คอลัมนิสต์

เปิดขั้นตอนยึดทรัพย์ บุญทรงกับพวก-ขายข้าว “จีทูจี”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แผลงฤิทธิ์แล้ว" คดีขายข้าวจีทูจี" เมื่อบุญทรง กับพวก กำลังเผชิญศึกหนักกับการถูกบังคับคดียึดทรัพย์มาชดใช้ค่าเสียหายร่วม 2 หมื่นล้านบาท

 

      จากกรณีกรมบังคับคดีได้รับอำนาจจากหัวหน้า คสช. ในการบังคับคดีตามคำสั่งทางปกครองของกระทรวงพาณิชย์ที่ให้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวก รวม 6คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการเรียกค่าเสียหายจากนายบุญทรง 1,770 ล้านบาท นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ 2,300 ล้านบาท ส่วน พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์, นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ,นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ คนละ 4,000 ล้านบาท เพื่อชดใช้ค่าเสียหายจากการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี รวมมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท นั้น 

       ขณะนี้ได้เข้าสู่ขั้นตอนการบังคับคดีแล้ว เนื่องจากศาลปกครองกลาง ได้ยกคำร้องที่นายบุญทรงกับพวก ร้องขอให้ทุเลาการบังคับคดี 

      ขั้นตอนบังคับคดี “บุญทรงกับพวก”

      1. กรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งมีฐานะเป็นโจทก์หรือเจ้าหนี้ ส่งหนังสือแจ้งรายการทรัพย์สินที่ต้องการยึด-อายัด พร้อมสถานที่ของทรัพย์นั้น ต่อกรมบังคับคดี

      2. เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์ให้ตามที่กรมการค้าต่างประเทศแจ้งมา 

      3.กรณีการยึดอสังหาริมทรัพย์ ( ที่ดิน,บ้านพร้อมที่ดิน, อาคารชุด) เจ้าพนักงานบังคับคดี ก็จะแจ้งรายการทรัพย์สินที่ต้องการยึดไปยังเจ้าพนักงานที่ดินที่ทรัพย์นั้นตั้งอยู่ ขณะเดียวกันกรมบังคับคดีก็จะส่งหนังสือแจ้งให้นายบุญทรงกับพวก ส่งมอบเอกสารสิทธิ์เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ทำการยึดนั้นให้กับกรมบังคับคดี 

       4. กรณีการยึดสังหาริมทรัพย์ (รถยนต์ ,รถจักรยานยนต์, แอร์ ) เจ้าพนักงานบังคับคดี จะเดินทางไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศ เพื่อทำการยึดทรัพย์นั้น แล้วนำมาเก็บไว้ 

       5.กรณีการอายัดทรัพย์สิน ( เงินฝาก , หุ้น  )  ถ้าเป็นเงินฝาก กรมบังคับคดีก็จะทำหนังสือไปยังธนาคารที่นายบุญทรงกับพวก มีบัญชีเงินฝากอยู่ และให้ธนาคารส่งมอบเงินให้กับกรมบังคับคดี กรณีเป็นหุ้น กรมบังคับคดีก็จะมีหนังสือแจ้งไปยังนายทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ เพื่อส่งมอบใบหุ้นให้กับกรมบังคับคดี  

       6.กรมบังคับคดีรายงานเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ทำการยึด-อายัด ต่อศาลขออนุญาตขายทอดตลาด

       7.ศาลอนุญาต กรมบังคับคดีนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด

       ข้อปฏิบัติการบังคับคดี 

      -เจ้าพนักงานบังคับคดี ต้องดำเนินการบังคับคดีในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก(กลางวัน)

      -ในวันทำการปกติ (จันทร์-ศุกร์)

      -ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ต้องได้รับอนุญาตจากศาล จึงจะดำเนินการบังคับคดีนอกเวลาและวันทำการปกติได้

      อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดี

    -เข้าค้นสถานที่ซึ่งเป็นของลูกหนี้หรือลูกหนี้ครอบครองอยู่ เช่น บ้าน ที่อยู่อาศัย คลังสินค้า โรงงาน ร้านค้าขาย

    -ในกรณีมีผู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานบังคับคดี ร้องขอความช่วยเหลือจากตำรวจได้

เปิดขั้นตอนยึดทรัพย์ บุญทรงกับพวก-ขายข้าว “จีทูจี”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ