คอลัมนิสต์

สงครามโซเชียลบนสมรภูมิ “ธรรมกาย”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคโซเชียล รูปแบบของการข่าวและโน้มนำยามเมื่อเกิดความขัดแย้งก็ย่อมอยู่บนโลกโซเชียลด้วยเช่นกัน ซึ่ง "ธรรมกาย" ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

เมื่อใดที่เกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝั่ง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อ เมื่อนั้นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการโน้มน้าวผู้สนับสนุน รวมถึงสร้างความชอบธรรมให้ฝั่งตนเองผ่านการชี้แจงสู่คนที่ยืนอยู่ตรงกลางและตอบโต้ข้อมูลฝั่งตรงข้าม ก็คือ “สงครามข้อมูลข่าวสาร” ซึ่งมาถึงยุคนี้ก็หนีไม่พ้นการเข้าสู่โลกของ “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” ที่ดูจะเป็นสื่อที่ทรงพลัง ทรงอิทธิพล และเข้าถึงผู้รับโดยตรงมากที่สุดเช่นกัน

 

เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับ “ธรรมกาย” ก็เช่นกัน

 

ต้องเข้าใจว่า จุดเด่นอย่างหนึ่งของ “วัดพระธรรมกาย” คือมีการจัดรูปแบบองค์กรที่ทันสมัยและวางรูปแบบการประชาสัมพันธ์ การใช้ข่าวสาร และการใช้โซเชียลมีเดียที่ช่ำชอง ไม่ใช่เฉพาะในช่วงนี้เท่านั้น แต่รวมถึงก่อนหน้านี้ที่จะเกิดเหตุการณ์

 

การประชาสัมพันธ์ของ “วัดพระธรรมกาย” มีผู้ดูแลคือ “สำนักสื่อสารองค์กร” ที่มี พระสนิทวงศ์ วุฒิวํโส เป็น ผอ.สำนักฯ

 

ก่อนหน้าจะมีเรื่อง พวกเขามีสถานีโทรทัศน์เป็นของตัวเอง ภายใต้ชื่อ DMC เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์ชนิดที่สถานีโทรทัศน์หลายช่องต้องมองค้อน อาทิ มีอุปกรณ์การถ่ายทอดสด และห้องสตูดิโอ กล้อง HD 1080p และกล้อง 4 K มีจำนวนมากกว่า 20 ตัว รถโมบายเคลื่อนที่เป็นของวัดเอง มีการส่งระบบการออกอากาศผ่านทางทีวีดาวเทียม

 

นอกจากนี้หากใครเคยเห็นอีเวนท์ของวัดพระธรรมกาย จะไม่สงสัยในศักยภาพของการผลิตสื่อ

 

สำหรับสื่อโซเชียลมีเดีย คนที่ใช้เฟซบุ๊กต่างก็เคยรู้จักชื่อ “นพดล สิริวํโส” ที่คอยแชร์คำคม คำสอน จนหลายคนสาธุ รัวๆ แม้จะไม่ใช่สาวกธรรมกายก็ตาม และการโพสต์คำคมก็มักสอดแทรกกิจกรรมของวัดพระธรรมกาย จนหลังๆ หลายคนเริ่มรับรู้ว่าแฟนเพจชื่อนี้มีที่มาอย่างไร

 

นอกจากนี้ยังมีเพจที่เป็นทางการของ พระสนิทวงศ์ วุฒิวํโส เอง รวมถึงเฟซบุ๊กส่วนตัวของ Phra Sanitwong Charoenrattawong

 

  หรืออย่างเพจ “เรารักพระธรรมกาย” ก็ทำหน้าที่โปรโมทคำสอนและกิจกรรมของวัด นอกจากนี้ยังมีแฟนเพจของกลุ่มสาวกของวัดจำนวนมากที่ทำขึ้นมา

 

     จนกระทั่งเข้าสู่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพจทั้งหมดก็ทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารจากทางฝั่ง “วัดพระธรรมกาย” โดยมีทั้งการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น วิเคราะห์เหตุผลที่มาที่ไป การชี้แจงสู่ต่างชาติด้วยหลากหลายภาษา ไม่ว่าจะเป็น ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และนี่เองก็มีเพจใหม่เกิดขึ้นในชื่อ “พิทักษ์หลวงพ่อด้วยชีวิต”

 

นอกจากนี้ที่ดูเหมือนจะเป็นอาวุธหลักของการใช้โซเชียลมีเดียของ “วัดพระธรรมกาย” คือ การถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กถึงปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เห็นว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

  รวมไปถึงสื่อที่หาต้นตอยากอย่างการแชร์ผ่านไลน์ ถึงชุดข้อมูล รูปภาพ ข้อความ และการระดมคน ซึ่งสื่อเหล่านี้ยากที่จะควบคุม

 

แน่นอนว่าข้อมูลที่แชร์มานี้ ไม่ได้มีแต่ข้อมูลด้านบวก เพราะมีข้อมูลด้านลบเช่น การแชร์หมายเลขโทรศัพท์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และภรรยา รวมถึงข้อมูลที่บิดเบือนหลายๆ ประการ

สงครามโซเชียลบนสมรภูมิ “ธรรมกาย”

    ช่วงต้นดูเหมือนเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยังมะงุมมะงาหรา ปล่อยให้ฝ่าย “วัดพระธรรมกาย” เล่นสงครามข่าวสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กเพียงฝ่ายเดียว ส่วนเจ้าหน้าที่เล่นผ่านสื่อหลัก โดยเผยแพร่ข้อมูลผ่านสำนักข่าวต่างๆ

 

  ส่วนข้อมูลทางโซเชียลมีเดียกลับเป็นเรื่องที่กองเชียร์นำเสนอกันเอง

 

   แต่ล่าสุดดูเหมืนอว่าทางดีเอสไอจะเริ่มนิ่งนอนใจไม่ได้และขยับตัว โดยชี้แจงผ่านแฟนเพจ “DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ” ทั้งการนำเสนอชุดข้อมูล รวมไปถึงชี้แจงการดำเนินการ ผ่านรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงอินโฟกราฟฟิก เช่น แนวปฏิบัติ และแน่นอนรวมไปถึงการตอบโต้ข่าวลือ

 

  นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์การปฏิบัติงานที่นอกเหนือจากการปิดล้อม เช่นการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่บริเวณดังกล่าวด้วย

 

  แน่นอนอาวุธหลักอย่างการไลฟ์ก็ถูกนำมาใช้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการแถลงข่าว การเจรจา หรือปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้เห็นว่าฝั่งเจ้าหน้าที่ทำถูกต้องตามกระบวนการ

 

  ส่วนการชี้แจงนั้นก็เริ่มมีการมีการทำเป็นเพลทชี้แจง ประกอบด้วยคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

 

   รวมถึงการใช้ไลน์ชี้แจง ซึ่งแน่นอนสำนักโฆษกย่อมต้องเผยแพร่ผ่านมาทางนักข่าว เพื่อหวังให้กระจายออกไป

 

    นอกจากการใช้แนวรบด้านโซเชียลมีเดียแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายตัวเองและทำลายความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม นั่นก็คือ การสร้าง “วาทกรรม” ซึ่งมีทั้งสองฝั่ง

 

   ฝั่งที่สนับสนุน “พระธัมมชโย” และ “วัดพระธรรมกาย” ก็มีการผลิตวาทกรรมอย่างต่อเนื่องเช่น “รังแกพระสงฆ์” “ทำลายพระพุทธศาสนา” “ทำเกินกว่าเหตุ”

หรืออย่างการแบนสื่อ 3 สำนัก ก็มี “วาทกรรม” จาก “พระสนิทวงศ์” ก็บอกว่า เป็นเพราะ “ห่วงสวัสดิภาพ”

 

   เช่นเดียวกับจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐก็มีคำตอบโต้ และ “วาทกรรม”  ที่สร้างความฮือฮาเช่นกัน  เช่น “ถ้าไม่ผิดแล้วหนีทำไม”

   วาทกรรมจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.  ที่พูดถึงพระธัมมชโยและพระในวัดพระธรรมกายก็น่าสนใจ โดยเฉพาะกับคำว่า “กล้าๆ หน่อย”  

 

   หรือแม้แต่ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาตอบโต้ด้วยวาทกรรมเมื่อสอบถามถึงกรณีที่มีข่าวว่าชาวธรรมกายกลัวว่าจะมีการขโมยพระทองคำ ซึ่งนายกฯ ก็สวนทันควันว่า "ขนาดสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นยังรั่วเลย"   สร้างความฮือฮาเรียกเสียงสูดปากจากผู้ที่ติดตาม

 

    การเดินหน้าปฏิบัติการณืจับกุมก็ยังคงดำเนินต่อไป การปิดล้อมตรวจค้นก็เป็นเรื่องของหน้างาน  แต่สงครามข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กและวาทกรรมของผู้ที่ไม่ได้อยู่หน้างานก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ