทำงานเดินหน้าไปแบบไม่มีทีมงาน ใช้ทีมงานหน้าห้องกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ลงไปสืบสวนสอบสวน  ต่อเมื่อ “ดุษฎี”ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลดีเอสไอและนิติวิทยาศาสตร์ จึงมีชุดทำงานมากขึ้น ในการดูแลประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและจัดการกับผู้มีอิทธิพล

       **ด่านแรกของผู้ที่เข้าร้องเรียนต้องพิสูจน์กันให้เชื่อใจก่อนว่า ไม่ได้โกหก**

        เริ่มต้นด้วยการสอบปากคำ จับโกหกด้วยประสบการณ์ของนักสอบสวน ใครผ่านด่านนี้จึงจะส่งเนื้อหาที่ได้จากการสอบสวนไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องจับเท็จ ประมวลคำถามที่วัดผลได้ทางวิทยาศาสตร์ จากนั้นจึงนำชุดคำถามมาสอบปากคำผ่านเครื่องจับเท็จ สรุปผู้ที่เรียกตัวเองว่า“แพะ” ต้องผ่านด่านเครื่องจับเท็จ ใครโกหกสอบตกตั้งแต่ด่านแรกๆ ก็ปิดแฟ้มได้เลย ทั้งนี้เพื่อคัดกรองให้มั่นใจว่าไม่ได้ช่วยคนผิด. 

         จากนั้น“ชุดเฉพาะกิจ”จะลงพื้นที่สืบสวนรวบรวมหลักฐาน หาพยานเพิ่มเติมหากยังเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา จะประสานงานกับสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ให้ช่วยตรวจพิสูจน์. หักล้างกันด้วยหลักฐานวิทยาศาสตร์ไม่ใช่พยานบุคคล. เช่น วิถีกระสุน ลายนิ้วมือแฝง หรือมุมยิง เพื่อหาคนร้ายตัวจริงมาดำเนินคดี และขอให้มีการตัดสินใหม่ ระหว่างนั้นจะใช้เงิน“กองทุนยุติธรรม”เป็นหลักทรัพย์ประกันตัว ในกรณีมีภาพถ่ายหรือภาพจากกล้องวงจรปิด จะให้ชุดเฉพาะกิจประสานไปยังบริษัทเอกชนใช้โปรแกรมดึงภาพใบหน้าขยายให้คมชัด.

         ในอนาคตมีโครงการประสานความร่วมมือกับทางการเดนมาร์ค ซึ่งมีโปรแกรมวิเคราะห์ภาพถ่าย ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการตรวจวิเคราะห์พยานหลักฐานจากหน่วยงานของรัฐ. ซึ่งรับฟังได้มีน้ำหนักมากกว่าหลักฐานที่ขอความร่วมมือเอกชนขยายความชัดเจนของภาพถ่าย ซึ่งในกรณีของการดึงภาพใบหน้าบุคคลจากภาพถ่ายมีประโยชน์มากต่อการสืบสอบสวน ยกตัวอย่างคดีวางระเบิดห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ที่มีการจับภาพผู้ต้องสงสัยได้ ต่อมาเมื่อส่งไปพิสูจน์ด้วยโปรแกรมขยายภาพใบหน้าบุคคลจึงพบว่าผู้ต้องสงสัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี หรือคดีแพะฟันคอย่านเพชรเกษม 81 ที่พ่อแม่ของแพะเข้าร้องขอความเป็นธรรมให้ลูกชายที่ถูกจับผิดตัว และถูกควบคุมตัวระหว่างการดำเนินคดี ชุดเฉพาะกิจได้ขอตรวจสอบหลักฐานจากกล้องวงจรปิดและนำมาพิสูจน์ใบหน้าจนพบความจริงว่าผู้ที่ถูกจับกุมไม่ใช่คนร้ายตัวจริง เพียงแต่สวมเสื้อสีเดียวกันกับคนร้ายแต่เป็นเสื้อแขนสั้นกับเสื้อแขนยาว

        “พัศกร สิงคิ”แพะรายแรกที่ศาลรับรื้อฟื้นคดี

          เริ่มต้นจาก นางเสนาะ สิงคิ ชาวบ้านบางระจัน จ.สิงห์บุรี เข้าร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือทางกฎหมายให้กับนายพัศกร สิงคิ บุตรชายพิการหูหนวกเป็นใบ้ ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นในงานบวช โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 20 ปี ขณะเข้าร้องขอความเป็นธรรม นายพัศกร ถูกจำคุกระหว่างการพิจารณาคดีนานถึง 5 ปี หลังได้รับเรื่องร้องทุกข์ พ.ต.อ.ดุษฎี สั่งการให้ ธิตินัย พาติกบุตร ลงพื้นที่สืบสวนข้อเท็จจริง จนพบคนร้ายตัวจริงซึ่งให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อคดีฆ่าคนตายต้องโทษจำคุก 12 ปี ในคดีนี้ได้นำเครื่องจับเท็จเข้ามาเป็นหลักในการสอบปากคำ พร้อมนำผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ผลการสอบสวนจากเครื่องจับเท็จขึ้นเบิกความเป็นพยาน จนกระทั่งศาลจังหวัดสิงห์บุรีรับไต่สวนรื้อฟื้นคดีอาญา ตามพ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 พร้อมกับให้ใช้เงินจากกองทุนยุติธรรมเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวนายพัศกรระหว่างฏีกาและขั้นตอนการรื้อฟื้นคดี “หนุ่มใบ้ พัศกร” จึงเป็นแพะรายแรกที่กระทรวงยุติธรรมช่วยค้นหาพยานหลักฐานใหม่ จนนำไปสู่การรื้อฟื้นคดีอาญา

        “จอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร” แพะรายที่ 2 ที่ศาลรับรื้อฟื้นคดี

     อดีตครูจาก จ.สกลนคร เข้าร้องขอความเป็นธรรมจากศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อขอให้ช่วยไกล่เกลี่ยหนี้ที่เกิดขึ้นหลังถูกออกจากราชการและต้องรับโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ในคดีขับรถชนคนตาย โดยคดีนี้มีจุดแตกต่างจากคดีแรก“พัศกร สิงคิ” ตรงที่คดีเป็นที่ยุติเด็ดขาด ครูจอมทรัพย์รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ขั้นตอนการต่อสู้คดีจึงไม่มุ่งไปที่การหาคนร้ายตัวจริงเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นประกันตัว แต่เน้นใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์ตัวถังรถ ชั้นสีรถ และสภาพแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ เพื่อพิสูจน์ว่ารถยนต์โตโยต้าหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร ของครูจอมทรัพย์ไม่มีร่องรอยเฉี่ยวชน หรือไม่เคยก่ออุบัติเหตุชนคนขี่จักรยานตาย ซึ่งในชั้นการรื้อฟื้นคดี โดยคดีนี้ยังต้องรอฟังการตัดสินของศาลว่า ครูจอมทรัพย์จะเป็นแพะหรือไม่ ซึ่ง “แพะ” ในที่นี้หมายถึงหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์จนสิ้นสงสัย ขาวสว่างโอโม่ ไม่ใช่ชนะแบบเทาๆ คลุมเครือจนต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

    ล่าสุด “กนกพรหม ขานฤทธี” กำลังจะเป็นแพะตัวที่ 3

  แพะตัวที่ 3 นี้ คือ “หนุ่มมอเตอร์ไซด์วิน”  ซอยวัดด่านสำโรง บางนา ดวงซวยที่ใบหน้าละม้ายกับผู้ต้องหาคดีชิงทรัพย์ทำร้ายเจ้าทรัพย์บาดเจ็บสาหัส ซึ่ง สมพงษ์ ขานฤทธี ลุงของ “กนกพรหม”เช่าซื้อรถจักรยานจากลิชซิ่งแต่ไม่มีเงินผ่อน รถถูกยึดขายเปลี่ยนมือถึง 3 ครั้ง แต่เป็นการโอนลอยไม่ได้เปลี่ยนชื่อผู้ครอบครอง สุดท้ายรถที่ใช้ก่อเหตุชิงทรัพย์ถูกคนร้ายขโมยไปใช้ก่อคดี สืบสาวราวเรื่องพยานให้การว่าคนร้ายเป็นคนหนุ่มวัยรุ่น ตรวจสอบช่วงอายุพร้อมรูปพรรณสัณฐานพบว่าใกล้เคียง กรรมจึงตกอยู่กับกนกพรหม ถูกตำรวจแจ้งข้อหาฟ้องศาลถูกตัดสินจำคุก 23 ปี สุดท้ายเมื่อชุดสืบสวนตรวจสอบหลักฐานอย่างละเอียดจึงพบว่ารถโอนขายเปลี่ยนมือไปแล้ว ผู้ครอบครองรถคนสุดท้ายแจ้งความว่ารถหาย พร้อมระบุตัวผู้ขโมย คือ นายนิกร หรือสิงค์ ไหมวงค์ มีประวัติต้องคดียาเสพติด ชิงทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์

       จากการเปิดห้องทำงานชั้น 8 กระทรวงยุติธรรม รับเรื่องราวร้องทุกข์ ขอความเป็นธรรม เป็นประจำในทุกๆวันจันทร์ของสัปดาห์ ล่าสุดจำนวนเรื่องที่ประชาชนเข้าร้องเรียนต่อพ.ต.อ.ดุษฎี มีทั้งสิ้น 250 เรื่อง ในจำนวนนี้ 80% ระบุในคำร้องว่าตกเป็นแพะในคดีอาญา ส่วนที่เหลือมีทั้งการร้องขอความเป็นธรรมในคดีอาญา การแจ้งเบาะแสข้อมูลในกรณีนายทุนบุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์, เจ้าหน้าที่รัฐทุจริต, นายทุนเงินกู้นอกระบบ และการร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับที่ดินทำกิน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ